พูดถึงอาลีบาบาของ Jack Ma คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก เพราะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ทำให้อาลีบาบาเติบโตขึ้นมาจนทุกวันนี้ และตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีของการเติบโตของบริษัท อาลีบาบาได้แตกธุรกิจออกไปมากมาย ทั้งที่เป็นบริษัทลูกและที่อาลีบาบาไปลงทุนถือหุ้นใหญ่ จึงน่าสนใจว่าสาแหรกของอาลีบาบามีอะไรบ้าง
ด้วยจำนวนของธุรกิจ, บริการและบริษัทที่อาลีบาบาไปลงทุนมีเยอะและยิบย่อยมาก บทความนี้เลยจะอิงจาก เอกสารงบการเงิน ของ Alibaba Group ที่แบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 4 กลุ่มคือธุรกิจคอมเมิร์ซ, ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง, สื่อและบันเทิง และเทคโนโลยี นวัตกรรมอื่นๆ
ธุรกิจคอมเมิร์ซ
ธุรกิจด้านคอมเมิร์ซของอาลีบาบานับเป็นธุรกิจหลักของบริษัท มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด โดยธุรกิจนี้ของอาลีบาบาแบ่งออกง่ายๆ เป็น 2 โมเดล คือค้าปลีก (ขายให้กับคนทั่วไปหรือ B2C) กับค้าส่ง (ขายให้องค์กรหรือ B2B) และแต่ละโมเดลจะแบ่งย่อยอีกเป็นสองกลุ่มคือขายให้กับคนจีนเอง และส่งออกนอกให้กับคนต่างชาติ ซึ่งเมื่อวาดเป็นกราฟ ธุรกิจนี้ของอาลีบาบาจะมี 2 แกน 4 ควอแดรนท์ตามภาพ
ฝั่งค้าปลีกให้คนจีน เราน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ Taobao และ Tmall ซึ่งทั้งสองแบรนด์เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยความแตกต่างระหว่าง Taobao และ Tmall คือ Taobao จะเป็นแบบ C2C (เป็นแพลตฟอร์มสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) ส่วน Tmall จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับแบรนด์เป็นหลัก
ด้านค้าส่งให้คนจีนมีอยู่เว็บเดียวคือ 1688.com ซึ่งเป็นเว็บแรกอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1999 และเป็นเว็บที่บุกเบิกการค้าส่งแบบ B2B ในจีนด้วย
ส่วนค้าปลีกนอกจีน เราน่าจะคุ้นเคยกันดีกับ AliExpress และ Lazada ส่วนค้าส่งมีเว็บเดียวเช่นกันคือ Alibaba.com หรือเรียกอีกอย่างคือ 1688.com เวอร์ชันภาษาอังกฤษก็ได้
นอกจากนี้ยังมี HEMA (อ่านว่าเหอหม่า) เป็น ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตไร้เงินสดที่เพิ่งเปิดไม่นาน ด้วย
ช่วงปลายปีที่แล้ว อาลีบาบาเพิ่งนับ Cai Niao บริการด้านโลจิสติกที่ตัวเองไปลงทุนถือหุ้นใหญ่ เข้ามาอยู่ภายใจธุรกิจเครือนี้ด้วย ซึ่งการขนส่งส่วนใหญ่ของเว็บในเครือก็จะใช้ Cai Niao เป็นหลัก
ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง
ผลิตภัณฑ์สายเทคโนโลยีของอาลีบาบาส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาและอยู่ภายใต้บริษัท Alibaba Cloud โดยมีผลิตภัณฑ์หลักในชื่อเดียวกันคือ Alibaba Cloud หรือ AliCloud ที่ให้บริการคลาวด์สำหรับองค์กร ซึ่งถึงแม้ในระดับโลกจะยังห่างไกลคู่แข่งอย่าง AWS, ไมโครซอฟท์หรือ IBM แต่ก็ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในจีน มีบริการหลากหลายเหมือนเจ้าอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกัน โดยค่าบริการมีทั้งแบบเหมาจ่ายรายเดือนและจ่ายตามการใช้งาน
ส่วนผลิตภัณฑ์จากฝั่ง R&D ของ Alibaba Cloud มีทั้ง AI , รถไร้คนขับ , IoT, อุปกรณ์สมาร์ทโฟน และ AliOS ที่เป็นระบบปฏิบัติการณ์ที่พัฒนาขึ้นมาจาก Android Open Source Project (AOSP) ถูกใช้บนอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ อาทิ สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, อุปกรณ์ IoT ไปจนถึงรถยนต์
ธุรกิจสื่อและความบันเทิง
กลุ่มธุรสื่อนี้ของอาลีบาบาส่วนใหญ่เป็นบริการที่เดินตามโมเดลของบริษัทอื่นๆ ที่เรารู้จักกัน อย่าง YouKu แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์และสตรีมมิง คล้ายๆ LINE TV, Tudou แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์คล้าย YouTube ไปจนถึงบริการสตรีมเพลงอย่าง AliMusic และบริการที่ซื้อลิขสิทธิ์กีฬามาฉายและจัดการแข่งขันอีสปอร์ตอย่าง AliSports
อาลีบาบายังมีสื่อออฟไลน์ (ที่ก็มีออนไลน์ด้วยเช่นกัน) ในมือจากการเข้าซื้อ SCMP Group เจ้าของ South China Morning Post ของฮ่องกง
อาลีบาบายังทำ UC Browser เว็บเบราว์เซอร์ที่ดันได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในอินเดียและอินโดนีเซียมากกว่า และ UC News แอปฟีดข่าวรายวัน ที่ไปปรากฎในหน้าแรกบน UC Browser ด้วย
นอกจากนี้ยังมี Alibaba Pictures บริษัทค่ายหนังซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก ChinaVision Media เมื่อปี 2015 หลังการเข้าถือหุ้นใหญ่ของอาลีบาบา
Alibaba Pictures มีทั้งผลิตหนังเองในจีน อย่างล่าสุดที่เราเคยได้ยินชื่อคือ GSD (Guang Shou Dao) หนังสั้นที่ Jack Ma เล่นร่วมกับดาราบู๊แถวหน้าของจีน ซึ่งได้จา พนม มาร่วมแจมด้วย ไปจนถึงร่วมทุนสร้างกับสตูดิโอในฮอลลีวูด อาทิ Mission Impossible: Rogue Nation และ Star Trek: Beyond และเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในจีนผ่านช่องทางออนไลน์
ธุรกิจด้านเทคโนโลยีอื่นๆ
ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่จัดอยู่ในสามกลุ่มข้างต้น แต่ค่อนข้างมีบทบาทและเป็นที่รู้จักก็มี
- Ant Financialผู้ให้บริการโมบายล์เพย์เมนท์ที่เราคุ้นกันอย่าง AliPay ไปจนถึงบริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง ประกันภัย, ไฟแนนซ์, วางแผนจัดการสินทรัพย์และบริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 เพื่อมาเป็นบริษัทแม่ของ AliPay (ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 2004) อีกที โดย AliPay แยกตัวออกมาจาก Alibaba เมื่อปี 2011 และตอนนี้ Alibaba ถือหุ้น Ant Financial อยู่ 76.4%
- AutoNaviบริษัทที่พัฒนาแผนที่และระบบนำทาง ถูกอาลีบาบาซื้อเข้ามาเมื่อปี 2014 เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google Maps และ Bing Map สำหรับการให้บริการในจีน รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ให้ข้อมูลกับ Apple Maps ด้วย
- DingTalkผู้ให้บริการแอปแชตสำหรับองค์กรลักษณะเดียวกับ Slack
- Koubeiแพลตฟอร์ม Online-to-Offline สำหรับค้นหาร้านอาหาร, บริการขนส่งอาหาร, ตั๋วหนัง, ซูเปอร์มาร์เก็ต, หรือกระทั่งสถานที่ท่องเที่ยว และแน่นอนว่าเป็นช่องทางในการผลักดันให้ร้านค้าต่างๆ นำ AliPay ไปใช้ด้วย
Comments
(แก้คำผิดไปแล้ว ขออภัยครับ)
onedd.net
เกริ่นมาดีครับ แต่ยังขาดบทสรุป ตัดจบที่ Koubei งงเลย
จา พนม อ้วนจังดูไม่ฟิตเหมือนเก่า
เอามาฆ่าทิ้งง่ายไป หมดกัน "ช้างอยู่ไหน"
หัวข้อคำว่า ใน หายไปครับ
ant financial นี่แหละ จะกลายเป็นธุรกจหลักของ jackma เร็วๆนี้
ประเทศมีประชากรเยอะ แค่ทำให้ประเทศตัวเองใช้กันทัั้งประเทศได้ ก็เหลือเฟือแล้วครับ