ในงาน AIS Business Digital Future 2021 ที่ผ่านทาง AIS Business ผู้นำโซลูชันดิจิทัล แก่กลุ่มองค์กรนำเสนอแนวคิด Your Trusted Smart Digital Partner โดยเปิดช่องทางให้พันธมิตรสำคัญของ AIS ทำงานร่วมกันกับธุรกิจต่างๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะในยุค Digital Transformation
และหนึ่งในหัวข้อที่พลาดไม่ได้ของงานคือหัวข้อ Enterprise 5G Private Network & Edge Computing การพูดคุยเพื่อหาคำตอบว่าความสามารถใหม่ๆ ของเครือข่าย 5G จะช่วยสนับสนุน Digital Transformation สำหรับภาคธุรกิจได้อย่างไร ผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อนี้ ได้แก่ AIS ในฐานะผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไทย, Bosch Thailand บริษัทผู้ให้บริการโซลูชัน Industry 4.0 และ SNC Former จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่อีอีซี มาแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาร่วมกัน
5G ดีกว่า 4G, 3G หรือแม้กระทั่งเครือข่าย Wi-Fi อย่างไร
คุณอัศนีย์ วิภาตเวท Head Of Enterprise Telecom Technology Product Department จาก AISระบุถึงความแตกต่างระหว่าง 5G กับเครือข่ายในปัจจุบันอย่าง 4G, 3G ว่า 5G มีแบนด์วิธที่มากกว่า และความหน่วงต่ำกว่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการนำไปปรับใช้กับระบบ Automation ในโรงงานอุตสาหกรรม
5G ยังสามารถรองรับเครือข่ายอุปกรณ์ IoT ในปริมาณมาก แม้เครือข่าย 4G, 3G จะสามารถใช้งานได้เหมือนกันระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีอุปกรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับ Smart City เครือข่ายเดิมๆ ก็อาจจะรองรับไม่ไหวอีกต่อไป การลงทุนกับอุปกรณ์ IoT จึงควรพิจารณาถึง 5G เพื่อการขยายตัวในอนาคต
และเมื่อเปรียบเทียบ 5G กับเครือข่ายประเภท Wi-Fi นั้น 5G มีเสถียรภาพสูงกว่าเพราะใช้ช่องสัญญาณที่ผ่านการประมูล (licensed band spectrun)มาใช้ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตอย่าง AIS สามารถจัดการช่องสัญญาณให้มีคุณภาพดี สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากช่องสัญญาณที่สามารถใช้งานได้เสรี (unlicensed band) ที่แม้จะไม่ต้องเสียค่าใช้งานช่องสัญญาณ แต่ในโลกความเป็นจริงเราก็พบปัญหาอุปกรณ์ใช้งานจำนวนมากจนอุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมต่อเครือข่ายไม่ได้อยู่เสมอๆ
นอกจากนี้ 5G ยังเหมาะแก่การใช้งานกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถย้ายข้ามพื้นที่ จากสถานีฐานหนึ่งไปอีกสถานีฐานหนึ่ง จึงรองรับการใช้งานในพื้นที่กว้างได้ดีกว่า Wi-Fi และเทคโนโลยีแบบสาย Fiber Optic ตัวอย่างเช่นงานเครื่องจักรที่ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งในสายการผลิต, งาน Logistics ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นงานที่เหมาะกับการใช้ 5G ได้เป็นอย่างดี ลดงบประมาณและประหยัดเวลาในการออกแบบสายการผลิตใหม่ หรือเดินสายใหม่ให้ยุ่งยาก
"หัวใจสำคัญของการสนับสนุน Transformation ในธุรกิจ คือการเข้าใจ Pain และความต้องการของลูกค้า เพราะเราไม่สามารถทำงานอยู่คนเดียวที่ส่วนกลาง การทำงานร่วมกันระหว่างเอไอเอส, Partner และลูกค้าจะทำให้เราก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลได้" คุณอัศนีย์กล่าว
5G กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย Smart Manufacturing
Mr. Joseph Hong, Managing Director จาก Bosch Thailand แนะนำถึง Bosch ว่าบริษัทให้บริการโซลูชัน Industry 4.0 และ Smart Manufacturing มาตั้งแต่ปี 2011 มียอดขายในโซลูชัน Industry 4.0 รวมทั่วโลกถึง 4 พันล้านยูโรหรือประมาณ 150,000 ล้านบาท ในปี 2020 และยังสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 700 ล้านยูโรหรือประมาณ 27,000 ล้านบาทในส่วนของโซลูชัน Connected Manufacturing
คุณ Josep เล่าถึงประโยชน์ของ Smart Manufacturing ที่กลุ่มอุตสาหกรรมจะได้คือโซลูชันเหล่านี้สามารถเพิ่ม Productivity หรือกำลังการผลิตได้ถึง 25%, เพิ่มระยะเวลาทำงาน (availability) ของเครื่องจักรได้มากกว่า 15%, ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้มากกว่า 25%
โดยโครงข่าย 5G นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการนำเครือข่ายไร้สายมาใช้กับงานที่สำคัญยิ่งยวด (critical application) ของโรงงานต่างๆ อาทิ ระบบควบคุมเครนจากระยะไกล, รถไร้คนขับในโรงงาน (automated guided vehicles - AGV), augmented reality (AR) เป็นต้น โดยตอนนี้ Bosch ได้ทดสอบเครือข่าย 5G แบบเฉพาะพื้นที่ (5G Private Network) ที่จะใช้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับ AIS เฟสแรกที่โรงงานในจังหวัดระยอง พบว่าเทคโนโลยีและเครือข่าย 5G ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน, ลดการใช้พลังงาน และลดระยะเวลาหยุดการผลิต (downtime) ตลอดทั้งสายการผลิตได้เป็นอย่างดี ซึ่ง 5G ช่วยให้สามารถจัดการกับข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้นในสายการผลิตได้แบบ Real-time ทำให้ Bosch มองว่า 5G จะเป็นเสมือนเส้นประสาทสำคัญของ Smart Factory ในอนาคต
“5G คือมาตรฐานการสื่อสารใหม่ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ Smart Factory ในอนาคต ผู้ที่ปรับตัวไม่ทัน มีความเสี่ยงที่จะตกขบวนในอนาคต” Mr. Joseph กล่าว
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ 5G Private Network ของ AIS เพื่อใช้ในโรงงาน SNC Former บริษัทสัญชาติไทยผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์
คุณสมชาย งามกิจเจริญลาภ Managing Director บริษัท SNC Former จำกัด (มหาชน)เล่าภาพรวมให้รู้จักบริษัทมากขึ้นว่า บริษัทได้เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในรถยนต์ โดยใช้ความได้เปรียบจากค่าแรงที่ต่ำกว่า แต่เมื่อสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป แต่ละบริษัทนำเอาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมาใช้ ทาง SNC จึงต้องปรับตัว ด้วยการหาเทคโนโลยีและโซลูชัน Smart Manufacturing เข้ามาใช้ โดยยึดแนวคิดหลักคือการเชื่อมต่อเครื่องจักร คน และข้อมูลเข้าด้วยกัน
ช่วงสองปีที่ผ่านมา SNC Former ได้ร่วมมือกับ AIS ในการนำ 5G เข้ามา ตั้งเสา 5G ที่โรงงานในระยอง เปิดทางให้สามารถนำเทคโนโลยีใหม่อย่างหุ่นยนต์และอุปกรณ์ IoT เข้ามาเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G ในโรงงาน เพื่อช่วยเติมเต็มการทำงานให้เป็น Smart Manufacturing อย่างสมบูรณ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
"อนาคตข้างหน้าเราฝันว่า จะมีโรงงานที่พนักงานเราทำงานจากที่ไหนก็ได้ เป็นโรงงานปิดไฟมืด มีแต่เครื่องจักรที่ทำงาน วิศวกรก็ดี ผู้บริหารก็ดี นั่งอยู่ข้างนอก นั่งจิบกาแฟ มีปัญหาก็แก้ไขผ่านมือถือ" คุณสมชายกล่าว
5G ไม่ได้มีแค่ประโยชน์แค่เชื่อมต่อข้อมูลแต่ยังรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่
5G ช่วยเรื่องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ในความหน่วงต่ำ และการทำงานเรียลไทม์ แต่ประโยชน์ด้านการเชื่อมต่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ 5G จะช่วยขับเคลื่อนองคาพยพของโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรม
คุณอัศนีย์ วิภาตเวท จาก AIS เล่าถึงโครงสร้างที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี 5G ได้แก่ Edge Computing ที่เปิดทางให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผลบนโครงข่าย 5G ในพื้นที่ที่ใกล้กับความต้องการใช้งาน เช่น การตั้งศูนย์ข้อมูลในนิคมอุตสาหกรรม ช่วยให้ใช้งานได้เหมือนคลาวด์ที่โรงงานไม่ต้องดูแลเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ด้วยตัวเอง แต่การยังได้เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ใกล้หรือแม้แต่อยู่ในพื้นที่ของโรงานเอง และ 5G ยังเปิดทางผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถสร้างเน็ตเวิร์คที่มีความปลอดภัยสูง แยกเน็ตเวิร์คออกสำหรับลูกค้าแต่ละรายเป็นส่วนตัวเหมือนเป็นเน็ตเวิร์คของตัวเอง (Private Network)
สรุป
ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 2-3 ปีก่อน คำว่า 5G ดูเป็นอนาคตไกลตัว แต่ในวันนี้เราได้เห็นแล้วว่า 5G กับการใช้งานในพื้นที่จริงและช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไรบ้าง
ก้าวต่อไป 5G ของ AIS คือ การสร้างความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้าว่าลูกค้ามีความต้องการและรายละเอียดทางธุรกิจแบบไหน และมี pain point ตรงไหนบ้าง ซึ่ง AIS มีทีมงานที่จะเข้าไปทำงานกับลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าองค์กรได้เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัลได้ ไม่ว่าลูกค้าจะมาจากอุตสาหกรรมใดก็ตาม
ผู้ที่สนใจบริการจาก AIS Business สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลองค์กรของท่าน หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ AIS Business
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ