บริการแชร์จักรยานเป็นหนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยนอกจาก oBike ที่ประกาศให้บริการ ณ สถาบัน AIT (อ่านรีวิวทดลองใช้ oBike ที่สิงคโปร์ได้ ที่นี่ ) ก็มีบริการของ Mobike ที่ มีความร่วมมือกับ AIS และ เปิดให้บริการจริงเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ผู้เขียนมีโอกาสทดลองใช้เป็นเวลาสั้นๆ จึงขอถ่ายทอดประสบการณ์การทดลองใช้ให้ฟังครับ
การลงทะเบียน
Mobike มีแอพเป็นของตนเอง วิธีการลงทะเบียนนั้นแตกต่างจากการลงทะเบียนบริการ sharing ทั่วไปเล็กน้อย คือใช้เบอร์โทรศัพท์เป็นการยืนยันตัวตนเลย ไม่ต้องสมัครแอคเคานต์ของทาง Mobike
ก่อนใช้งานครั้งแรกจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำ 99 บาท ซึ่งสามารถขอคืนเงินได้ (ผู้เขียนยังไม่ได้ทดลองขอคืนเงิน จึงไม่ทราบว่ากระบวนการนี้ใช้เวลานานแค่ไหน)
การปลดล็อกจักรยาน
การปลดล็อกจักรยาน Mobike เหมือนกับบริการจักรยานทั่วไป คือหาจักรยานที่จอดอยู่ (มีจุดให้บริการหลังคณะที่ผู้เขียนเรียนอยู่พอดี) แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดบนแฮนด์จักรยาน
กระบวนการปลดล็อกใช้เวลาไม่นานมากนัก เมื่อปลดล็อกเสร็จแล้วจะมีเสียงแจ้งเตือนจากตัวจักรยาน และล็อกที่ติดตั้งไว้จะถูกปลดล็อกออกมาเอง
การปั่น
จักรยานของ Mobike ประกอบมาแข็งแรงมาก มีการใช้เหล็กเชื่อมประกอบเพื่อปิดจุดที่บอบบางของจักรยาน (เช่นสายเบรก) ตัวจักรยานมีตะกร้าและกริ่งแบบหมุนติดมาให้
ข้อเสียหลักน่าจะเป็นการที่จักรยานไม่มีโช้ค และตะกร้าเตี้ยไปเล็กน้อย (ผู้เขียนไม่สามารถวางกระเป๋าของผู้เขียนได้โดยไม่กลัวล้ม จำเป็นต้องสะพายตลอดการปั่น)
โดยรวมแล้วจักรยานของ Mobike นั้นเหมาะสมในการปั่นในมหาวิทยาลัย
การคืนจักรยาน
กระบวนการคืนจักรยานไม่มีอะไรมาก เพียงจอดจักรยานและล็อกให้เข้าที่ ระบบจะหยุดการนับเวลาเอง
ผู้เขียนเข้าใจว่าตัวจักรยานสามารถจอดไว้ที่ไหนก็ได้ในจุดจอดจักรยานของมหาวิทยาลัย เพราะพบจักรยาน 3-4 คันจอดอยู่จุดอื่นที่ไม่ใช่จุดให้บริการของทาง Mobike แต่อย่างน้อยการคืนจักรยานก็ไม่จำเป็นต้องคืนที่จุดเดิมกับจุดยืม เมื่อเทียบกับบริการให้ยืมจักรยานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งบังคับคืนจักรยานที่จุดยืม ก็ย่อมนับได้ว่า Mobike มีความยืดหยุ่นกว่ามาก
ระหว่างปั่นผู้เขียนพบรถขนจักรยานไปกระจายตามจุดให้บริการของ Mobike นั่นหมายความว่าผู้ใช้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีจักรยานอยู่ที่จุดจอดตลอดเวลา
หลังคืนจักรยาน ตัวแอพจะบันทึกสถิติการปั่น พร้อมคำนวณแคลอรี่และ CO2 Emission ที่ประหยัดไปได้จากการปั่นจักรยาน ที่น่าตลกคือผู้เขียนพบหน้า 404 ขึ้นมาบนแอพหลังจากคืนจักรยานเรียบร้อยแล้ว
ระบบจิตพิสัย
Mobike มีระบบจิตพิสัยซึ่งผู้ใช้ใหม่จะได้รับคะแนนจิตพิสัยคนละ 100 แต้ม และจะถูกหักแต้มต่างกันไปในแต่ละกรณี
ข้อสังเกตคือหน้าคู่มือของ Mobike ให้รายละเอียดของราคาค่าบริการเมื่อจิตพิสัยต่ำกว่าที่กำหนด แต่เป็นค่าบริการของประเทศสิงคโปร์ (อยู่ในหน่วย SGD) ผู้เขียนเข้าใจว่ายังปรับในส่วนนี้ไม่ทัน
สรุป
การทดลองให้บริการของ Mobike ถือว่าเป็นการให้บริการแชร์จักรยานรายแรกๆ ของประเทศไทย ซึ่งคุณภาพการบริการถือว่าอยู่ในระดับดี แม้ตัวแอพจะมีข้อผิดพลาดบ้างเล็กน้อย แต่ทำหน้าที่หลัก (คือล็อกและปลดล็อกจักรยาน) ได้อย่างดี
ข้อสังเกตเดียวของผู้เขียนคือราคาการให้บริการ ราคาการเช่าจักรยานของ Mobike อยู่ที่ 10 บาทต่อครึ่งชั่วโมง เมื่อเทียบกับราคาจักรยานยนต์รับจ้างในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งไม่ต่างกันมากนัก (ค่าบริการไปคณะของผู้เขียนอยู่ที่ 13 บาท) อาจทำให้รู้สึกว่าราคาค่อนข้างแพง ถึงอย่างไรก็ตามการให้บริการจักรยานก็ยังตอบโจทย์อื่นได้อยู่ เช่นการปั่นออกกำลังกาย
ที่สำคัญ หากมองจากมุมมองธุรกิจ การทดลองให้บริการในครั้งนี้อาจนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาคธุรกิจจะสามารถจับโมเดลทางธุรกิจ เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการต่อไป ถึงจุดนั้นเราอาจพบการขยายตัวของธุรกิจนี้ไปยังมหาวิทยาลัยอื่น หรือพื้นที่อื่นต่อไป
Comments
คำนวน => คำนวณ
ขอบคุณครับ
Blog | Twitter
จักรยานรุ่นนี้มีบังโคลนหน้า-หลังไหมครับ?
มองรูปไม่ค่อยชัดเท่าไร
แต่ถ้าไม่มีหน้าฝนน่าจะลำบาก
จากในรูปมีทั้งหน้าหลังครับ
ทีนี้จะเกิดไม่เกิดก็ต้องมาลุ้นกันล่ะว่าโจรไทยจะทำอะไรได้บ้าง
ไม่ต้องห่วงครับ อีกหน่อยมากันทั้ง 3 เจ้า จักรยานเต็มบ้านเต็มเมืองจนโจรไม่อยากจะเสียเวลามองเลยล่ะครับ
ที่ภูเก็ตมีทั้ง ofo และ oBike เลยผมชอบ ofo มากกว่า obike ปั่นแล้วรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าแต่เบาะนุ่มกว่า ofo
เห็นด้วยครับ obike ปั่นเหนื่อยกว่า