นักวิจัยจาก KAIST พัฒนาหมึกเพนต์ตัวแบบพิเศษที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้าและยึดเกาะผิวหนังร่างกายได้ดี โดยมันสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในการวาดลายเพื่อใช้เป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดคลื่นสัญญาณต่างๆ ของร่างกาย ทดแทนการใช้แผ่นวัสดุเซ็นเซอร์มาเกาะติดผิวหนัง
หมึกพิเศษนี้มีส่วนประกอบของโลหะเหลวที่มีแกลเลียม (Ga) เป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ผสมกับอนุภาค carbon nanotube โดยหมึกดังกล่าวสามารถใช้งานด้วยการทาลงบนผิวหนังโดยตรงแล้วรอให้แห้งภายในไม่กี่วินาทีก็พร้อมใช้งาน
หมึกเพนต์จะแห้งและยึดเกาะผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถทาลงบนผิวหนังได้โดยตรง และสามารถเขียนเป็นลวดลายที่มีความละเอียดก็ได้
ศาสตราจารย์ Steve Park หนึ่งในทีมวิจัยได้สาธิตการทดสอบใช้งานหมึกเพนต์ตัวนี้ โดยเขาทาหมึกดังกล่าวลงบนผิวหนังแล้วเชื่อมต่อสายสัญญาณเข้ากับเครื่องมือวัด ก็สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ โดยหมึกพิเศษนี้ยังใช้งานเพื่อเป็นเซ็นเซอร์สำหรับวัดค่าอื่นๆ อาทิ ปริมาณน้ำตาลกลูโคส, การทดสอบปริมาณแลคเตท
ชั้นฟิล์มของหมึกเมื่อแห้งแล้วมีความคงทนและยืดหยุ่น ไม่หลุดล่อนแม้มีการขยับร่างกายจนผิวหนังเกิดรอยย่น สามารถประยุกต์ใช้งานเป็นเซ็นเซอร์เพื่อวัดสัญญาณต่างๆ ในร่างกายได้หลากหลาย
Park อธิบายว่าการพัฒนาหมึกพิเศษนี้ เป้าหมายหลักคือเพื่อใช้งานแทนแผ่นเซ็นเซอร์แบบแปะผิวหนัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการตรวจรู้สึกสะดวกสบายตัวยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเพนต์หมึกเป็นลวดลายต่างๆ เหมือนรอยสักก็ได้เช่นกันโดยไม่ทำให้ความสามารถในการนำไฟฟ้าของหมึกแย่ลง รอยเพนต์น้ำหมึกนี้สามารถเกาะติดบนผิวหนังได้ดี ไม่ลอกออกเมื่อเปียกน้ำและทนทานต่อการขัดถู แต่ยังสามารถล้างออกได้ด้วยน้ำสบู่
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเอกสารงานวิจัยได้ ที่นี่
Comments
แกลเลียมนี่หาง่ายเหรอครับ คิดจะสั่งมาเล่นอยู่ 😂
ชอบแนวเขียนข่าวคุณ ตะโร่งโต้ง นะครับ ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านข่าวสมัย JuSci ดีครับ 👍