Tags:
Node Thumbnail

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผมได้ร่วมแข่ง TechJam ที่ KBTG จัด และพบว่าทีม "Meow Meow :3" ผู้ชนะการแข่งขันเลือกใช้ภาษา MiniZinc ในการแก้โจทย์ปัญหา และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วเป็นทีมแรกๆ เสียด้วย

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเลยกลับมาศึกษาภาษานี้บ้าง และพบว่ามันเป็นภาษาที่ไม่เหมือนภาษาอื่นๆ ที่คุ้นเคยเลย การเขียนโปรแกรมจะไม่ใช่การบอกลำดับการทำงานต่างๆ ให้คอมพิวเตอร์ไปทำตามแล้ว แต่จะเปลี่ยนไปมองว่าผลลัพธ์ที่ต้องการนั้นมีข้อจำกัดอะไรบ้าง หลังจากเขียนข้อจำกัดต่างๆ จนครบก็ปล่อยให้คอมพิวเตอร์ไปคิดวิธีหาคำตอบเอาเอง

เมื่อได้ฟังหลักการทำงานแล้ว โปรแกรมเมอร์หลายๆ คนอาจรู้สึกอึดอัดขัดใจอยู่บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ตรงที่เราจะไม่รู้ลำดับขั้นตอนการทำงานเบื้องหลังว่าโปรแกรมกำลังทำอะไรอยู่ แต่สำหรับคนที่มาจากสายอื่น ผมคิดว่า MiniZinc น่าจะช่วยตัดทอนรายละเอียดอันซับซ้อนของการเขียนโปรแกรมลงไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

No Description

ความเป็นมาของ MiniZinc

ถ้าย้อนความกลับไปยังสมัยนักศึกษา เราอาจพอจำได้ลางๆ ว่าภาษาคอมพิวเตอร์นั้นมีด้วยกันหลายยุค ยุคแรกๆ ก็เป็นภาษาชั้นล่างที่ติดต่อกับฮาร์ดแวร์โดยตรง แล้วก็มีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันเรา (ส่วนใหญ่น่าจะ) ใช้ภาษาในยุคที่ 3-4 กันอยู่ เช่น C++, Python, JavaScript, R ซึ่งเป็นภาษาที่เราต้องป้อนคำสั่งเป็นลำดับขั้นตอนให้คอมพิวเตอร์ไปทำงานตามนั่นเอง

ส่วนภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 5 นั้นจะซ่อนรายละเอียดปลีกย่อยที่โปรแกรมเมอร์ต้องคอยกำกับคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอน เปลี่ยนไปเป็นบอกว่าเราต้องการผลลัพธ์แบบไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้างแทน โดยใช้การดำเนินการทางตรรกะมาอธิบายความสัมพันธ์และข้อจำกัดของผลลัพธ์ ภาษาในยุคนี้ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อก็เช่น Prolog

ด้าน MiniZinc นั้นก็เป็น ภาษาโปรแกรมเชิงข้อจำกัด ในยุคที่ 5 ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะลดความยุ่งยากของภาษา Zinc และสร้างมาตรฐานการเขียนโปรแกรมเชิงข้อจำกัด ซึ่งมันออกเวอร์ชัน 1.0 ในปี 2009 จนถึงปัจจุบันได้เดินทางมาถึงเวอร์ชัน 2.2 แล้ว

โปรแกรมแรก!

ก่อนที่จะเจาะลึกลงไปดูรายละเอียดของคำสั่งต่างๆ เพื่อให้เขียนโปรแกรม MiniZinc แก้ปัญหาใดๆ ก็ได้ตามที่ใจต้องการ ผมคิดว่าเราควรเริ่มจากการเขียนโปรแกรมแรกอย่างรวดเร็วกันเลยดีกว่า และมันก็ไม่ควรจะเป็นเพียงแค่การพิมพ์ Hello world! เท่านั้นด้วย เพราะเราจะมาหาคำตอบของชีวิต, เอกภพ, และทุกสิ่งทุกอย่างกัน!

โดยเราจะเริ่มจากเปิด IDE ของ MiniZinc ขึ้นมา พิมพ์โค้ดตามที่จะเห็นข้างล่างนี้ลงไป แล้วเซฟโปรแกรมในชื่อ answer.mzn (สำหรับใครที่ขี้เกียจพิมพ์ตาม สามารถหาโค้ดทั้งหมดในบทความได้จาก Gist นี้ )

No Description

โปรแกรมเราเพิ่งเขียนเสร็จนี้มี 4 ส่วนด้วยกัน ซึ่งก็คือ

  1. บรรทัดแรก บอกว่าคำตอบที่ต้องการหาเป็นตัวแปรประเภทใด ซึ่งในที่นี้ก็คือจำนวนเต็ม ( int )
  2. สี่บรรทัดถัดมาบอกข้อจำกัดต่างๆ ของคำตอบที่เราต้องการหา อันได้แก่มันจะต้องอยู่ในช่วง 1 ถึง 100 และต้องหาร 2, 3, 7 ลงตัว
  3. คำสั่ง solve satisfy เป็นคำสั่งสำหรับให้โปรแกรมเริ่มทำงานค้นหาคำตอบที่ตรงตามข้อจำกัด
  4. บรรทัดสุดท้ายเป็นการพิมพ์ผลลัพธ์ ซึ่งถ้าเราทดลองใน MiniZinc IDE ก็อาจละคำสั่งนี้ได้

เมื่อรันโปรแกรมดังกล่าวด้วยการกด Ctrl-R ก็จะได้ผลลัพธ์กลับมาทางหน้าจอว่า 42 เป็นอันจบโปรแกรม

ขอให้จำโปรแกรมแรกของเรานี้ไว้ เพราะในหัวข้อถัดๆ ไปเราจะถอด-ประกอบ-เรียนรู้-ปรับปรุงจากมัน

รายละเอียดคำสั่ง MiniZinc

จากตัวอย่างโปรแกรมแรกของเรา แม้วากยสัมพันธ์ของ MiniZinc จะมีความแตกต่างจากภาษาที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันพอสมควร แต่โดยหากค่อยๆ ดูไปทีละส่วนจะพบว่าไม่หนีกับภาษาอื่นเท่าใดนัก เพียงแค่เราเปลี่ยนวิธีมองหาผลลัพธ์ให้เขียนอยู่ในรูปของข้อจำกัดให้ได้ เท่านี้ก็น่าจะเบิกทางไปสู่การเขียนโปรแกรม MiniZinc ได้ไม่ยาก

รู้จักกับตัวแปร

อย่างที่ได้เห็นในโปรแกรมแรกของเราไปแล้วว่า เราสามารถประกาศตัวแปรขึ้นมาได้เลยโดยไม่ต้องกำหนดค่าตั้งต้น เพียงแค่ไปบอกว่าเราต้องการให้ตัวแปรดังกล่าวเป็นชนิดใดเท่านั้น ในการทำงานเบื้องหลังตัวแปรเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนค่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอค่าที่ตรงกับข้อจำกัด ซึ่งภาษา MiniZinc เรียกตัวแปรเหล่านี้ว่า "ตัวแปรตัดสินใจ" (decision variable)

แต่ยังมีตัวแปรอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่สามารถหรือไม่ควรเปลี่ยนค่า โดยเราอาจจะกำหนดมันขึ้นมาเพื่อย่นระยะเวลาที่ต้องพิมพ์เพราะใช้ค่านั้นบ่อยๆ ใน MiniZinc จะเรียกค่าเหล่านี้ว่า "พารามิเตอร์" (parameter) และประกาศมันได้ด้วยการตัดคำว่า var ออกไป พร้อมทั้งกำหนดค่าให้มันผ่านเครื่องหมาย = ในทันที ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

No Description

หรือเราอาจจะละการกำหนดค่าตั้งต้นให้พารามิเตอร์ลงไปในโค้ดโปรแกรมของเราก็ได้ ซึ่งจะทำให้ MiniZinc ถามเราซ้ำอีกทีตอนรันโปรแกรม ว่าเราต้องการให้พารามิเตอร์ที่ปล่อยว่างทิ้งไว้มีค่าเป็นเท่าไหร่ในการคำนวณครั้งนั้นๆ?

สำหรับชนิดของตัวแปรที่ MiniZinc รองรับ คือ

  • จำนวนเต็ม int มีค่าอยู่ระหว่าง ±(2 31 -2)
  • จำนวนจริง float มีค่าอยู่ระหว่าง ±(10 15 -1) โดยค่าที่เล็กที่สุดที่ทำให้สองค่าแตกต่างกันอยู่ที่ประมาณ 5×10 -324
  • บูลีน bool มีค่าเป็น true หรือ false
  • สายอักขระ string สำหรับข้อความตัวอักษร -- ปัจจุบันตัวภาษายังไม่รองรับความสามารถในการแก้ปัญหาเพื่อหาข้อความตามข้อจำกัด

และจากชนิดตัวแปรข้างต้น เราสามารถนำมาสร้างเป็นตัวแปรชุดได้อีก 2 แบบ ดังนี้

  • เซต set สำหรับเก็บช่วงของค่าที่สนใจ โดยไม่สนใจตำแหน่งหรือค่าซ้ำ
  • อาเรย์ array สำหรับบอกค่าที่สนใจซึ่งผูกผันกับตำแหน่งต่างๆ ในตัวแปรชุด

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการประกาศตัวแปรชุดทั้งแบบเซตและอาเรย์

No Description

สังเกตว่าตัวแปรเซต range = 1..100 นั้น เป็นเซตของตัวเลขที่เป็นไปได้ทั้งหมดเมื่อถูกตรวจสอบด้วยข้อจำกัดแรก 1 <= answer /\ answer <= 100 ด้วยเช่นกัน MiniZinc ยอมให้เราประกาศตัวแปรโดยใช้เซตเป็นขอบเขตได้ทันที

ดังนั้น เราจึงสามารถแก้ไขโปรแกรมแรกของเราได้เป็น

No Description

เขียนข้อจำกัด

ข้อจำกัดใน MiniZinc นั้น ถ้ามองง่ายๆ ก็คงไม่ต่างจากการเขียน if-else หรือ filter ในภาษาที่เราคุ้นเคยเท่าใดนัก เพียงแค่เปลี่ยนตัวดำเนินการให้มีหน้าตาแบบคณิตศาสตร์มากขึ้น เช่น แทนที่จะเขียน && หรือ and ก็เปลี่ยนไปเขียนด้วย /\ แทน

เราสามารถรวบสามข้อจำกัดการหารลงตัวในโปรแกรมตัวอย่างให้เหลือเพียงข้อจำกัดเดียวที่เชื่อมกันด้วย /\ ได้เช่นนี้

No Description

ซึ่งเราคงเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า ทั้งสามพจน์ในข้อจำกัดนี้มีหน้าที่ตาเหมือนกันแทบจะทั้งหมด ส่วนที่ต่างก็เป็นเพียงตัวหารเท่านั้น ทำให้เราสามารถใช้ ตัวบ่งปริมาณทั้งหมด forall มาช่วยกำจัดพจน์ซ้ำๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งจะทำให้เขียนสั้นลงเหลือเพียง

No Description

อนึ่ง สำหรับการเชื่อมกันของตัวดำเนินการแบบหรือ ( \/ ) จะใช้ ตัวบ่งปริมาณบางตัว exists แทนนั่นเอง

หาคำตอบที่ต้องการ

การสั่ง solve satisfy ตามโปรแกรมตัวอย่าง จะคืนคำตอบแรกที่โปรแกรมหาพบและจบการทำงานในทันที

แต่ในการแก้ กำหนดการเชิงเส้น ค่าที่เราสนใจอาจไม่ใช่ค่าใดๆ ที่พบก็ได้ แต่เป็นค่าที่สูงสุด/ต่ำสุด จากค่าทั้งหมดที่ตรงตามข้อจำกัด ซึ่งเราสามารถบอกให้ MiniZinc หาค่าที่ตรงตามเงื่อนไขดังกล่าวได้เช่นกัน

โค้ดต่อไปนี้แก้การหาคำตอบที่สนใจในโปรแกรมตัวอย่าง ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากการทดลองครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา

No Description

พิมพ์ผลลัพธ์จัดให้สวย

สำหรับโจทย์บางข้อ การไม่ใช้คำสั่ง output เพื่อจัดผลลัพธ์เอง ก็จะพิมพ์คำตอบออกมาได้อ่านง่ายพอสมควรอยู่แล้ว แต่หากต้องการจัดรูปแบบผลลัพธ์ ก็สามารถทำได้โดยส่งอาเรย์ของข้อความตัวอักษรเข้าไป โดยแทนที่ตัวแปรที่ต้องการแสดงด้วย \(var-name) เช่นนี้

No Description

เวิร์คช็อปเพิ่มความเข้าใจ

เราได้เห็นตัวอย่างง่ายๆ ของการเขียนโปรแกรมใน MiniZinc ไปแล้ว ต่อไปนี้จะขอแนะนำโปรแกรมสำหรับแก้โจทย์ปัญหาที่น่าสนใจ พร้อมเทคนิคการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม

อักษรซ่อนเลข

เกมอักษรซ่อนเลข ( cryptarithmetic ) เป็นเกมที่ให้สมการ (ของเลขฐานสิบ) มาชุดหนึ่ง ซึ่งตัวเลขหลักต่างๆ ในสมการนั้นจะถูกแทนที่ด้วยตัวอักษร คำถามคือให้หาว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีค่าเป็นเท่าใดบ้าง โดยตัวอักษรที่ไม่เหมือนกันจะต้องมีค่าไม่ซ้ำกันด้วย

ตัวอย่างเช่นสมการ SEND + MORE = MONEY นั้นมีค่าเท่ากับ 9567 + 1085 = 10652 นั่นเอง

ซึ่งเราสามารถเขียนเป็นโปรแกรมให้ MiniZinc ไปแก้ปริศนาได้ดังนี้

No Description

ส่วนที่น่าสนใจในโปรแกรมนี้ คือบรรทัดที่ 10-11 ที่เช็คว่าตัวอักษรแต่ละตัวต้องมีค่าไม่ซ้ำกัน

จะเห็นว่าเราสร้างตัวแปรเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้คำนวณข้อจำกัดนี้เพียงข้อเดียว หากเทียบกับการเขียนโปรแกรมโดยทั่วไปแล้ว ก็คงคล้ายกับการประกาศตัวแปรที่ระดับ global นั่นเอง

นี่ไม่ใช่การเขียนโปรแกรมที่ดีเท่าใดนัก และเราสามารถปรับปรุงมันได้โดยการสร้างเพรดิเคต ( predicate ) ซึ่งเปรียบได้กับการเขียนฟังก์ชันที่รับตัวแปรต่างๆ แล้วตอบกลับเป็นบูลีนว่าถูกหรือผิดตามข้อจำกัดที่สนใจ

เราสามารถเปลี่ยนโค้ดข้างต้นให้อยู่ในรูปของเพรดิเคตได้ ดังนี้

No Description

อนึ่ง สังเกตว่าเราใช้ตรรกะ "เมื่อและก็ต่อเมื่อ" ( iff ) เพื่อรับรองว่าสองข้างของตัวเชื่อมจะต้องเป็นจริงพร้อมกันหรือเท็จพร้อมกันเท่านั้น นี่เทียบได้กับเกต XNOR นั่นเอง

ซูโดกุ

เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักเกม ซูโดกุ จากความรู้ MiniZinc ที่ผ่านๆ มา เราอาจเขียนโปรแกรมแก้โจทย์ซูโดกุที่เราสนใจข้อหนึ่งออกมาเป็นไฟล์ sudoku-solver.mzn ได้ดังนี้

No Description

แม้เราจะสามารถเขียนข้อจำกัดของปัญหาได้สั้นกระชับเข้าใจง่าย แต่ส่วนที่ยุ่งเหยิงที่สุดในโปรแกรมกลับกลายเป็นการป้อนข้อมูลแทน สำหรับโจทย์ข้อนี้นอกจากข้อมูลนำเข้าจะยืดยาวแล้ว การค่อยๆ ป้อนตัวเลขตำแหน่งต่างๆ ในตารางทีละตัวยังเสี่ยงต่อการพิมพ์ผิดอีกด้วย

เราอาจแก้โปรแกรมข้างต้น โดยเปลี่ยนบรรทัดที่เป็น constraint t[r,c] = x; ทั้งหมด ไปเป็นพารามิเตอร์ตารางตั้งต้น (ใส่เลข 0 แทนช่องที่ต้องการแก้โจทย์หาตัวเลข) พร้อมเพิ่มกฎการห้ามเปลี่ยนตัวเลขในตารางตั้งต้นที่ไม่ใช่เลข 0 เช่นนี้

No Description

ถึงนี่จะดูง่ายขึ้นมากแล้ว แต่มันก็ยังมีข้อเสียตรงที่ข้อมูลต่างๆ นั้นผูกติดแนบแน่นไปกับไฟล์โปรแกรมของเราอยู่ดี หากเราต้องการแก้โจทย์ซูโดกุเกมอื่น ก็ต้องทำสำเนาไฟล์นี้แล้วค่อยๆ เปลี่ยนค่าตัวเลขในตัวแปร s เอา ทั้งที่ส่วนตรรกะโปรแกรมไม่ได้เปลี่ยนเลยแม้แต่นิดเดียว

ทางออกสำหรับปัญหานี้ คือแยกพารามิเตอร์เฉพาะตัวของโจทย์ข้อนั้นๆ ไปไว้ในไฟล์ .dzn ที่ MiniZinc จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็คือ เราจะสร้างไฟล์ sudoku-input-1.dzn ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาดังนี้

No Description

ส่วนที่ไฟล์โปรแกรม sudoku-solver.mzn ก็จะลบค่าพารามิเตอร์ตั้งต้นของ s ทิ้งไป เหลือไว้แค่การประกาศชนิดตัวแปรของ s เท่านั้นพอ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะเริ่มรันโปรแกรมดังกล่าว (หรือโปรแกรมอื่นใดที่รับข้อมูลนำเข้าเป็นไฟล์) ก็อย่าลืมไปแก้ Configuration ใน IDE ให้ค่าของ Data file ชี้ไปยัง sudoku-input-1.dzn ด้วยนะ

จัดกระเป๋าเดินทาง

ปัญหาการจัดกระเป๋าเดินทาง ( knapsack problem ) กล่าวว่า ให้กระเป๋าเดินทางที่บรรจุน้ำหนักได้จำกัดที่ค่าหนึ่ง และของอีกหลายๆ ชิ้นซึ่งแต่ละชิ้นมีน้ำหนักและมูลค่าแตกต่างกันไป ถามว่าต้องเลือกหยิบของชิ้นใดใส่กระเป๋าบ้าง เพื่อให้ได้มูลค่ารวมของสิ่งของสูงสุด โดยน้ำหนักของสิ่งของที่เลือกต้องไม่เกินน้ำหนักที่กระเป๋าจะรับได้

ปัญหาดังกล่าวสามารถแปลงเป็นข้อจำกัดใน MiniZinc ได้ดังนี้

No Description

ข้อมูลตัวอย่างสำหรับปัญหาการจัดกระเป๋าเดินทาง ที่มีสิ่งของให้ตัดสินใจ 42 ชิ้น

No Description

จากเวลาคำนวณ 12 นาที ผมเข้าใจว่า MiniZinc น่าจะทดลองหยิบของด้วยทุกวิธีที่เป็นไปได้ จนมั่นใจในคำตอบสุดท้ายว่าการหยิบของที่ดีที่สุดคือ

 knapsack = {1,8,9,10,12,15,16,20,21,22,24,25,27,29,32,33,34,38}; 

กำหนดการจำนวนเต็ม

สมมติว่าเราเปิดร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 2 เมนูด้วยกัน คือ

  1. แซลมอนซาซิมิ ราคา 129 บาท วัตถุดิบคือปลาแซลมอน 120 กรัม
  2. แซลมอนซูชิ ราคา 19 บาท วัตถุดิบคือปลาแซลมอน 15 กรัม และข้าว 10 กรัม

เราต้องการหา ว่าการขายอาหารแต่ละเมนูเป็นจำนวนเท่าใด ถึงจะให้รายได้สูงที่สุด?

หากตอนเริ่มต้นของวันเรามีวัตถุดิบคือแซลมอน 5 กิโลกรัม และข้าว 2 กิโลกรัม เมื่อนำเงื่อนไขต่างๆ มาเขียนมาเขียนเป็นระบบอสมการ จะได้

No Description

เมื่อพล็อตระบบอสมการออกมาดู ก็จะเห็นหน้าตาของบริเวณที่เป็นไปได้ ( feasible region ) ซึ่งก็คือบริเวณที่อยู่ด้านใต้ของเส้นทุกเส้น (ยกเว้นเส้นแกน) เช่นนี้

No Description

เส้นสีน้ำเงินแทนอสมการแรก และเส้นสีแดงแทนอสมการที่สอง

แน่นอนว่าเราคงไม่ขายอาหารแค่ครั้งละครึ่งจาน เราจึงต้องหาคำตอบด้วยกำหนดการจำนวนเต็ม ( integer programming ) ซึ่งสามารถเขียนเป็นโปรแกรมได้ดังนี้

No Description

ซึ่งจะให้คำตอบว่า เราควรขายซาซิมิ 17 ชุด และซูชิ 197 คำ ซึ่งจะทำให้มีรายรับสูงที่สุดที่ 5,936 บาท

สรุป

จากตัวอย่างต่างๆ ที่ได้เห็นกันไปนั้น แม้ MiniZinc จะไม่ได้เลือกอัลกอริทึมที่รวดเร็วที่สุดมาแก้ปัญหาก็ตาม แต่ด้วยไวยกรณ์และวากยสัมพันธ์ของมัน ก็ทำให้การเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจสอบโมเดลทางคณิตศาสตร์ต่างๆ เป็นไปได้อย่างเรียบง่าย รวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดต่างๆ ที่พบเจอได้ง่ายในภาษายุคเก่า

นอกจากนี้ การที่ตัวภาษาซ่อนรายละเอียดทางเทคนิคโปรแกรมมิ่งไปเกือบหมด และเลือกแต่ส่วนที่เป็นตรรกะคณิตศาสตร์พื้นฐานมาให้ใช้ ก็น่าจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีพื้นด้านการเขียนโปรแกรมมาก่อน สามารถสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งผมคิดว่านี่คือประโยชน์ที่แท้จริง เพราะเราสามารถนำมันไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในโลกจริงได้อย่างมากมาย

สำหรับนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญอัลกอริทึมแล้ว แม้ว่า MiniZinc จะไม่ได้ช่วยให้เขียนโปรแกรมที่ทำงานได้เร็วขึ้นก็ตาม แต่ผมคิดว่าการเขียนโปรแกรมในยุคที่ 5 ที่เป็นเชิงตรรกะและข้อจำกัด ก็เป็นแนวคิดที่มีคุณค่าให้ศึกษาไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งเมื่อดูคู่ไปกับเทรนด์ปัญญาประดิษฐ์แล้ว นี่น่าจะเป็นอนาคตของการเขียนโปรแกรมในยุคหน้าอย่างแน่นอน

Get latest news from Blognone

Comments

By: torataro
Android Windows
on 24 November 2018 - 18:31 #1083628

น่าสนใจมาก ขอบคุณครับ

By: gab
Windows Phone Android Windows
on 26 November 2018 - 12:16 #1083806 Reply to:1083628
gab's picture

+1 ขอบคุณด้วย

By: gettary
Contributor Android Ubuntu Windows
on 25 November 2018 - 20:08 #1083738
gettary's picture

ขอบคุณครับ น่าสนใจมาก

By: loptar on 26 November 2018 - 10:33 #1083788
loptar's picture

แจ่มแมวเลยครับต้องลองศึกษาดูบ้างละ

By: cruzercruz on 26 November 2018 - 16:42 #1083853

น่าสนใจจนต้องโหลดมาลองเลยครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่แบ่งปันครับ

By: whitebigbird
Contributor
on 26 November 2018 - 16:56 #1083859
whitebigbird's picture

วากยสัมพันธ์ ...

By: X CroSs
iPhone Windows Phone Android Windows
on 26 November 2018 - 17:19 #1083870 Reply to:1083859

สะดุดกับคำนี้เหมือนกัน .... ไม่ได้เห็นนานมาก ดูจากรูปประโยชน์มันน่าจะคือ syntax ป่ะฮะ

By: -Rookies-
Contributor Android WindowsIn Love
on 26 November 2018 - 18:25 #1083878

นับถือในความพยายามอธิบาย เข้าใจง่ายมากครับ ขอบคุณครับ


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: PriteHome
Contributor Android Windows
on 27 November 2018 - 13:58 #1084078 Reply to:1083878
PriteHome's picture

+1

By: whitebigbird
Contributor
on 27 November 2018 - 14:09 #1084080 Reply to:1083878
whitebigbird's picture

ผมลืมขอบคุณ ขอบคุณ @neizod ด้วยครับที่ตั้งใจเขียนมาให้อ่าน

ได้ความรู้ดีครับ เหมือนย่อยข่าวไปในตัวด้วย

By: xanthics on 26 November 2018 - 21:00 #1083901

เห็นอนาคตเลย อีกหน่อยไม่ต้องมีโปรแกรมเมอร์แล้ว

By: semicolonth
Contributor iPhone Android Red Hat
on 27 November 2018 - 16:04 #1084114
semicolonth's picture

นึกถึง Prolog แฮะ


blog.semicolon.in.th

By: PinkPantherZ on 29 November 2018 - 01:37 #1084440

น่าสนใจครับ จะลองไปศึกษาดู

  • ในบทความจริงๆแล้ว Feasible Region นับบริเวณที่อยู่ใต้เส้นแกนด้วยเพราะว่า Implicit Constraints x >= 0 และ y >= 0 ถูกละเอาไว้
By: _Josky on 12 September 2019 - 10:46 #1127882
_Josky's picture

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ...