กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice) ร่วมกับอัยการใหญ่อีก 11 รัฐ ยื่นฟ้องกูเกิลข้อหาผูกขาดบริการค้นหาและโฆษณาบนระบบค้นหา (search advertising) อย่างเป็นทางการ
ประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมชี้ว่ากูเกิลมีพฤติกรรมผูกขาด คือการที่กูเกิลไปเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับบริษัทต่างๆ (เช่น เบราว์เซอร์ สมาร์ทโฟน และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในสหรัฐ) เพื่อให้ตัวเองเป็นเครื่องมือค้นหาหลัก โดยจ่ายเงินจำนวนเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปี และในสัญญาบางฉบับมีเงื่อนไขห้ามติดตั้งเครื่องมือค้นหาของคู่แข่ง ส่งผลให้ไม่มีบริษัทใดขึ้นมาแข่งขันกับกูเกิลได้เลย
ในบางกรณี เช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ยังเจอสัญญาบีบให้ติดตั้งแอพของกูเกิล (gapps) ทั้งชุด และต้องนำเสนอแอพของกูเกิลในตำแหน่งที่เด่นที่สุดด้วย
กระทรวงยุติธรรมชี้ว่าปัจจุบันกูเกิลครองส่วนแบ่งตลาด search ในสหรัฐประมาณ 80% ซึ่งสัดส่วน 60% มาจากสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟเหล่านี้ ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากพื้นที่ของกูเกิลเอง (เช่น Chrome)
กูเกิลยังใช้ข้อได้เปรียบเรื่องส่วนแบ่งตลาดมหาศาล สร้างรายได้จากโฆษณาบนหน้าผลการค้นหา (search engine results page หรือ SERP) มูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และนำรายได้ก่อนนี้ไปจ่ายเป็นค่าสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟข้างต้น ทำให้คู่แข่งที่เป็น search รายอื่น (เช่น Bing หรือ DuckDuckGo) ไม่มีทางจ่ายเงินสู้กับกูเกิลได้
ฝั่งกูเกิลเองก็ออกมาตอบโต้คำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ โดยระบุว่าคดีนี้มีจุดบกพร่อง (flawed lawsuit) เช่น สัญญาที่กูเกิลทำกับแอปเปิลไม่ได้เป็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟ อุปกรณ์ของแอปเปิลมีเครื่องมือค้นหาอื่นๆ อย่าง Yahoo และ Bing ที่จ่ายเงินให้แอปเปิลด้วยเช่นกัน แต่แอปเปิลเลือกกูเกิลมาแสดงเป็นอันดับแรก เพราะเครื่องมือของกูเกิลนั้น "ดีที่สุด" ต่างหาก หรือ กรณีของ Microsoft Edge ที่พ่วงมากับ Windows และใช้เครื่องมือค้นหาเป็น Bing ตั้งแต่แรก
คดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลเขต District of Columbia ซึ่งถัดจากนี้ไปจะเข้ากระบวนการของศาลที่จะไต่สวนต่อไป โดยกูเกิลก็ระบุว่าพร้อมชี้แจงและอธิบายต่อศาล
สิ่งที่น่าสนใจคือ กระทรวงยุติธรรมเปรียบเทียบคดีผูกขาดของกูเกิลรอบนี้ เหมือนกับคดีผูกขาดที่ไมโครซอฟท์โดนในปี 1998 (กรณี Netscape ซึ่งจบด้วยไมโครซอฟท์ยอมความ) และคดีผูกขาดของ AT&T ในปี 1974 (จบด้วย AT&T โดนแยกบริษัท)
ที่มา - Department of Justice , คำฟ้องฉบับเต็ม , คำตอบโต้จากกูเกิล , ภาพจาก กูเกิล
Comments
ผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจมาตลอดว่าการจ่ายเงินให้ platform อื่น ๆ เอา search engine ของตัวเองเป็นค่าเริ่มต้น น่าจะเข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาด เช่น จ่ายให้ Firefox, Apple เป็นต้น เพราะ Google มีส่วนแบ่ง search engine สูงมาก
That is the way things are.
น่าสนใจว่าหุ้นขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า Alphabet จะรอด แต่หมายถึงว่าเป็นสถานการณ์วินวินสำหรับผู้ถือหุ้น คือถ้า Alphabet รอดก็ businsess as usual แต่ถ้าต้องแตกบริษัท ผู้ถือหุ้นก็จะได้หุ้นจากบริษัทใหม่ต่างๆ ที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าอยู่รวมกัน
สรุปสั้นๆ รัฐฟ้องกูเกิล กูเกิลบอก ไม่จริงขอข้าดีที่สูดแล้วอ้าง เจ้าอื่น จบ