ปตท. ประกาศทำแอพจ่ายเงินของตัวเองชื่อ PTT e-Walletโดยให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบ
แอพ PTT e-Wallet จะใช้กับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และร้านค้าปลีกในเครือ ได้แก่ Cafe Amazon, Texas Chicken, Daddy Dough, ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ, ศูนย์บริการรถยนต์ FIT Auto, ร้านสะดวกซื้อ Jiffy โดยเชื่อมต่อกับระบบสะสมแต้มของ PTT Blue Card ด้วย
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่าจะใช้ความเชี่ยวชาญจากแอพ K PLUS มาช่วยออกแบบให้มีประสบการณ์ใช้งานที่ดี เชื่อมต่อกับแอพ K PLUS เพื่อทำการยืนยันตัวตน (KYC) และโอนเงินจาก K PLUS เข้ามายัง e-Wallet ได้
แอพ PTT e-Wallet มีกำหนดเปิดบริการในไตรมาส 4 ของปี 2561
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์, ภาพจาก PTT Blue Society Facebook
ปตท. บริษัทน้ำมันรายแรกของไทยร่วมพัฒนา PTT e-Wallet กับ KBank ตอบสนองผู้บริโภคยุคดิจิทัล
ตอบรับนโยบายสังคมไร้เงินสด ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีก ปตท. ด้วย PTT e-Wallet เริ่มให้บริการในไตรมาส 4 นี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนา PTT e-Wallet ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และ ธนาคารกสิกรไทย โดย นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการชำระเงินของผู้บริโภคด้วย PTT e-Wallet สนองนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล ตามนโยบาย Thailand 4.0
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นวัตกรรมการเงินในยุคดิจิทัลสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการใช้เงินสดลดลง ปตท. จึงปรับทัพธุรกิจค้าปลีก ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการเงินมาพัฒนา PTT e-Wallet รองรับกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภค โดย ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันรายแรกในประเทศที่พัฒนาระบบนี้เพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติมากขึ้น ทั้งความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และความปลอดภัยด้วย
PTT e-Wallet ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้มีช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ณ สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีก ปตท. ได้แก่ ร้านคาเฟ่ อเมซอน เท็กซัส ชิคเก้น แด๊ดดี้โด ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ ศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการสะสมแต้ม PTT Blue Card การค้นหาร้านค้าที่ใกล้เคียง และโปรโมชั่นจากร้านค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด โดยจะสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Application หรือใช้ผ่านรูปแบบบัตรก็ได้ นอกจากนี้ ด้วยจำนวนสาขาของสถานีบริการน้ำมัน และร้านค้า ปตท. ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความสะดวกเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดให้ร้านค้าย่อยและชุมชนได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นช่องทางในการเสนอสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเติบโตร่วมกับ ปตท. อีกด้วย
“ปตท. นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเชื่อมั่นว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสร้างความรวดเร็ว สะดวกสบาย ความปลอดภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ PTT e-Wallet จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ ปตท. ในการต่อยอดเทคโนโลยี สร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมรับมือต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวจิราพร กล่าวเพิ่มเติม
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาบริการยุคใหม่ ธนาคารกสิกรไทย ได้นำความเชี่ยวชาญจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งเป็นแอปที่มีลูกค้าไว้วางใจและใช้บริการมากถึง 8.4 ล้านราย มาเป็นแนวทางในการวางโครงสร้างการพัฒนาแอปพลิเคชัน PTT e-Wallet ใน 2 ด้าน ดังนี้
1. ออกแบบประสบการณ์การใช้งาน โดยมีโจทย์ตั้งต้นจาก ปตท. ที่มีความเข้าใจในลูกค้าเป็นอย่างดี เพื่อให้แอป PTT e-Wallet ใช้งานง่าย และ ปลอดภัย ช่วยให้ลูกค้าของ ปตท. สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ ปตท. ได้อย่างครบถ้วน2. ออกแบบโครงสร้างวอลเล็ต ที่ตอบโจทย์ความต้องการของ ปตท. ได้แก่ เชื่อมต่อเทคโนโลยีกับแอป K PLUS ช่วยให้ลูกค้าที่ใช้แอป K PLUS สามารถสมัครใช้งาน PTT e-Wallet ได้ง่าย ๆ ด้วยการยืนยันตัวตน (KYC) และสามารถโอนเงินเข้าวอลเล็ตได้ทันที สร้างระบบการเก็บข้อมูลแบบเดียวกับแอป K PLUS ช่วยรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก และออกแบบระบบให้ API สามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรอื่น ๆ เพิ่มโอกาสในการสร้างสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ร้านค้าอื่น ๆ ภายในสถานีบริการ รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายและชำระค่าสินค้าผ่านวอลเล็ตได้ในอนาคต
นายปรีดี กล่าวเสริมว่า ด้วยการออกแบบ PTT e-Wallet ตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะตอบสนองการใช้งานของลูกค้าให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถตอบโจทย์ธุรกิจของ ปตท. ในการยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำฐานข้อมูลการใช้งานวอลเล็ตไปใช้ในการออกแบบแคมเปญที่ถูกใจตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแบบรายบุคคลได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนลดต้นทุนในการบริหารจัดการข้อมูลให้กับ ปตท. อีกด้วย
Comments
ถ้าแข่งกันออกแต่ของที่ใช้ได้แต่กับเครือข่ายตัวเองแบบนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าสังคมไร้เงินสดมันเริ่มยุ่งยากละ
จริงครับ ควรมีตัวหลักไว้สักตัวก็พอละ แล้วให้ผู้ให้บริการอื่นมาเข้าร่วม
ดูโมเดลวีแชทในจีนแล้วได้แต่ปาดเหงื่อเบาๆ
แล้วต่อๆ ไปเครื่องนึงก็ต้องลง Wallet ประมาณ 10+ แอป...
ทุกวันนี้จะประมาณนี้อยู่แล้ว
+ แอปธนาคาร 5 เจ้า
+ Wallet 5 เจ้า
+ เซเว่นแยกอีก 1
+ ทรูไว้แลกของ
+ ซัมซุมกิฟ
+ แรปบิต
... แข่งกันออก เต็มหน้าพอดี ยิ่งเครื่องพื้นที่น้อยๆ จะเอาอะไรไปพอ แอปพี่ไม่ใช่เล็กๆ สักเจ้า
+1 ผมเบื่อมาก แล้วไม่รวมพวก 3rd party wallet อีก ผมไม่ใช้เลยพวกนี้
Coder | Designer | Thinker | Blogger
LoL เห็นภาพเลย
เปลี่ยนจากพกบัตรเยอะๆ เต็มกระเป๋า มาเป็นแอพเต็มเครื่องแทน
เดี๋ยวก็มีแคมเปญจไหมครับ สังคมไร้แอพ ...
ผมยังเชื่อมือในแอพเเปิลเปย์นะ ถ้ามาทำตลาดในไทย แอบเปิลจะทำให้ลูกค้าบีบผู้ประกอบการ
มันควรจะ VISA Mastercard จบครบทุกเรื่องมานั้งนานแล้ว แถบแม่เหล็กก็มี ทุกวันนี้หงุดหงิดกับการเข้ารถไฟฟ้ามาก เมื่อไหร่จะเปลี่ยนเป็นรูดบัตรเดบิต/เครดิต
ข้อเสียนึงของ VISA Mastercard คือเงินมันไหลออกนอกประเทศทุกครั้งที่มีการใช้งานน่ะครับ
เห็นว่าถ้าบัตร Debit เงินวิ่งแค่ในประเทศ น่าจะโปรโมทบัตร debit เยอะๆ กว่านี้สักหน่อย
เหอะ ๆ ตลก
Coder | Designer | Thinker | Blogger
เมื่อปลายปีก่อนมีข่าวที่ว่า PTT รับชำระเงินด้วย QR ก็ให้ Kbank ทำhttps://www.kasikornbank.com/th/News/Pages/20171213_KBank-PTT-QR-Code.aspx
อันนี้ออกข่าวว่า PTT มี app จ่ายเงินเป็นของตัวเอง แต่ให้ Kbank ทำ และใช้ด้วยการเชื่อมต่อผ่าน K-Plus กำลังงงว่ามันต่างจากเดิมยังไงนะ?
จริงๆจะมีกี่เจ้าไม่สำคัญ แต่ควรมี platform กลางแบบของญี่ปุ่น ที่มีบัตร contactless หลายเจ้า แต่ตอนหลังสามารถใช้ด้วยกันได้หมดกระทรวง ICT หรือแบงค์ชาติ หรือใครก็แล้วแต่ที่รับผิดชอบ ไม่ต้องทำอะไรมากครับ แค่ออกกฎหมายบังคับให้ทุกเจ้าใช้ด้วยกันได้ก็พอ เดี๋ยวเอกชนเขาไปหาทางกันเอง
Platform กลางก็มี PromptPay ไงครับ
ประเด็นคือภาครัฐเราชอบทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ เสียด้วยสิ
ผมหมายถึงบัตรแตะแทนเงินสดแบบพวก บัตรรถไฟฟ้าด้วยนะครับ
เอาจริงๆ romptpay ใช้งานจริง ผมว่าไม่สะดวกแบบรุนแรง เพราะไหนจะต้องเปิดแอพ สแกน qr แถมระบบ pos ที่เชื่อม promptpay มันยังไม่เห็นมี มันจึงเหมาะแค่การโอนเงินบุคคลต่อบุคคลมากกว่า
บัตร contactless น่าจะ work สุดครับ หรือไม่ก็ platform แบบ android pay, apple pay ที่ผูกเข้ากับระบบปฏิบัติการไปเลย
ระบบ pos ที่เชื่อม promptpay ก็เช่นที่ Gourmet Market ไงครับ Self checkout แล้วเลือกจ่ายด้วย QR ระบบสร้าง one-time qr โชว์บนหน้าจอ เปิดแอพแบงก์ไหนก็ได้ยิงไปก็จบเลย ขั้นตอนไม่น่าจะช้า/เร็วไปกว่า android pay, apple pay เท่าไหร่ (ยกเว้นจ่ายแบบใช้ NFC ของมือถือแตะ อันนั้นคงเร็วเท่าบัตรแตะ)
พวกบัตรแตะแทนเงินสดจริงๆ ก็มีบัตร Rabbit ที่ใช้ได้หลายที่หลายร้านค้า มีโปรโมชั่นเยอะแยะแต่ผมเห็นคนก็ใช้แต่อันที่มีโปร/ใช้ขึ้น BTS แค่นั้น จริงๆ ถ้าอยากให้ทุกคนใช้ระบบร่วมกันต้องไปกดดันเอกชนแหละครับ อย่างบัตรแมงมุมที่เดิมจะให้ขึ้น MRT/BTS/ขนส่งต่างๆ ได้หมด ปรากฎว่า BTS ไม่ยอมเข้าร่วม (เพราะมี Rabbit แล้วมั้ง) เลยออกบัตรมาทำได้ไม่ต่างกับบัตร MRT ที่ขึ้นรถเมล์ได้
ปล. เวลารัฐออกเกณฑ์ถ้าบังคับธุรกิจมากไปก็กลายเป็นไปแทรกแซงให้ไม่เกิดการแข่งขันนะครับ ถ้าออกกฎว่าทุกคนต้องใช้ร่วมกันได้จะกำหนดมาตรฐานยังไง ถ้ามาตรฐานไปตรงกับของเจ้านึง อีกเจ้าที่ต้องเสียเงินเพิ่มปรับระบบใหม่จะฟ้องว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้รายนั้นมั้ย มันมีเรื่องให้คำนึงเยอะครับ พวก Wallet ทุกวันนี้ยังอยู่ในช่วงให้แข่งกันไปก่อน ถ้าเอกชนรู้ว่าทำเดี่ยวๆ แล้วไม่คุ้มก็จะหันมาร่วมมือกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ลดแพลทฟอร์มลงเองแหละครับ ตอนนี้ผมก็ยังไม่ใช้เพราะน่าหงุดหงิดเหมือนกัน
ผมใช้มาหลายรอบแล้วนะ ที่ร้าน Amazon ก็แสกน QR บนเครื่อง POS เลย
ผมว่าทำระบบแบบเดียวกับ Visa น่าจะดีกว่า พร้อมรวมกับบัญชีเงินฝากไปเลย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อย่าไปกลัวครับ การแข่งขันถือเป็นเรื่องดีต่อผู้บริโภค ซึ่งมันต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ซึ่งถ้าจะทำให้ชนะแน่นอนกว่าไม่ใช่แค่ว่าทำให้มีกระเป๋าของตัวเอง มันจะต้องลดแลกแจกแถมเพื่อให้คนหันมาใช้งานกัน ซึ่งถ้าไม่มีโปรโมชั่นก็แน่นอนว่าแพ้ตั้งแต่เริ่มทำกระเป๋าแล้ว
PTT รับชำระเงินด้วย แอปพลิเคชัน K PLUS
ง่ายกว่ามั้ยครับ ?
อย่าเอาตาม K PLUS ละ ไม่ support iPhone จอใหญ่สักที ผ่านมากี่ปีแล้วก็ไม่รู้
ว่าแต่ห้ามใช้มือถือในปั้มยังเนี่ย 55+
ประสบการณ์ notification จาก K PLUS เด้งขึ้นมาทับทุกสิ่งอย่างบนหน้าจอดำๆไร้กาละเทศะอย่างหาที่เปรียบไม่ได้อีกแล้ว
+1000000000
ไม่เกี่ยวกับข่าว
ตอนแรกผมนึกว่า Blue pay เป็นของ ปตท.
มี blue card แล้ว นึกว่าจะผูกกันได้
"ออกแบบโครงสร้างวอลเล็ต ที่ตอบโจทย์ความต้องการของ ปตท. ได้แก่ เชื่อมต่อเทคโนโลยีกับแอป K PLUS ช่วยให้ลูกค้าที่ใช้แอป K PLUS สามารถสมัครใช้งาน PTT e-Wallet ได้ง่าย ๆ ด้วยการยืนยันตัวตน (KYC) และสามารถโอนเงินเข้าวอลเล็ตได้ทันที สร้างระบบการเก็บข้อมูลแบบเดียวกับแอป K PLUS ช่วยรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก และออกแบบระบบให้ API สามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรอื่น ๆ เพิ่มโอกาสในการสร้างสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ร้านค้าอื่น ๆ ภายในสถานีบริการ รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายและชำระค่าสินค้าผ่านวอลเล็ตได้ในอนาคต"
น่าจะรอดยากนะครับ ถ้าไม่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับ k-plus ในท้ายที่สุด เพราะ ecosystem ปตท มันเล็กนิดเดียวเอง
เอาจริงๆไม่เล็กนะครับ เอาแค่คนเดินทาง ถึงมองแค่ปั๊มกับร้านในปั๊มแค่นี้ก็คุ้มที่จะมีแอพ 1 ตัวแล้วถ้าจำเป็น มี fit auto นี่ครบวงจรสำหรับการใช้รถแล้ว ปตท.มีธุรกิจอย่างอื่นด้วย อย่าง amazon ยอดขายร้านนอกปั๊มก็ไม่น้อยนะครับผ่านกี่ทีก็เห็นคนกินเรื่อยๆ คงมองเป็นบัตรเติมเงินที่ไม่ต้องพกบัตร เค้าคงลำบากที่ต้องไปใช้แอพธนาคารเวลาจะทำการตลาดแต่เอาจริงๆแค่ bluecard ของตัวเองนี่บริษัทในเครือจะมาเชื่อมขอข้อมูลยังลำบากเลย
ประเทศไทย ถ้าไม่เอา true wallet ก็ line pay ไปเลย เอาสักเจ้าสิ
นี่ใช้ DeepPocket เชื่อมกะ SS Pay กะ WePay เติมเงิน
เคยจะใช้ mPay แต่โหดเกิน บังคับเติมทีละ 300 โหดร้ายมาก ส่วน True Wallet ไม่ได้บ้าซื้อของใน 7-11 เติมเงินทรูทีละ 10 บาท ใช้แต่เติมเงิน ไม่ได้ใช้เน็ต เลยไม่เห็นประโยชน์ที่จะใช้งาน
ก็คงจะออกแนวคล้ายๆ บัตรเครดิต ที่มีบัตรเครดิตแบบธรรมดาแล้ว ก็ยังมีบัตรเครดิตร่วมกับร้านค้าต่างๆ ทีงี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ว่าอยากใช้แอปอะไร เพียงแค่ร้านค้านั้นๆ ต้องรับทุกแอป ไม่ใช่รับแค่แอปแต่ของร้านตัวเอง
ใช้ได้ในเครือ PTT ไม่น่าสนใจเลย จ่ายบิลไม่ได้ จองโรงแรมไม่ได้ ซื้อตั๋วหนังก็ไม่ได้รอดูว่าจะออกมาแบบไหน แสกน QR แล้วจ่ายตังหรือพนักงานทุกคนมี PDA ไว้ยิงบาร์โค้ดเก็บตัง
นี่แหละสะท้อนภาพประเทศไทยจริงๆ ตอนไม่มีใครทำก็ไม่มีใครทำเลยพอมีคนทำทุกคนก็แย่งกันทำเป็นของตัวเองบ้าง ความคิดที่จะร่วมมือกันไม่มีในหัวเลย
+1 เจ็บแต่จริง
มี wallet 3-4 อัน แค่นี้ก็งงแล้วว่าจะใช้อันไหนจ่าย และก็งงว่าจะมีทำไมเยอะแยะ เงินไปค้างอยู่ตรงนั้นไม่ได้ใช้ทำอะไร ที่ PTT ทำ wallet เองทั้งๆ ที่ชำระเงินทางบัตรเครดิตได้อยู่แล้ว เหตุผลนึงคือจะได้ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าไป อย่างที่เขียนในบทความ "สามารถตอบโจทย์ธุรกิจของ ปตท. ในการยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำฐานข้อมูลการใช้งานวอลเล็ตไปใช้ในการออกแบบแคมเปญที่ถูกใจตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแบบรายบุคคลได้ "