Elon Musk CEO ของ SpaceX ได้เปิดเผยในรายการ “Everyday Astronaut” ว่า ดาวเทียม Starlink รุ่นใหม่ หรือ Starlink 2.0 จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิม มีกำลังมากขึ้น และยังถูกออกแบบให้สามารถที่เพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตพื้นที่ห่างไกลได้อีกด้วย
ณ ขณะนี้ SpaceX ได้เริ่มทำการผลิต Starlink 2.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยดาวเทียมรุ่นใหม่นี้จะมีความสูง 7 เมตร หนักประมาณ 1.25 ตัน ซึ่ง Musk ระบุว่า เมื่อเทียบกับ Starlink รุ่นเดิมนั้น จะมีประสิทธิภาพมากกว่าอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดและน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้ Starlink 2.0 จะไม่สามารถที่จะใช้จรวด Falcon 9 ในการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้เหมือนกับ Starlink รุ่นเดิม แต่จะเปลี่ยนไปใช้ “Starship” จรวดอวกาศรุ่นใหม่ที่ทาง SpaceX กำลังพัฒนาอยู่ ทว่ากำลังประสบปัญหายังไม่สามารถปล่อยจรวดออกไปทดสอบได้เนื่องจากติดเงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) ทั้งนี้ ตามรายงานล่าสุด Starship อาจจะผ่านการอนุมัติและเริ่มทดสอบได้ในช่วงเดือน มิถุนายน
“เราต้องการให้ Starship ได้ทำงานและบินบ่อย ๆ ไม่เช่นนั้น Starlink ก็จะคาอยู่บนพื้น” Musk กล่าว
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานก็แสดงความกังวลต่อการขึ้นสู่วงโคจรของ Starlink 2.0 เช่น NASA ได้ออกหนังสือแสดงความกังวลว่าดาวเทียม Starlink มีโอกาสที่จะชนเข้ากับดาวเทียมของ NASA ที่อยู่บนวงโคจรอยู่แล้ว
ในเวลานี้ มีดาวเทียมของ SpaceX ขึ้นสู่วงโคจรแล้วทั้งสิ้น 2,300 ดวง และ Elon Musk มีเป้าหมายในการสร้างหมู่ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตที่ประกอบไปด้วยดาวเทียมกว่า 42,000 ดวง
นอกจากนี้ นักวิจัยทางด้านการทหารของจีนยังได้ทำการร่างเสนอว่า ควรมีอาวุธเพื่อทำลาย Starlink ในฐานะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของจีนอีกด้วย
ที่มา - GIZMODO
Comments
อนุมัติ
หน่วยงาน
เรามีคำถามว่าทำไม Starlink ถึงใช้ดาวเทียมโคจรรอบโลกเยอะจัง เรารู้แต่ว่า Iridium ใช้เพียง 70 กว่าดวงก็มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วโลกแล้ว หรือว่าที่ Starlink ใช้ดาวเทียมเยอะก็เพื่อกระจายงานย่อย ๆ ออกไปจนทำให้แบนวิดการสื่อสารสูงขึ้นเหรอ?
ส่วนนึงก็คือ วงโคจรต่ำกว่าครับ ถ้าวงโคจรสูงๆ ใช้ดาวเทียมไม่กี่ดวงก็ครอบคลุมแล้ว แต่ Starlink วงโคจรต่ำมาก ต่ำกว่า Iridium อีก เพราะต้องการให้ความหน่วง (latency) ต่ำลงจากระยะทางที่ลดลง และก็มีเรื่องของการบีบลำสัญญาณให้แคบลง เพื่อลดการรบกวนและให้มี bandwidth ของระบบสูงขึ้น ผลก็คือ ต้องใช้ดาวเทียมมากขึ้นเพื่อครอบคลุมครับ
iPAtS
สำคัญที่สุดคือเรื่อง Latency ครับ เพราะเป็นปัญหาทางฟิสิกส์ (ความเร็วแสง)ดาวเทียมที่อยู่สูงๆจะโคจรช้าและครอบคลุมพื้นที่มากกว่า แต่สัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับ นาน
starlink เลยเอาดาวเทียมไปไว้ในระดับที่เรียกว่าแทบจะต่ำที่สุดเท่าที่ดาวเทียมจะอยู่ในวงโคจรได้แล้ว เพื่อให้สัญญาณใช้เวลาน้อยที่สุดซึ่งพออยู่ต่ำขนาดนี้ ดาวเทียมจะโคจรเร็วมาก และครอบคลุมผิวดินน้อยมากด้วย เลยต้องส่งขึ้นไปให้ครอบคลุมพื้นที่ครับ
bandwidth ก็มีส่วน แต่ไม่ใช่ปัจจัยใหญ่นัก
อ๋อ... แบบนี้นี่เอง เราขอบคุณทุกคนที่ไขข้อสงสัยให้นะ :D
น่าจะปล่อยได้ทีละเกือบ 100 ตัวเลยนะถ้า starship สมบูรณ์