ปัญหาคนว่างงานในกลุ่มที่จบปริญญาตรีใหม่ มีให้ได้ยินบ่อยครั้ง ที่น่ากังวลคือมีจำนวนคนว่างงานมากขึ้นทุกปี สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยตัวเลขบัณฑิตจบใหม่ในปี 2017 มีอัตราว่างงานประมาณ 160,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีประมาณ 103,000 คน
หลักสูตรการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับเนื้องานในตลาดแรงงานเป็นสาเหตุสำคัญ จุดอ่อนของการศึกษาไทยคือปรับตัวไม่ทันต่อความต้องการตลาดแรงงานที่ถูกกดดันให้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล แต่การศึกษาแบบเดิมๆยังผลิตคนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคเก่า ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยน เทคโนโลยีขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่และสายงานใหม่ๆ มากมาย
ตัวอย่างอาชีพไอทีที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจากเว็บไซต์ Career Cast ของสหรัฐฯ คือ
- Computer Systems Analyst นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในอาชีพรายได้สูง และจะมีความต้องการในตลาดงานมากในระยะยาวไปจนถึงปี 2024
- Online Sales Manager เนื่องจากอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ คนที่จบสายงานนี้มาหรือทำอาชีพนี้อยู่แล้วมีความเป็นไปได้สูงว่ารายได้จะโตขึ้น ปัจจุบันเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 117,960 ดอลลาร์ ถือว่าสูงขึ้นหมายเท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อนอยู่ที่ 88,000 ดอลลาร์
- Security Analyst ผู้ดูแลความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ปัจจุบันธุรกิจการค้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านสุขภาพมีการดำเนินการผ่านออนไลน์มากขึ้น นำมาซึ่งปริมาณข้อมูลมหาศาล นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการโจมตีและโจรกรรมข้อมูล อาชีพดูแลความปลอดภัยข้อมูลจึงกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดไอที
- Operations Research Analyst นักวิเคราะห์การดำเนินงานเป็นอีกหนึ่งอาชีพใหม่ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ตลาดเปลี่ยนแปลง โดยเว็บไซต์ Career Cast คาดว่าสายอาชีพนี้จะโต 30% ภายปี 2024
ภาพจาก Pexels
การที่จะสามารถผลิตคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงได้ ภาคการศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เริ่มจากศึกษาตลาดงาน ทิศทางการเติบโต ลงทุนอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัยและทั่วถึง สื่อการสอนและอุปกรณ์ที่ทันสมัยคือพื้นฐานอันดับต้นๆ ของการศึกษา เพราะโลกอุตสาหกรรมพึ่งพาเทคโนโลยีในระดับสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันการศึกษาไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องสื่อการสอนมาตลอด
ภาคการศึกษายังต้องปรับหลักสูตรที่รองรับสายงานเกิดใหม่ให้ทัน โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการจากภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริงในการปรับปรุงหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมนอกหลักสูตรการศึกษา แข่งขันนวัตกรรมใหม่ด้วยการใช้สื่อดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต
ตลาดแรงงานยุคใหม่ soft skill สำคัญไม่น้อยไปกว่า hard skill
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) พบว่าบัณฑิตที่จบมาได้งานทำน้อย เพราะนักศึกษาก่อนเป็นบัณฑิตยังไม่ค้นพบตนเองว่าอยากทำอาชีพอะไร และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน
นอกจากนี้ ความต้องการในตลาดแรงงานเน้นทักษะด้าน soft skill ไม่น้อยไปกว่าทักษะในสายงาน (hard skill) ตัวอย่างทักษะ soft skill ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, การเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ, การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ, การทำงานเป็นทีม และที่สำคํญคือ มีความคิดสร้างสรรค์
ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุทักษะอื่นที่จำเป็นนอกเหนือจากทักษะในสายงาน ที่บุคลากรควรมีในปี 2020 คือ
- การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving)
- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
- การบริหารจัดการคน (Management)
- การประสานงาน (Coordinating with Others)
- ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)
- การตัดสินใจ (Judgement and Decision Making)
- ความคิดเชิงการให้บริการ (Service Orientation)
- การต่อรอง (Negotiation)
- ความยืดหยุ่นในการปรับกระบวนการคิดให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ (Cognitive Flexibility)
ภาพจาก Stocksnap.io
ระบบการศึกษาไทยยังผลิตคนได้ไม่ตอบโจทย์ทักษะด้าน soft skill มากพอ เพราะการสอนของไทยยังเป็นลักษณะป้อนข้อมูลสู่นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะ soft skill มากนัก
ภาคการศึกษาสามารถปรับนโยบายเพื่อให้เกิด soft skill ที่สอดคล้องต่อตลาดงานได้ เช่น เน้นการสอนใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ 100%, ต้องทำให้ผู้เรียนกล้าใช้ภาษาต่างประเทศ, เปลี่ยนจากการ lecture method มาเป็น discussion method และมีระบบที่ทำให้นักศึกษาค้นพบเป้าหมายของตนเอง
ภาคการศึกษาควรร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์
เพื่อผลิตบุคลากรให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ภาคการศึกษาไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง และจำเป็นต้องร่วมมือภาคเอกชน ปรับหลักสูตรให้ทันสมัยตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม เช่น เปิดหลักสูตรใหม่โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจากสายงานนั้นๆ มาร่วมเป็นผู้สอน ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Cooperative and Work-Integrated Education: CWIE
หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า สหกิจศึกษา คือโครงการที่เปิดโอกาสให้สถานประกอบการทั้งภาคเอกชน และภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ให้นักศึกษามาลองทำงานจริง ทำให้เกิดการจ้างงานง่ายขึ้น ลดปัญหาการปรับตัวในการทำงานเมื่อจบและได้ทำงานจริง
ภาพจาก Pexels
นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อม สร้างแบรนด์ให้ตัวเองก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ในฝั่งของนักศึกษาก็สามารถสร้างแบรนด์ให้ตัวเองได้ คำว่า "สร้างแบรนด์" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทำธุรกิจของตัวเอง แต่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์จากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มความโดดเด่นและความน่าสนใจในใบสมัคร เพิ่มโอกาสให้บริษัทที่ไปสมัครงานพิจารณาได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
วิธีการสร้างแบรนด์สำหรับนักศึกษาจบใหม่ เช่น
- ความรู้ด้านภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 สามารถฟัง พูด อ่าน เขียน และนำเสนองานได้
- ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน รวมทั้งมีความรู้ด้านโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ
- มีประสบการณ์ฝึกงานตามสายงานที่อยากทำ
- มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้โซเชียลมีเดีย
- มีความรู้รอบตัวที่ดี เช่น ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมที่ตนสนใจจะเข้าไปสมัครงาน
- มีบุคลิกภาพดี ใฝ่รู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
เมื่อภาคการศึกษามีหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในตลาด มีอุปกรณ์และระบบที่เอื้อต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ให้นักศึกษาได้เรียนและได้ลงมือปฏิบัติงาน และฝึกงานในวงการวิชาชีพจริง สามารถนำไปต่อยอดวิชาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดได้จริง ส่งผลให้นักศึกษามีความคล่องตัว สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน และปัญหาขาดแรงงานในตลาดได้
วันนี้สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย จะนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว มหาวิทยาลัยเป็นด่านสุดท้ายก่อนที่นักศึกษาจะเข้าสู่โลกการทำงาน ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นทุกวัน บัณฑิตใหม่ตกงานมากขึ้นเพราะความรู้ที่ได้ไม่ตรงกับโลกที่เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้เร็ว เพื่อพัฒนาบุคลากรที่ตอบโจทย์โลกในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก
- คุณธีรศักดิ์ สงวนมานะศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายมหาวิทยาลัยสัมพันธ์และสรรหาว่าจ้าง ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด
- คุณอันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
Comments
เอาจริงขนาดจุฬา(มหาลัยอื่นก็คงไม่ต่างกัน) หลักสูตรยังไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานเลย
หลักสูตรเหมือนผลิตคนไปเป็นนักวิจัยซะมากกว่า
นิสิตต้องออกไปดิ้นรนหาความรู้จากข้างนอกเพื่อให้ตรงกับตลาดแรงงานแทน
บางทีก็แอบคิดว่า ไม่ต้องมาเสียเงินเรียนป.ตรีก็ได้มั้ง เรียนกับ google เอาก็ได้แต่ก็ทำไม่ได้เพราะดันมีปัจจัยเรื่องสังคมเข้ามาเกี่ยวอีก 555
ถ้าจะสอนตามกระแสโลกคงต้องเปลี่ยนหลักสูตรกันทุกเดือน
การเปลี่ยนหลักสูตรในระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย
มหาลัยสอนให้มีปัญญา Wisdom ไม่ใช่จำแต่ความรู้ Knowledge
อีกอย่าง โลกไม่ได้หมุนรอบรั้วจุฬาขนาดนั้นมั้งครับ
พอที่จะเอาเป็นบรรทัดฐานว่า มหาลัยอื่นก็ไม่ต่างกัน...
ผมไม่รู้ว่าที่จุฬาหลักสูตรเป็นยังไงนะครับ แต่ที่วิศวกรรมซอฟท์แวร์และความรู้ ม.เกษตร เรียนจบออกมาเป็น developer พร้อมใช้งานได้ทันทีครับ เปรียบเทียบได้กับโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การเรียนการสอนที่นี่จะปลายเปิดครับ ทุกเทอมมีโปรเจคทำและไม่ได้บังคับว่าจะต้องใช้ภาษาไหนในการเขียนโปรแกรม
อันนั้นดูจากเป็นฮาร์ดสกิลนะครับ แต่ตามข่าวแล้วมหา'ลัยได้ขาดซอฟท์สกิล มจธ.ดูแล้วก็พยามปรับตัวแต่นศ.ก็มาจากม.ปลาย ม. ต้นที่สอนกันแต่ฮาร์ดสกิลมาอาจจะต้องแก้ที่ต้นน้ำ
ปล. ประถม มัธยม วิชาประวัติศาสตร์หนังสือประวัติศาสตร์มั่วๆ สอนกันมึนๆแล้วสั่งให้เด็กจำอยู่เลย....
วิชาซอร์ฟสกิลนี่ทั้งสอนและเรียนยากครับ
มันไม่พร้อมมานานแล้ว
ส่วนนึงผมว่า ตลาดมันเปลี่ยนเร็วด้วยแหละ
โจทย์ตลาดคือเด็กจบออกไปต้องรู้ทั้งทฤษฎี+ปฏิบัติ
พร้อมทำงานทันที
ซึ่งส่วนทฤษฎีไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะหลักๆก็พื้นฐาน+ที่ advanceก็เปลี่ยนแปลงน้อย
แต่ส่วนปฏิบัติ จะต้องรู้ ทฤษฎีพื้นฐาน/advance+apply ในงานนั้นๆ
ซึ่งตลาดมันเปลี่ยนเร็วไป
มหาลัยจะเปิดหลักสูตรก็ต้องรอตลาดบูมก่อน
คนถึงอยากเรียน ถึงค่อยเปิด
แต่กว่าจะเรียนจบ ตลาดก็วายแล้ว... วนไป
ตัวอย่างเช่น 4 ปีก่อน ใครจะรู้ว่าสายAI,BigData จะมา?
ถ้าเปิด สายAI,BigData ตอนนี้ แล้วอีก 4 ปีข้างหน้าจะยังบูมอยู่มั๊ย?
สาย it มันก็ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่แล้วนิครับ
จบมาก็ต้องดิ้นเพื่อให้ตัวเองเก่งกันทุกคนแหล่ะส่วน คนไหนจบมาเขียนโปรแกรมไม่เป็น อันนี้มหาวิทยาลัยปล่อยให้จบได้ยังไง ตอนนี้เยอะมาก
ถ้าคิดแข็งๆเลยคือ ใครเขียนโปรแกรมไม่เป็นไม่ให้จบ ผมว่าแก้ปัญหาได้เยอะเลยนะ (เขียนเป็นนี้ไม่ใช่เป็นนกแก้วนกขุนทองเขียนเป็นครับ ต้องเข้าใจจริงๆ)
อัลกอริทึม - ตรรกะ - ทักษะการแก้ปัญหา
ในคลาสๆนึง ที่จบมา จะมีที่พอใช้ได้น้อยนะครับส่วนใหญ่ขาดตรงนี้ ก็จะอยู่ในวงการลำบากทั้งตัวเองละผู้จ้าง
ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรเน้นเรื่องภาคปฎิบัติมากนักแฮะ ควรจะอัดทฤษฎีเยอะ ๆ เป็นพื้นฐานให้ นศ. เอาไปศึกษาด้านปฎิบัติเอง
หรือไม่ก็ สอนภาคปฎิบัติกันในระดับวิทยาลัยวิชาชีพ (ปวช-ปวส) แล้วค่อยมาต่อยอดภาคทฤษฎีในมหาลัยอีกที
ผมเชื่อว่างาน IT เอาคนที่จบ ปวช. มาก็ทำได้ ถ้าสอนมาดีนะ