ฟอนต์ Calibri เป็นฟอนต์ที่ไมโครซอฟท์เริ่มนำมาใช้ใน Windows Vista และ Office 2007 ที่ออกในช่วงปี 2007 โดยมันกลายมาเป็นฟอนต์ดีฟอลต์ของโปรแกรมชุด Office แทนฟอนต์ Arial/Times New Roman ที่ใช้กันมาแสนนาน
ล่าสุดฟอนต์ Calibri กลายเป็นแกนกลางของการเมืองในปากีสถาน เพราะมีคดีของ Maryam Nawaz Sharif บุตรสาวของนายกรัฐมนตรี Nawaz Sharif แล้วมีคนจับได้ว่าเธอปลอมแปลงเอกสารที่ลงวันที่ในปี 2006 จากฟอนต์ Calibri ที่ออกในปี 2007
คดีนี้เริ่มจาก เอกสาร Panama Papers ที่เผยแพร่ออกมาในปี 2016 และแฉการเลี่ยงภาษีของนักการเมือง-นักธุรกิจทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงนายกรัฐมนตรี Nawaz Sharif และครอบครัวด้วย
พรรคฝ่ายค้านในปากีสถานจึงพยายามกดดันให้หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามาตรวจสอบ ส่งผลให้ Maryam Nawaz Sharif ที่มีชื่อในเอกสาร Panama Papers แสดงหลักฐานว่าการทำธุรกรรมของเธอถูกต้องตามกฎหมาย
2nd trust deed:I am a trustee & NOT the owner. Proof attached. #TheTruth pic.twitter.com/ATfonbEw8Y
— Maryam Nawaz Sharif (@MaryamNSharif) November 15, 2016
อย่างไรก็ตาม มีคนตาดีไปเห็นว่าเอกสารของเธอลงวันที่ปี 2006 แต่กลับใช้ฟอนต์ Calibri ของปี 2007
Oh. My. God. pic.twitter.com/LC5w13f9RX
— Zarrar Khuhro (@ZarrarKhuhro) July 10, 2017
หนังสือพิมพ์ Dawn ของปากีสถาน ติดต่อไปยัง Lucas de Groot เจ้าของบริษัท LucasFont ที่รับงานออกแบบฟอนต์ตัวนี้ให้ไมโครซอฟท์ เขาตอบกลับมาว่าสร้างฟอนต์นี้ขึ้นในปี 2002 และส่งไฟล์ให้ไมโครซอฟท์ในปี 2004 และตัวฟอนต์ถูกผนวกเข้ามาใน Windows Vista รุ่นเบต้าที่ออกมาก่อนปี 2007
ดังนั้นในทางทฤษฎี ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีคนไปขุดหาฟอนต์ในไฟล์ของ Vista รุ่นทดสอบมาใช้งาน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คงไม่มีใครสนใจฟอนต์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในตอนนั้น มาพิมพ์เอกสารสัญญาที่เป็นทางการ
Comments
คนที่แยกฟอนต์ได้ แถมยังช่างสังเกตุอีก สุดยอดเลยครับ
ก็เรื่องพวกนี้มันต้องละเอียดซักหน่อย
ขนาดหนังสือราชการ ถ้าพวกสมองนิดปลอมเอกสาร มองแว็บเดียวก็รู้แล้วว่าปลอมมา เช่น
- ราชการปกติใช้ TH Sarabun PSK หรือ TH Sarabun New ขนาด 16 (อาจเจอพวก Angsana New หรือบางคนปลอมแบบไม่รู้เรื่อง ใช้ Cordia New เลยก็มี)
- ใช้การกระจายแบบไทย ไม่ใช่แบบปกติ ท้ายบรรทัดไม่เท่ากัน ชิดบ้างห่างบ้าง ไม่สวย
- ต้องไม่มีคำผิดเลย (คำผิดเล็กน้อยผู้ใหญ่ที่เซ็นต์เขาไม่ลงลายเซ็นกันหรอก แก้ใหม่อย่างเดียว) ฯลฯ
เห็นด้วยครับว่าถ้าเคยทำเอกสารมาบ้างจะจับพวกนี้ได้ไม่ยากขนาดแค่เล่มจบ ป.ตรี ยังทำให้ผมชี้จุดผิดเล่มของคนอื่นได้แบบแทบจะทันทีที่มองครับ จากการโดนแก้เป็นสิบรอบ
เหมือนกันครับ
ทำรูปเล่มโครงการตอนอยู่ปวส.2 ก็แก้บ่อยมากจนชำนาญ อาจารย์ก็เลยให้มาช่วยตรวจเล่มแบบคร่าวๆ ของน้องปวช.3 หลังสอบปลายภาค
แก้เล่มกันตอนนั้นแบบทำในนาทีสุดท้ายก่อนพรีเซนผลงานให้อาจารย์ตรวจ เริ่มทำ 8 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น ตรวจ 5 โมงครึ่ง
ผมว่าคนที่แยกฟอนต์ได้น่าจะปกติ ผมน่าจะบกพร่อง ผมแทบจะแยกความต่างของฟอนต์ตระกูลเดียวกันไม่ออกเลยครับ
อย่างตระกูล Serif นี่ถ้าจับแยกมาวางเป็นตัวๆ เพื่อนผมหลายคนนี่เหมือนกับเห็นคนรู้จัก บอกรายละเอียดได้
ส่วนผม ...
ผมเคยเจอคนตรวจรับงานเป็น OCD ครับobject บนมุมจอบน กับ มุมจอล่าง อยู่เยื้องกัน 2px ยังมองเห็นเลยครับ
พี่สารบรรณที่ทำงานผมเอาไม้บรรทัดวัดครับ ถ้าไม่ตรงนี่ตีเส้นให้ดูเลย ถ้าโชคดีก็ส่งไฟล์ให้แกไปแก้ ถ้าโชคร้ายหน่อยก็กลับไปแก้เอง
อีกอันก็ขนาดฟอนต์ (แบบก้อปข้อความมาแปะแต่ขนาดต่างกัน 1 size) แต่อันนี้ผมก็ดูออกนะถ้าปริ้นท์ออกมาแล้ว
หัวหน้าผมแกแยกออกด้วยว่าใช้ Space bar หรือ tab ในการเว้นย่อหน้า - -"
การ Spacebar กัน Tab มันออกจากกันอย่างชัดเจน
ถ้า Spacebar ก็จะเจอแบบเยื้องเข้าบ้าง เยื้องห่างบ้าง ไม่เท่ากัน
กับ Tab จะเยื้องกันตรง ชัดเจน Tab หนึ่งก็ประมาณครึ่งนิ้วละมั้ง
ในโลกของโปรแกรมเมอร์ เราใช้ฟอนต์ fixed width ครับ
แต่การทำเอกสารส่วนใหญ่เจอ font แบบอื่นน่ะสิครับ
555 ใช้ heredoc ทำครับ
บุตร = ลูกชาย, ธิดา = ลูกสาวบุตรสาว = ?
แค่สงสัยเรื่องความหมายของคำครับ
บุตรแปลว่าลูกเฉยๆไม่ใช่เหรอครับ
อย่างเช่น นางจันทรามีบุตรสองคนเขาก็ไม่ได้หมายความว่ามีลูกชายสองคนสักหน่อย
ซึ่งถ้าคุณจะหมายถึง บุตรธิดา ล่ะก็
มันเป็นคำเดียวกันครับไม่ได้ตีความแยก มันหมายถึง ลูก(ทั้งชายและหญิง) เป็นคำพูดรวมๆครับ เหมือน children
ส่วนบุตรเป็น child
แล้ว บุตร กับ บุตรี ล่ะครับ ?
บุตร - ลูกบุตรี - ลูกสาว
ไม่ใช่เหรอครับหรือผมพลาดอะไรไป?
บุตร แปลว่า ลูก หรือลูกชายก็ได้ครับ จึงไม่ค่อยเห็นใช้คำว่า "บุตร" เฉยๆ กับลูกสาว มักจะใช้บุตรสาว หรือ บุตรีแทน, ผมว่าอารมณ์คงคล้ายๆ คำว่า man/men อะ คือ จะผู้ชายก็ได้ หรือเรียกรวมๆ เป็นคน ไม่ระบุเพศก็ได้ แต่ถ้าเอาไปเรียกผู้หญิงเดี่ยวๆ มันก็ดูแปลกๆ
iPAtS
ถ้าตาม dict มันก็ใช่อยู่หรอกครับ แต่ในความเป็นจริงผมไม่เคยเห็นใครใช้คำว่า บุตร แทนลูกชายนะครับอีกอย่างถ้าเขียนว่า บุตร คนก็เข้าใจว่าเป็นลูกสาวได้เหมือนกัน เพราะมันแปลว่า "ลูก" ดังนั้นคำแปลว่า ลูกชายนี่จะถือว่าตัดทิ้งไปได้เลยรึเปล่าครับ?
ดปรดนำบุตร/ธิดาของท่านเจ้ารับวัคซีน
ผมเจอบ่อยมาก แต่จำไม่ได้ว่าที่ไหน
ผมเข้าใจที่คุณจะสื่อแต่ผมว่าในสถานบริการทางการแพทย์น่าจะใช้คำว่า บุตรหลาน เพราะครอบคลุมมากกว่านะครับ
บุตร+ธิดา ตีความได้ว่าบุตร เป็นลูกชาย เพราะมันมีคำบ่งเพศอยู่ที่ธิดาครับแต่ถ้ามันอยู่โดดๆ โดยไม่มีคำอื่นบ่งบอกเพศมันโคตรคลุมเครือเลยครับ
ยกตัวอย่างคำพูดแบบนิยาย
บุตรีแห่งซุส <- ผมอ่านแล้วบอกได้เลยว่านิยายกำลังจะพูดถึงลูกสาว
บุตรแห่งซุส <- ไม่แน่ใจว่าพูดถึงลูกชายหรือสาว ต้องไปอ่านเนื้อหาอีกที
ผมไม่ได้โต้เถียงใดๆ ครับ แค่ที่คุณบอกว่าไม่เคยเห็นมีใครใช้ ผมเลยยกตัวอย่างมาเฉยๆ
ครับผมเข้าใจครับ
man นี่ผมนึกถึงมุกคลาสสิคของ Lord of The Ring เลย
นาซกูล : No man can kill meเอโอวีน : (ปักดาบ)... I am no man
ส่วนตัวดูบริบทประกอบนะครับ ถ้าบุตรเฉยๆให้ตีความเพศจะกำกวม แต่ถ้าให้ตีความจริงๆ ก็เข้าใจว่าเป็นลูกผู้ชายนะครับ แต่ทั้งนี้สำหรับงานตีพิมพ์เป็นวงกว้างเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ควรขยายความใส่ไปเลย เพื่อตัดปัญหาไม่ต้องมาตีความกันอีก
บุตร ใช้ได้ทั้งลูกชายและลูกสาว แต่ถ้าต้องการเจาะจงเพศชายอาจใช้ว่า บุตรชาย. ถ้าต้องการเจาะจงเพศหญิง อาจใช้ว่า บุตรี หรือ บุตรสาว
อ้างอิงจาก ราชบัณฑิตยสภา