พอดีเพื่อนผมที่ทำงานเพิ่งสั่งซื้อ Kobo Aura Edition 2 มา พอดีผมได้มีโอกาสดูแลของแทนเพื่อนเป็นเวลาหนึ่งคืน ต้องขอออกตัวก่อนว่า เนื่องจากเวลาน้อย เลยไม่ได้มีโอกาสวางแผนตรวจสอบอย่างละเอียด ลักษณะจะเป็นทดสอบการใช้งานอย่างคร่าวๆ ในลักษณะรีวิวทั่วไป และถือโอกาสมาแชร์ให้ผู้ที่สนใจได้ทราบกัน
สำหรับตัวนี้คือ Kobo Aura Edition 2 ที่เริ่มวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคมปี 2016 ราคา 119.99 เหรียญสหรัฐ เป็น Kobo รุ่นราคาถูกที่สุดที่วางขายปัจจุบัน มีเฉพาะ Wi-Fi อย่างเดียวและไม่มีโฆษณาใดๆ
คำเตือน รูปประกอบเยอะนะครับ
แกะกล่อง
เป็นกล่องกระดาษแข็งเรียบๆ มีติดสติกเกอร์ล็อคฝากล่องด้านหน้าที่หัวและท้ายกล่อง
หลังจากใช้คัตเตอร์ตัด เปิดมาด้านในจะเจอ Kobo Aura Edition 2 ปิดแผ่นพลาสติกใสกันรอยขูดขีด นอนรออยู่ในกล่อง
สิ่งของที่อยู่ในกล่องได้แก่ แผ่นพับเรื่องความปลอดภัย, แผ่นพับคู่มือการใช้งานฉบับย่อ, Kobo Aura Edition 2, สาย micro USB หนึ่งเส้น และไม่มี power adapter ตามสมัยนิยม
ฮาร์ดแวร์
รูปร่างลักษณะภายนอกเล็กกะทัดรัด กรอบเครื่องด้านหน้าเป็นพลาสติกสีเทาด้าน ไม่ทิ้งลายนิ้วมือ กรอบหนาซ้าย-ขวา ด้านละ 1 เซนติเมตร ขอบล่างสูง 2.1 เซนติเมตร มีโลโก้ Kobo อยู่ที่มุมล่างซ้าย ขอบบนสูง 1.2 เซนติเมตร ด้านบนมุมขวามีไฟแสดงสถานะการเปิดเครื่อง (power light) สีขาวหนึ่งดวง ไม่ใช่ไฟแสดงสถานะการชาร์จ เปลี่ยนสีไม่ได้
จอภาพบุ๋มลงไปเล็กน้อย รอบเครื่องด้านซ้าย-ขวา ปราศจากปุ่มใดๆ
ด้านบนเรียบ ไม่มีปุ่ม หรือช่องต่อหูฟังใดๆ ส่วนภาพถ่ายมาดูเป็นสีเทา/น้ำเงินเข้ม อาจเพราะแสดงสะท้อน แต่จริงๆ เป็นสีดำ เช่นเดียวกับบอดี้ด้านอื่นๆ ครับ
ด้านล่างมีช่องต่อ micro USB
ด้านหลังเครื่องเป็นพลาสติกแข็ง มีลวดลายกันลื่น ไม่ทิ้งลายนิ้วมือเวลาหยิบจับ ริมเครื่องโค้งเล็กน้อย ให้ความรู้สึกดีเมื่ออยู่ในอุ้งมือ หยิบจับง่าย รู้สึกไม่หนาเทอะทะ ด้านบนมีสีฟ้าเป็นปุ่มเปิดปิด มีโลโก้ Rakuten Kobo เด่น
ในรูปด้านบนถือ Kobo Aura Edition 2 ซ้อนกับ Paperwhite รุ่นแรก จะเห็นขนาดเครื่องจะแคบและสั้นกว่า Paperwhite รุ่นแรกเล็กน้อย เรียกว่าถือมือเดียวสบายๆ หรือจะใส่กระเป๋ากางเกงยีนส์หลังก็ยังไหว โดยส่วนตัวรู้สึกกรอบเครื่องด้านหน้า ขอบรอบจอซ้าย-ขวาออกจะแคบไปหน่อย เวลาถือ นิ้วหัวแม่มือจะพักบนกรอบเครื่องดังภาพ อาจจะพลาดไปโดนหน้าจอ ทำให้เกิดการเปลี่ยนหน้าโดยไม่ได้ตั้งใจได้
น้ำหนักเครื่องอยู่ที่ 180 กรัม เรียกว่าเบามาก ถืออ่านมือเดียวได้เป็นเวลานานไม่มีปัญหาใดๆ
ในแง่พื้นที่เก็บข้อมูล เครื่องมีพื้นที่ภายใน 4 GB แต่เหลือใช้งานได้จริงประมาณ 3.1 GB ซึ่งก็มากพอที่จะเก็บหนังสือได้เป็นพันๆ เล่ม รวมถึงถ้าหนังสือเล่มไหนที่ซื้อจาก Kobo Store ก็สามารถโหลดผ่าน Kobo Cloud มาอ่านผ่าน USB หรือ Wi-Fi ได้
สเป็ค
- หน้าจอ: E-Ink รุ่น Carta ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 ที่ 212 ppi แสดงผลแบบ grey scale 16 ระดับ พร้อมแสงในตัว (ComfortLight) จอสัมผัส
- มีเซนเซอร์แม่เหล็กรองรับปกที่ช่วยเปิดปิดเครื่องอัตโนมัติ (auto sleep/wake)
- กว้าง 11.3 สูง 15.9 ซม. และหนา 0.85 ซม.
- หนัก 180 กรัม
- พื้นที่เก็บข้อมูลบนเครื่อง 4 GB เหลือให้ใช้งานได้จริงประมาณ 3.1 GB
- สนับสนุน Wi-Fi ทั้ง b/g/n
- ซีพียู Freescale i.MX507 หนึ่งแกน รันที่ความเร็วสูงสุด 1GHz
- แบตเตอรี่แบบเปลี่ยนไม่ได้ 1500 mAh
- ไม่มีช่องเสียบ micro SD card
- ฟอนต์: TypeGenius มีฟอนต์มาให้ 11 แบบ 40 ขนาด รวมถึงปรับความหนาได้
- รองรับทั้ง EPUB, EPUB3, MOBI, PDF, GIF, JPEG, PNG, BMP, TIFF, TXT, HTML, RTF, CBZ, CBR
ถึงแม้ชื่อจะเป็น "Kobo Aura" แต่เอาเข้าจริง เครื่อง Kobo Aura Edition 2 โดนตัดฟีเจอร์เด่นๆ หลายอย่างจาก Kobo Aura ตัวแรก เช่น ไม่ใช้หน้าจอเรียบ (flush display), ไม่รองรับ micro SD card ซึ่งดูไปดูมา มันเหมือนเป็นรุ่นต่อจาก Kobo Glo เสียมากกว่า
และถ้าเทียบกับคู่แข่ง จะว่าไป Kobo Aura Edition 2 นี่จะด้อยกว่า Kindle Paperwhite รุ่นที่ 3 (Gen 7) ที่ราคาเท่ากันอยู่นิดหน่อย เพราะถึงแม้จะวางจำหน่ายภายหลัง (2016) แต่หน้าจอกลับละเอียดน้อยกว่า แต่ถ้ายอมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกนิดเป็น Kobo Clara HD ถึงจะสมน้ำสมเนื้อ
ซอฟท์แวร์
ซอฟท์แวร์รุ่นที่ทดสอบคือรุ่น 4.8.11073 ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะรีวิวบนซอฟท์แวร์จากโรงงานปกติ ไม่มีการปรับแต่งคอนฟิคไฟล์หรือแก้ไขใดๆ
หมายเหตุ: ภาพหน้าจอที่เห็นได้มาจากการจับหน้าจอซึ่งอาจเป็นภาพสี แต่จอจริงแสดงผลเป็นภาพ grayscale 16 ระดับ นะครับ
หน้าจอโฮมรุ่นใหม่ของ Kobo แสดงหนังสือปกล่าสุด 4 เล่มสุดท้าย สุดท้ายที่อ่านและปริมาณที่อ่านถึง ส่วนแถบกลางจะเป็นหน้าปกหนังสือของเรา (My Books) ส่วนแถบล่างเป็นส่วนเข้า Kobo Store และทางขวาจะหมุนเวียน แต่จะเป็นในแนวส่งเสริมการขาย เช่น แนะนำหนังสือที่น่าสนใจอิงจากที่เราอ่านอยู่, แนะนำหนังสือจากโปรไฟล์ของเรา, หนังสือใน wishlist เป็นต้น
เมื่อกด hamburger icon ที่มุมซ้ายบน จะมีเมนู กด My Books จะเข้าส่วนหนังสือที่อยู่ใน Kobo Store ที่เราซื้อไว้ รวมถึงหนังสือที่ side-load อยู่ในเครื่อง
โดยจะแสดงเป็นลิสต์ หรือเป็นแบบปก (Cover view) ก็เลือกได้
Reading Experience
การสั่งงานทั้งหมดผ่านการสัมผัส แต่ก็ไม่ยุ่งยาก เมื่อกดเลือกหนังสือ Kobo จะแสดงเนื้อหาเต็มจอโดยไม่มีแถบเครื่องมือใดๆ แต่จะมี header แสดงชื่อหนังสือ
ส่วน footer ด้านล่างแสดงตำแหน่งที่อ่านปัจจุบัน ซึ่งซ่อนไม่ได้
ถ้าต้องการเรียกเมนูระหว่างอ่านหนังสือ สามารถทำได้โดยกดบริเวณกลางจอภาพเพื่อแสดงเมนูขึ้นมา โดยเมนูด้านบนจะเป็น ปรับแสงสว่าง (ComfortLight), เปิด/ปิด Wi-Fi, สัญลักษณ์แสดงระดับแบต, สั่ง Sync และค้นหา ส่วนด้านล่างจะเป็น เมนูเปลี่ยนหน้า (Navigation), แสดงสารบัญ (Table of Contents), ปรับฟอนต์, ตั้งค่า
ในบรรดาอุปกรณ์ E-Book Reader ด้วยกันแล้ว ผมคิดว่า Kobo ยืดหยุ่นมากที่สุดในแง่การปรับแต่งการอ่าน มีฟอนต์มาให้ถึง 11 แบบและผู้ใช้สามารถปรับแต่งขนาดอักษร (font size), ช่องไฟระหว่างบรรทัด (line spacing) และระยะกั้นหน้ากั้นหลัง (margin) ได้อย่างละเอียดและรับรองว่าครอบคลุมทุกความต้องการอย่างแน่นอน เมื่อเลื่อนสไลด์เดอร์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และถ้าหากแค่นั้นยังไม่พอ ยังสามารถกด Advanced เพื่อเข้าไปปรับความหนา/บางของตัวอักษร (weight) ได้อีก
ในแง่พจนานุกรม ในเครื่องก็มีพจนานุกรมมาให้แล้วในตัว โดยกดค้างที่คำที่ต้องการหาความหมาย ระบบจะแสดงความหมายมาให้
แต่ที่สังเกตคือพจนานุกรมนั้นของ Kobo มีข้อจำกัด แต่ละคู่ภาษามีมาให้ฉบับเดียวเท่านั้น รวมถึงไม่สามารถซื้อหาพจนานุกรมจาก Store มาใช้ทดแทนในกรณีที่ไม่ชอบพจนานุกรมที่ให้มาด้วย
หมายเหตุ
- เวลาอ่านหนังสือจะ pinch-zoom ไม่ได้ ถ้าอยากจะปรับขนาดตัวอักษรให้ตัวโตขึ้นหรือเล็กลงต้องเข้าเมนูอย่างเดียว
ComfortLight
สมัยนี้ E-Reader หลายยี่ห้อหลายรุ่นก็มีไฟในตัว (front-light) มาให้แล้ว ทำให้อ่านหนังสือในที่แสงน้อยๆ ได้สะดวก รวมถึงแม้ในที่มีแสงพอก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้ช่วยทำให้พื้นหลังดูขาวนวลคล้ายกระดาษมากกว่าจะเป็นสีเทาอมเขียว สำหรับ Kobo เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า ComfortLight สำหรับ Kobo Aura Edition 2 ก็มีฟีเจอร์นี้มาด้วย โดยใช้ LCD จำนวน 5 ดวงส่องจากด้านล่างจอภาพ
สำหรับ Kobo นี้มีสไลด์เดอร์ให้ลากปรับได้อย่างละเอียด จาก 0% ถึง 100% ซึ่งถ้าปรับต่ำสุดที่ 0% ซึ่งก็คือปิดไฟสนิทเลย และรุ่นนี้ไม่สามารถปรับความสว่างอัตโนมัติได้ (auto brightness)
จากการใช้งานตามปกติ กำหนดความสว่างที่ 30-50% ก็พบว่าให้แสงสว่างสม่ำเสมอทั่วทั้งจอภาพ ไม่พบส่วนที่มีอยู่ในเงา/สว่างน้อยแต่อย่างใด รวมถึงต่อเร่งให้สุดไม่ติดขาวอมฟ้า
สิ่งหนึ่งที่ชอบคือ ทาง Kobo มีทางลัดสำหรับปรับแสดงสว่างโดยไม่ต้องเข้าเมนู เพียงลากขึ้นหรือลงบริเวณขอบจอด้านซ้าย ขณะอ่านหนังสืออยู่เพื่อปรับแสงสว่างในขณะที่ใช้งานอยู่ได้ทันที โดยไม่กดเพื่อเข้าเมนูแต่อย่างใด
Kobo Ecosystem
- Kobo Store มีหนังสือให้เลือกมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษและไม่มีนิตยสารไทย
- หนังสือที่เจอใน Store เราสามารถอ่านตัวอย่างได้ (Preview) ส่วนใหญ่จะเปิดให้โหลดตัวอย่างมาอ่านแบบ offline แต่บางเล่มสำนักพิมพ์อาจจะไม่ยอมให้โหลดตัวอย่างลงมา ต้องอ่านตัวอย่างแบบเป็น online เท่านั้น
- สำหรับ Kobo Store มีประเทศให้เลือกกว่า 39 ประเทศ ซึ่งมีทั้ง สหรัฐฯ, แคนาดา, ไทย, สิงค์โปร์, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ฯลฯ ซึ่งถ้าเลือกเข้า Store คนละประเทศก็มีหนังสือไม่เท่ากันรวมถึงราคาอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าของลิขสิทธิ์ในโซนดังกล่าว และถ้าเราระบุประเทศใน billing address ผิดกับประเทศของ Store ที่เราดูอยู่ เราก็ซื้อหนังสือเล่มนั้นข้าม Store ไม่ได้
- หนังสือที่ซื้อบน Kobo Store สามารถ export ออกไปอ่านบนอุปกรณ์อื่นได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับสำนักพิมพ์ บางเล่มเป็น EPUB แบบไม่ติด DRM ก็สามารถโหลดลงมาเปิดอ่านได้อย่างอิสระ หรือเล่มที่ติด DRM จะใช้เทคโนโลยี Adobe Digital Editions ซึ่งก็มีอุปกรณ์ในท้องตลาดยี่ห้ออื่นๆรองรับ
- ในทางกลับกัน ผู้ใช้ Kobo เองก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ Kobo Store เพียงอย่างเดียว เราสามารถซื้อหนังสือมาอ่านได้จากหลายแหล่งทั้งจาก Kobo Store เอง หรือจาก Google Play Books, หรือแม้แต่สำนักพิมพ์อิสระอื่นๆ เพราะตัวอุปกรณ์สามารถเปิดอ่านไฟล์ EPUB, EPUB3, รวมถึงรองรับเทคโนโลยี Adobe Digital Editions
- ข้อดีอีกอย่างของอุปกรณ์ของ Kobo คือรองรับบริการยืมหนังสืออีบุ๊คอย่าง OverDrive ซึ่งรองรับห้องสมุดนอกสหรัฐฯได้ อย่างในเมืองไทยเท่าที่ทราบก็มีห้องสมุดของ TK Park ที่สามารถให้ยืมหนังสืออีบุ๊กเพื่อใช้อ่านบน Kobo ได้ โดยใช้งานร่วมกับพีซีและโปรแกรม Adobe Digital Editions ในการโหลดหนังสือเข้าเครื่องผ่านสาย USB
PDF Viewer
สำหรับคนที่อยากจะเอาเครื่องนี้มาใช้อ่าน PDF ก็คงบอกได้ว่า น่าอึดอัดใจครับ เพราะฟีเจอร์ PDF Viewer ของ Kobo ป่วยมาก
ข้อดี
- รองรับสารบัญ (Table of Contents) และลิงก์ในเอกสาร
- สามารถหมุนให้อ่านเอกสารตามแนวขวางได้ทำให้อ่านง่ายขึ้น
- ซูมเอกสารได้ (pinch-zoom) เวลาซูมมี thumbnail view ให้ดู แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อ zoom out เต็มหน้าเอกสารได้
- อ่านไฟล์หนังสือขนาดใหญ่ระดับ 40 MB ได้ ไม่มีปัญหา
ข้อเสีย
- ตอบสนองช้า อาจจะใช้เวลา 1 - 3 วินาทีในการวาดหน้าเวลาพลิกหน้าใหม่ ขึ้นกับเอกสาร ถ้าเป็นนิตยสารซึ่งมีอาร์ตเวิร์กซับซ้อน มีการใช้รูปถ่ายประกอบในหน้า อาจใช้เวลาถึง 2-3 วินาที แต่ถ้าเอกสารเป็นลักษณะบทความ มีรูปประกอบน้อยอย่างเท็กซ์คอมพิวเตอร์จะใช้เวลาประมาณ 0.5 - 1 วินาที
- ไม่มีฟีเจอร์ตัดขอบอัตโนมัติ (auto-margin) รวมถึงปรับ margin เองไม่ได้
- ไม่มีตัวเลือกปรับความเข้ม (contrast) ซึ่งจะมีปัญหาเวลาอ่านเอกสารที่ตัวหนังสือเล็ก ตัวหนังสือจะจางมาก ทำให้อ่านลำบาก
- เวลาซูมเอกสารแล้วพยายามลากเลื่อน จะเห็นเป็นภาพซ้อนและช้ามาก และเมื่อปล่อยนิ้วจะใช้เวลา 2-3 วินาทีกว่าจะวาดหน้าจอใหม่เพื่อลบภาพซ้อนทิ้ง
- เพราะไม่มีปุ่มเปลี่ยนหน้า ดังนั้นถ้าซูมเอกสารอยู่ แล้วอยากจะเปลี่ยนหน้า แนะนำให้ซูมออกให้เป็นเต็มหน้าก่อน จึงเปลี่ยนหน้าได้ หรือแพนมาขอบขวา (ซึ่งหน่วงและเห็นภาพซ้อน) จึงกดลูกศรที่ขอบขวาของหน้า เพื่อเปลี่ยนหน้า
- ไฮไลท์ (highlight) ไม่ได้ รวมถึงใช้พจนานุกรมเพื่อหาความหมายศัพท์ไม่ได้ แต่สามารถเรียกใช้พจนานุกรมแล้วพิมพ์คำศัพท์ที่ต้องการค้นหาเอง
เนื่องจาก พอจอเล็ก 6 นิ้ว ประกอบกับจอละเอียดไม่มาก จะดูทั้งหน้าก็มีปัญหาตัวหนังสือเล็กและจางอ่านยาก พอซูมก็เลื่อนหน้าช้ามาก โดยความเห็นส่วนตัวคือ ไม่แนะนำให้อ่าน PDF บนเครื่องนี้แต่อย่างใดครับ
การ์ตูน
เนื่องจากเวลาจำกัดจึงไม่ได้ลองซื้อ graphic novel ใน Store มาลองดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง การทดสอบการใช้งานจึงจำกัดที่การอ่านไฟล์ CBZ เท่านั้น
ข้อดี
- จำตำแหน่งหน้าได้
- pinch-zoom ได้ แต่ไม่มี thumbnail view เวลาซูม
ข้อเสีย
- ไม่มีฟีเจอร์ช่วยตัดขอบ (auto-margin), ซูมด้วยมือ (pinch-zoom) อย่างเดียว, ไม่รู้จักการแตะหน้าจอสองครั้ง (double tap) ไม่ซูมออก แต่จะเปลี่ยนหน้า/เรียกเมนูแทน
- ถ้าซูมค้างอยู่ กดหน้าจอ จะไม่ pan จอ แต่เปลี่ยนหน้าเลย และยังคงแพนจอไปอยู่ตำแหน่งเดิม แทนที่จะเริ่มที่มุมซ้ายบนหรือมุมขวาบนของหน้า เพื่อจะอ่านต่อได้ทันที
- ปรับความหนา ความเข้มไม่ได้
สำหรับคนที่หวังว่าจะเอามาใช้อ่านการ์ตูนสแกนได้ (CBZ) ก็คงบอกว่าเครื่องนี้รองรับ แต่ไม่แนะนำครับ เพราะถึงแม้ตัวระบบจะรองรับการเปิดอ่านไฟล์ CBZ ได้โดยตรง แต่คือหน้าจอแค่ 6 นิ้ว และด้วยความละเอียดหน้าจอไม่มาก (1024x768) ทำให้อ่านการ์ตูนที่มีรายละเอียดหรือบทพูดเยอะลำบาก แถมไม่มีลูกเล่นฟีเจอร์ที่ช่วยกลบจุดด้อย อย่างเช่น ไม่มีการช่วยตัดขอบ (auto-margin), ไม่มี mini-map เวลาการซูม, รวมถึง ไม่สามารถแพนหน้าจออย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นไฟล์ CBZ ที่มาใช้ ต้องตัดขอบให้ดี รวมถึงทำให้อ่านได้ดีบนจอ 6 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 ได้โดยไม่ต้องซูม
ภาษาไทย
ตัวระบบไม่รองรับการแสดงผลภาษาไทยครับ ตั้งแต่ใน My Books ชื่อหนังสือ หรือชื่อผู้แต่งจะกลายเป็นสี่เหลี่ยมอ่านไม่ออกเลย
พอครั้นจะเปิดอ่าน epub ที่ผมใช้ทดสอบ ไม่มีการฝังฟอนต์ไว้ ก็กลายเป็นหน้าว่างๆ ไป
แต่พอติดตั้งฟอนต์ที่รองรับอักษรไทยเข้าไปในระบบ ชีวิตก็จะดีขึ้น
แต่สำหรับปัญหาการจัดย่อหน้า/ตัดคำภาษาไทย ก็คงได้แต่ทำใจ
Activity
ตัว Kobo มีลูกเล่นสถิติการอ่านหนังสือแต่ละเล่ม ทำให้เรารู้ว่าเราใช้เวลาอ่านหนังสือแต่ละเล่มช้าเร็วแค่ไหน อ่านครั้งหนึ่งนานเท่าไร
รวมถึงมีป้ายรางวัล (award) ให้เก็บสะสม เป็นเหมือนถ้วยรางวัลเล็กๆ ให้เป็นกำลังใจในการอ่าน แล้วสามารถแชร์ผ่าน social media ได้
เก็บตก
- เวลา sleep เครื่อง ระบบใช้ปกหนังสือที่อ่านเล่มสุดท้ายเป็นหน้าจอพักเครื่อง (screensaver screen) ถ้าใครไม่ชอบเปิดเผยขนาดนั้นก็เข้าไปปิดตัวเลือกนี้ได้
- การ deregister บัญชี Kobo จากเครื่อง หนังสือที่ซื้อไว้บน Kobo Store จะถูกลบจากเครื่องไป ส่วนหนังสืออื่นที่ side-load ไว้ยังอยู่
- touch screen เหมือนจะไม่ค่อยแม่น หลายครั้งเวลาพิมพ์รหัสผ่าน Wi-Fi ต้องให้แสดงรหัสเพื่อให้มั่นใจว่าใส่รหัสผ่านถูกต้อง
สรุป
โดยรวมแล้ว Kobo Aura Edition 2 ก็ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องอ่านอีบุ๊กรุ่นที่ราคาต่ำสุดของ Kobo ที่วางขายในปัจจุบัน ราคาประมาณ 120 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,000 บาท) เหมาะสำหรับใครที่ชอบอ่านหนังสือปกอ่อนและไม่ยึดติดกับ Kindle Store รองรับมาตรฐาน EPUB และ Adobe Digital Editions รองรับการยืมหนังสืออีบุ๊กจากห้องสมุดผ่านเทคโนโลยี OverDrive
แต่ถ้าสนใจในอุปกรณ์ของ Kobo ขอแนะนำเพิ่มเงินอีกเพียงเล็กน้อย มองรุ่น Kobo Clara HD ที่ราคาประมาณ 130 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,260 บาท) ก็จะได้ฟีเจอร์ที่ผมคิดว่าคุ้มค่าจะส่วนต่างที่จ่ายที่เพิ่มขึ้นครับ
Comments
บ่นมาตั้งแต่สมัย Kindle 3 with keyboard ว่าทำไมถึงไม่ทำ ?
พอเป็นผู้นำตลาด เค้าเลยไม่ค่อยพัฒนาฟีเจอร์เท่าไรน่ะ คงคิดว่าฟีเจอร์เหล่านั้น ไม่ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินใน Kindle ecosystem ได้เพิ่งมั้งครับ เฮียเลยไม่แคร์
ขนาดเพิ่มฟอนต์เองได้แบบไมต้องแฮ็ก ยังเพิ่งใส่มาเลย นี่ก็ยังสงสัยว่าทำไมถึงมาใส่เอาป่านนี้?
ผลของการตลาดแบบกึ่ง Monopoly ไงครับ แนวเสือนอนกิน คู่แข่งสู้ไม่ได้ ก็ขายต่อไป นวัตกรรมและการพัฒนาลดน้อยลง เพราะเป็นขาใหญ่ของวงการ เลยไม่จำเป็นต้องแคร์ลูกค้า พัฒนาให้เสียเวลา ขอให้หาเงินได้ก็พอ ประมาณนี้ครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ช่องนี้ไว้รับคำชี้แนะครับ
ผมคิดว่าหัวข้อข่าวควรเพิ่มบรรยายหน่อยครับว่ามันคือเครื่องอะไร ตอนผมอ่านผ่านๆ ผมก็ไม่รู้จัก
กระทัด >> กะทัดรัด
ศัพท์ภาษาต่างประเทศเขียนแปลก ๆ ไปหน่อย อย่าง
น่าจะเป็น Table of Contents มากกว่า หรือตัวอุปกรณ์เขียนไว้แบบนี้?
พิมพ์ตกหล่นไปจริงๆ ขอบคุณครับ
เซ็นติเมตร => เซนติเมตร
อีบุีค => อีบุ๊ก
อยากได้e ink for pdf reader
มีใครเคยซื้อ BOOX มาใช้ไหมครับ ดูน่าจะเป็นของจีน แต่เคลมว่าอ่านภาษาไทยได้
ซื้อมาใช้ครับ แต่จำรุ่นไม่ได้ ^^'a
หนังสือ epub ภาษาไทยที่ฝังฟอนต์ไว้ อ่านได้ปกติ ส่วนที่ไม่ได้ฝังฟอนต์ จำไม่ได้แล้ว ^^'a
การใช้งานการอ่าน epub + pdf นี่ผมชอบนะ
แสดง pdf แบบตัดขอบให้อัตโนมัติ สามารถเพิ่มความหนาของตัวอักษรได้ และเห็นผลของความหนาที่เพิ่มขึ้น ทำให้อ่านได้ชัดเจน
ซึ่งเมื่อเทียบกับ Kindle Touch หรือ Kindle Paperwhite แล้วเหนือกว่า
เพราะ Kindle นี่แสดงผล pdf มันไม่ตัดขอบแล้ว auto zoomการเพิ่มความหนาตัวหนังสือของ pdf ก็เห็นผลไม่ชัดเจน
ด้วยความที่เป็น android เลยทำให้ติดตั้งแอปอ่านหนังสือตัวอื่นเพิ่มได้ไม่ว่าจะเป็น Google Play Book, Amazon Kindle, Meb Market, Hytexts, Moon+ Reader ฯลฯ
ใส่ sd card ได้ ทำให้เอาหนังสือยกกรุใส่ลงไปได้โดยไม่ต้องลบทิ้ง
ข้อด้อยที่ขัดใจคือ
หน่วยความจำน้อยมาก ไอ้บรรดาแอปอ่านหนังสือค่ายอื่นที่ผมบอกว่าติดตั้งได้ข้างบนน่ะ ใส่ไม่กี่ตัวก็พื้นที่เต็มแล้ว
อารมณ์นึกถึงเวลาใช้งานมือถือ android ราคาถูกที่แค่ติดตั้งไปสองแอป มันก็ฟ้องตลอดว่าพื้นที่เต็มนั่นแหละ
และด้วยความที่มันเป็นระบบ android เลยทำให้กินแบตพอสมควร
เลยต้องตั้งให้มันปิดการทำงานหลังจากที่ไม่ได้ใช้งานไปซักพัก
แต่พอปิดการทำงานไปแล้ว กว่าจะเปิดขึ้นมาอ่านหนังสือแต่ละที รอเครื่อง boot นานจนรู้สึกขี้เกียจ
ระบบการทำงานเทียบกับ Kindle 4NT ที่ใช้อยู่ แล้วรู้สึกว่า Boox มันหน่วงๆ หนืดๆ ช้ากว่าแบบรู้สึกได้แต่ก็ยังยอมรอบได้อยู่
ทุกวันนี้ใช้ Kindle 4NT น่าจะซื้อตั้งแต่ปี 2012 มั้งนะ
อายุมันก็มากแล้ว อยากจะซื้อรุ่นที่มีไฟในตัว เวลาอ่านตอนแสงน้อยดู Kindle Paperwhite ก็ขัดใจเรื่องการอ่าน pdf อย่างมาก
ซื้อ Boox มาก็ชอบใจ แต่เปิดเครื่องขึ้นมาอ่านนี่นานจนขี้เกียจ ตอนนี้ทำจอแตกไปแล้ว T-T
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
สรุปว่ามันคือ Android tablet จอ E-Ink สเปคต่ำๆตัวนึง ที่มี UI สำหรับ ebook ครอบใช่ไหมครับ
ไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน จนคุณทักมา ถึงได้รู้สึกว่า เออ ใช่แฮะ ?
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
หน้าจอเป็น grey scale แต่แคปจอมาเป็นสีหรือครับนี่
ในที่สุดก็มีคนจับได้ ใช่ครับ (^_^')
แคปได้เป็นระบบเป็นภาพสีครับ แต่จอจริง grayscale 16 ระดับครับ