โรคซึมเศร้า ทำความเข้าใจตัวโรคและวิธีรับมือ
โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย ภาวะนี้ไม่ใช่เพียงความเศร้าตามปกติที่ทุกคนเคยพบเจอ แต่เป็นภาวะที่ซับซ้อนกว่านั้น
คนส่วนมากยังเข้าใจผิดและมองข้ามความรุนแรงของ โรคซึมเศร้า ในบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าถึงสาเหตุ อาการ แนวทางการรักษา รวมถึงวิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ โดยสาเหตุของโรคซึมเศร้ามีโอกาสเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองเช่น เซโรโทนิน นอร์อะดรีนาลีน และโดปามีน
- พันธุกรรมและประวัติครอบครัว
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด
- ประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายเช่น การสูญเสีย ความรุนแรง หรือการถูกทำร้าย
- โรคเรื้อรังบางชนิดเช่น โรคหัวใจ มะเร็ง หรือไทรอยด์
- การใช้สารเสพติดบางชนิด
- สภาพแวดล้อมที่กดดันเช่น ปัญหาการเงิน การงาน หรือความสัมพันธ์
ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้า
ในแต่ละปีมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่ เพราะอาการในระยะเริ่มต้นอาจไม่ชัดเจนหรือถูกมองข้ามว่าเป็นเพียงความเครียดทั่วไป
อาการโรคซึมเศร้าจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยอาการจะต้องแสดงต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีการแสดงอาการที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจมีอาการรุนแรง ในขณะที่บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ทุกกรณีล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
เครียด กังวล นอนไม่หลับ Burnout ซึมเศร้า หรือมีปัญหาสุขภาพใจอื่น ๆ ปรึกษาคุณหมอที่แอป BeDee สะดวก เป็นส่วนตัว ส่งยาถึงที่
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคซึมเศร้า
สำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิต โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง
นอกจากนี้โรคซึมเศร้ายังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกายที่รุนแรงเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมาก และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงในด้านการเข้าสังคม ผู้ป่วยมักแยกตัวออกห่างผู้อื่น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ การเรียนและการทำงาน บางรายอาจถึงขั้นต้องออกจากงานหรือหยุดเรียนกลางคัน และในกรณีรุนแรงที่สุด ผู้ป่วยอาจมีความคิดหรือพฤติกรรมทำร้ายตนเอง
แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้า
การรักษาโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและปัจจัยแวดล้อม วิธีหลักในการบำบัดโรคซึมเศร้าจะประกอบไปด้วยการให้ยาต้านเศร้าและการทำจิตบำบัด ซึ่งยารักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ทำให้อาการดีขึ้น แต่ต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอและติดตามผลกับแพทย์อย่างใกล้ชิด
โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้หากผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง การรักษาอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี และอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาระหว่างทาง นอกจากวิธีการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตเช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การนอนหลับให้เพียงพอ การทำสมาธิ และการมีกิจกรรมทางสังคม ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีป้องกันโอกาสเกิดโรคซึมเศร้า
ถึงแม้จะไม่สามารถป้องกันการเป็นซึมเศร้าได้ 100% แต่เราสามารถลดความเสี่ยงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจได้ผ่านการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม การสังเกตอาการผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี โดยแนวทางในการป้องกันโรคซึมเศร้ามีดังนี้
- รักษาสมดุลในการใช้ชีวิต (Work Life Balance) ทั้งการทำงาน การพักผ่อน และการมีเวลาส่วนตัว
- หากมีปัญหาสุขภาพใจสามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกได้เสมอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงสารเสพติด
- ฝึกการจัดการความเครียดผ่านการทำสมาธิหรือกิจกรรมผ่อนคลาย
- หมั่นสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
- หมั่นทำกิจกรรมที่สร้างความสุขและความภาคภูมิใจ
- เรียนรู้ที่จะยอมรับและจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม
โรคซึมเศร้ารักษาได้ เพียงทำความเข้าใจ
โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาการที่พบได้บ่อยคือความรู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ร่วมกับอาการทางร่างกายต่าง ๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
สำหรับผู้ที่มีลักษณะอาการหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่รู้จะปรึกษาแพทย์ที่ไหนดี BeDee แอปพลิเคชันปรึกษาแพทย์ออนไลน์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ให้คำปรึกษาโดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก เป็นส่วนตัวสูง ส่งยาถึงที่ พร้อมให้บริการทุกวัน ตามเวลาที่คุณสะดวก โหลดแอปฯ BeDee ได้เลย!
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ