เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา SpaceX ได้ยิงจรวด Falcon 9 ที่ส่วนหัวเป็นแคปซูล Crew Dragon ขึ้นสู่วงโคจร ต่อมาแคปซูลได้ เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ได้สำเร็จ และคงอยู่ที่ ISS มาอีกห้าวัน
ล่าสุดวันนี้ช่วงบ่ายตามเวลาประเทศไทย แคปซูล Crew Dragon ได้แยกตัวออกจาก ISS และเริ่มเดินทางกลับสู่โลก ใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง โดยก่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมันได้เร่งตัวผลักดัน หรือ thruster เป็นเวลา 15 นาที เพื่อดิ่งเข้าชั้นบรรยากาศ ซึ่งแคปซูลเดินทางเร็วกว่าเสียงและเผชิญกับความร้อนมหาศาล (Elon Musk ให้สัมภาษณ์ว่าเขากังวลกับจังหวะนี้มากที่สุด)
ภาพจังหวะที่แคปซูลแตะพื้นน้ำ
หลังเข้าสู่โลก แคปซูลได้ปล่อยร่มชูชีพเล็ก (drogue chute) สำหรับชะลอความเร็วในขั้นแรก และค่อยๆ ปล่อยร่มชูชีพหลัก 4 ตัวในระยะถัดมา ทำให้แคปซูลมีความเร็วลดต่ำลงมาก และลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในที่สุด โดยจุดที่แคปซูลตกนั้นห่างจากชายฝั่งฟลอริดาราว 370 กิโลเมตร ต่อมาเจ้าหน้าที่ SpaceX ก็เข้าไปปลดร่มชูชีพออกจากแคปซูล พร้อมเรือของ SpaceX ชื่อ Go Searcher ก็ได้แล่นเข้าไปเก็บแคปซูลขึ้นจากน้ำ
ภาพจังหวะที่แคปซูลปล่อยร่มชูชีพเล็ก
ภาพจังหวะที่แคปซูลค่อยๆ ลดระดับลงมาด้วยร่มชูชีพหลัก
ต่อจากนี้นาซ่าจะรวบรวมผลจากภารกิจนี้ ซึ่งข้อมูลสำคัญคือข้อมูลจากเซ็นเซอร์จำนวนมากที่ติดอยู่กับหุ่นจำลองในแคปซูลชื่อ Ripley เสมือนเป็นมนุษย์จริงว่าจะรู้สึกอย่างไร รวมถึงเดือนหน้า SpaceX จะทำภารกิจยิงแคปซูลอีกครั้ง แต่เป็นการทดสอบระบบยกเลิกภารกิจฉุกเฉินหากจรวดเกิดปัญหาระหว่างการเดินทางออกนอกโลก โดยเครื่องยนต์ของแคปซูลจะผลักให้ตัวเองหนีห่างออกจากจรวดนั้น
หากภารกิจเดือนหน้าสำเร็จอีก นาซ่าจะส่งนักบินอวกาศ 2 คนโดยสารไปกับแคปซูลเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมปีนี้
ปัจจุบันหากนาซ่าต้องการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติจะต้องไปใช้บริการจรวด Soyuz ของรัสเซีย ซึ่งคิดค่าบริการราว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคน โดยสหรัฐอเมริกาไม่เคยส่งนักบินอวกาศเองมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว
Crew Dragon is on SpaceX’s recovery vessel—completing the spacecraft’s first test mission! pic.twitter.com/6K0qgnHd4O
— SpaceX (@SpaceX) March 8, 2019
Comments
ไหม้เลย แล้วอย่างพวก BFR, Starship เนี่ยจะให้ใช้ซ้ำได้ไวๆ จะทำได้จริงหรอ เดินทางข้ามทวีปงี้ แล้วดางอังคารที่ยิงไปจากโลกแล้วเข้าดาวไปจอดแล้วเดินทางกลับโลกไหม้สองรอบไหมเนี่ย
และก็แอบรอที่ แคปซูล Crew Dragon จะลงจอดแบบไม่ใช้ร่มชูชีพ หรือ NASA ไม่ให้ทำหว่า
Elon บอกว่าไม่ทำแล้วครับ เพราะว่าขั้นตอนการรับรองจะยากกว่ามาก แบบมีเครื่องยนต์ให้ลงจอดได้ไม่ต้องใช้ร่มชูชีพน้ำหนักจะเพิ่มเยอะมากจน helicopter แบกขึ้นไปลองปล่อยไม่ไหว ต้องใช้จรวดยิงขึ้นไปจริง ตอนแรกกะว่าจะเอาใส่ของไปส่งสถานีอวกาศแล้วขากลับค่อยทดลองจอด แต่ก็ทำไม่ได้อีกเพราะถ้ายังไม่ผ่านรับรองเค้าก็กลัวจะทำของที่ใส่ไปเสียหาย
ออ ขอบคุณครับ เพราะ NASA ส่วนหนึงด้วยนี่เอง แต่เคยอ่านๆ ในนี้มั้งหรือเจอเว็บข้างนอก นึกว่าแบบใช้ร่มชูชีพต้องทำให้ยานมีโครงสร้างแข็งแรง ใช้เครื่องจรวจจอดประหยัดดีกว่า ฮ่าๆ
ล่าสุดอัพเดทมา ปรับแผนเป็นระบบลงจอดสำรองในกรณีที่ร่มหลักเสีย แต่ทั้งนี้ยังต้องใช้ drag chute อยู่ดี และอาจทดสอบในขากลับจาก Cargo mission
ที่ไหม้นั่นสีทาเฉยๆ Star Ship เปลี่ยนไปใช้แสตนเลยแล้วจะไม่ทาสี ดังนั้นเลยไม่มีอะไรให้ไปใหม้ แถมใช้ Regenerative cooling เลยไม่มี Heatshield ให้ไปซ่อม ที่น่ากังวลจริงๆจะเป็นการอุดตันของท่อหล่อเย็นแต่นั่นก็แก้ได้ง่ายๆ
Regenerative cooling นี่เป็นระบบหล่อเย็น เอาไว้ระบายความร้อน ใช่เปล่าครับ เลยไม่ต้องใช้ heat shield ที่ทนๆ เหมือนเอาไนโตรเจนเหลว หรือ น้ำมาระบายความร้อยไรงี้
ใช้มีเธนเป็นตัวทำความเย็น ตัวถังยานจะใช้เป็นแสตนเลส 2 ขั้นซ้อนกัน โดนชั้นนอกจะมีรูเล็กๆให้มีเธนเหลวซึมออกมาได้ หลักการจะคล้ายๆเหงื่อออก และเป็นไปได้ว่าวิธีนี้อาจทำให้เกิดม่านพลาสมาคลุมผิวยานกันความร้อนจากภายนอกอีกทีหนึ่ง Heatshield อาจยังจำเป็นที่ส่วนข้อต่อต่างๆกับส่วนครีบ แต่ดูเหมือนว่าจะใช้เป็นโลหะที่ทนความร้อนสูงทำส่วนนั้นไปเลยมากกว่ามีอะไรมาโปะอีกที
Capsule ปลดร่มชูชีพเองหลังลงน้ำเรียบร้อยครับ จะได้ไม่โดนร่มลากไปต่อ เจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นคนเข้าไปปลด