ทีมนักวิจัยจาก Norwegian University of Science and Technology (NTNU) เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องผลกระทบจากวิดีโอเกมที่มีต่อพัฒนาการด้านสังคมของเด็กในช่วงอายุ 6-12 ปี โดยสรุปผลการศึกษาว่าการเล่นวิดีโอเกมไม่ได้ส่งผลเสียต่อพัฒนาการดังกล่าว
ทีมวิจัยของ NTNU ได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กชาวนอร์เวย์อายุ 6 ปี จำนวน 873 คน ซึ่งมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวที่หลากหลาย โดยแรกเริ่มผู้ปกครองของเด็กๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาการเล่นเกมของเด็กในตอนที่มีอายุ 6 ปี และตอนครบ 8 ปี และเด็กๆ ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้รายงานข้อมูลด้วยตนเองในตอนที่มีอายุครบ 10 ปีและครั้งสุดท้ายตอน 12 ปี
ทีมวิจัยได้รับความร่วมมือจากครูผู้สอนเด็กๆ กลุ่มตัวอย่างที่โรงเรียน ซึ่งช่วยประเมินความสามารถในการเข้าสังคมให้กับเด็กๆ ทั้งเรื่องความสามารถในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น, ความกล้าแสดงออก และการควบคุมตนเอง เพื่อนำผลการประเมินเรื่องความสามารถในการเข้าสังคมมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเรื่องพฤติกรรมการเล่นวิดีโอเกมของพวกเขา โดยผลการศึกษามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- พัฒนาการด้านทักษะการเข้าสังคมของเด็กผู้ชายนั้นไม่มีความเชื่อมโยงกับความถี่ที่เด็กเล่นวิดีโอเกม
- ในบรรดาเด็กผู้ชายของกลุ่มตัวอย่าง เด็กที่มีทักษะการเข้าสังคมน้อยในช่วงอายุ 6 ปี และ 8 ปี มีแนวโน้มว่าจะเล่นวิดีโอเกมมากขึ้นในตอนที่พวกเขามีอายุมากขึ้น
- เมื่อพิจารณากลุ่มเด็กผู้หญิงตอนอายุ 10 ปี เด็กๆ ที่เล่นวิดีโอเกมบ่อยครั้งกว่าในช่วงวัยดังกล่าว เมื่อโตขึ้นมาจนมีอายุ 12 ปี มีความสามารถในการเข้าสังคมน้อยกว่าเด็กผู้หญิงที่เล่นเกมน้อยกว่า
ทีมวิจัยสรุปผลการศึกษาโดยมีความเห็นว่า พฤติกรรมการเล่นวิดีโอเกมบ่อยครั้งไม่ใช่ตัวขัดขวางการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของเด็กๆ โดย Beate Wold Hygen นักวิจัยหลังปริญญาเอกผู้เป็นหัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "ผลการศึกษาของเราอาจช่วยให้คลายความกังวลลงได้เรื่องที่ว่าการเล่นเกมจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก"
กลับกันทีมวิจัยคิดว่าการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมได้น้อยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กใช้เวลากับวิดีโอเกมมากขึ้น โดย Lars Wichstrøm ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ NTNU ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานวิจัยให้ความเห็นว่า "เด็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมอาจมีแนวโน้มที่จะเล่นเกมมากขึ้นเพื่อเติมเต็มความรู้สึกของตนเอง ทั้งเรื่องความต้องการที่จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและความรู้สึกของการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสำหรับพวกเขาแล้ว การเล่นเกมนั้นเข้าถึงได้ง่ายกว่าและมีความซับซ้อนน้อยกว่าการมีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้ากับผู้อื่น"
ที่มา - Interesting Engineering , เอกสารงานวิจัย
Comments
จุดน่าสนใจ งานวิจัยนำปัจจัยต่างๆเหล่านี้มาประกอบ
ซึ่งผมมองว่า ใช่เลย เลือก factor ที่มีความเกี่ยวข้องกันมาดูได้ถูก เพราะมันมีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นนัยยะสำคัญต่อความสามารถในการเข้าสังคมของเด็ก (เอะ พูดเหมือนมีประสบการณ์ ฮา)
อุ๊ฟ ความจริงถูกกล่าวออกมา
ที่เด็กเล่นวิดีโอเกม
แก้แล้วครับขอบคุณครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")