ทีมนักวิจัยจาก French National Centre for Scientific Research (CNRS) ได้พัฒนาเซ็นเซอร์วัดอัตราเร่งแบบ 3 มิติชนิดใหม่ที่อาศัยเลเซอร์และอะตอมของ rubidium (Rb) ที่เย็นจัดจนสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอัตราเร่งได้อย่างแม่นยำทั้ง 3 มิติ จนสามารถนำมาใช้ติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุและยานพาหนะได้แม่นยำถึงขนาดที่สามารถใช้งานกับระบบนำทางโดยไม่ต้องอาศัยการระบุพิกัดด้วยดาวเทียม
ทุกวันนี้เซ็นเซอร์อัตราเร่งชนิดที่ใช้กันนั้นเป็นเซ็นเซอร์แบบเชิงกล ซึ่งก็สามารถนำมาคำนวณเพื่อติดตามการเคลื่อนของวัตถุหรือยานพาหนะและระบุตำแหน่งของสิ่งที่มันใช้ติดตามการเคลื่อนที่ได้ ทว่าความแม่นยำของมันนั้นยิ่งใช้งานไปนานยิ่งทำให้การระบุพิกัดคลาดเคลื่อนผิดไปได้ถึงระดับกิโลเมตร ดังนั้นแล้วการระบุพิกัดตำแหน่งของสิ่งของหรือพาหนะในปัจจุบันจึงอาศัยการสื่อสารกับดาวเทียมระบุพิกัดเช่นระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้การระบุตำแหน่งแม่นยำถูกต้อง
อย่างไรก็ตามใช่ว่าทุกที่และทุกเวลาบนโลกนี้จะสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมระบุพิกัดได้ ในบางครั้งสัญญาณดาวเทียมอาจโดนรบกวนจากคลื่นสัญญาณอื่นๆ หรือบางทีก็ขัดข้องโดยที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด (ดังเช่นในกรณีที่ สัญญาณ GPS บริเวณรอบสนามบินในสหรัฐฯ ขัดข้องนานข้ามวัน ) และยิ่งสำหรับพาหนะอย่างเรือดำน้ำแล้วยิ่งเป็นเรื่องยากซับซ้อนที่จะรับสัญญาณดาวเทียมระบุพิกัด ดังนั้นการพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอัตราเร่งของ CNRS จึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับสถานการณ์เช่นที่ว่านี้
เซ็นเซอร์ของ CNRS ใช้แสงเลเซอร์ยิงไปที่อะตอมธาตุ rubidium ที่ถูกทำให้เย็นลงจนมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงช้าลง ในสภาพดังกล่าวอะตอมเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมเหมือนคลื่นแสงที่มีรูปแบบเฉพาะของการแทรกสอดในระหว่างที่มันเคลื่อนไหว และจุดนี้เองที่มีการใช้แสงเลเซอร์เพื่อตรวจสอบรูปแบบการแทรกสอดที่เกิดขึ้นจนทำให้สามารถรับรู้การเคลื่อนที่ของตัวเซ็นเซอร์ได้ว่ามีการเคลื่อนไหวในทิศทางใด
ขนาดของเซ็นเซอร์ที่ทีมวิจัยสร้างขึ้นนั้นเป็นกล่องที่มีขนาดใกล้เคียงกับเครื่องแลปท็อป ภายในมีอุปกรณ์เลเซอร์ติดตั้งไว้ทั้ง 3 แนวแกนเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอะตอมธาตุ rubidium ที่ถูกกักเก็บอยู่ในกล่องแก้วและถูกทำให้เย็นลงจนมีอุณหภูมิใกล้ ศูนย์สัมบูรณ์ ซึ่งจากการทดสอบของทีมวิจัยพบว่าเซ็นเซอร์วัดอัตราเร่งที่พวกเขาพัฒนาขึ้นใหม่นี้มีความแม่นยำในการตรวจวัดข้อมูลเหนือกว่าเซ็นเซอร์ทั่วไปที่ใช้งานกันอยู่ 50 เท่า
ด้วยขนาดของมันทำให้การใช้งานเซ็นเซอร์วัดอัตราเร่งแบบใหม่นี้ยังไม่สามารถติดตั้งลงในอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนได้ แต่ทว่ามันสามารถนำไปติดตั้งใช้งานในเรือเดินสมุทรหรือเรือดำน้ำได้ หรือหากจะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาทางภูมิศาสตร์เพื่อค้นหาแหล่งแร่ก็ได้เช่นกันโดยอาศัยจากการสังเกตค่าของแรงโน้มถ่วงที่เปลี่ยนไปในแต่ละพื้นที่ซึ่งทำการตรวจวัด ทั้งนี้แรงโน้มถ่วงแต่ละจุดบนโลกนี้อาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับระดับความสูงรวมทั้งแร่ธาตูที่อยู่ในบริเวณนั้น ทว่าความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงอันเนื่องมาจากปริมาณแร่ธาตุสะสมในพื้นที่แต่ละแห่งนั้นอาจน้อยมากจนเซ็นเซอร์ทั่วไปยากจะแยกแยะได้
ผู้ที่สนใจงานพัฒนาเซ็นเซอร์วัดอัตราเร่งแบบควอนตัมของ CNRS นี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
หน้าจอระบบนำทางที่ใช้ในเรือพาณิชย์ (ที่มาภาพ: Hervé Cozanet , CC BY-SA 3.0 )
ที่มา - Interesting Engineering
Comments
อันนี้เท่โพดแต่การใช้พลังงานรักษาอุณหภูมิใกล้ศูนย์สัมบูรณ์เป็นโจทย์ใหญ่กว่าเรื่องขนาดที่จะใช้ในอุปกรณ์พกพานะ 55555555555555
ก็คือ INS ยุคใหม่สินะ คงจะช่วยให้ไม่ต้องจูนกันบ่อยๆ แต่จะถึงกับไม่ต้องพึ่ง GPS อย่างพาดหัวว่าก็คงจะขี้โม้ไปหน่อย
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
เป็น https://www.blognone.com/node/106362 เวอร์ชันอัปเกรดให้ทำงานได้ใน 3 มิติแล้วสินะ
เรือดำน้ำทหารน่าจะชอบเลย ของเดิมใช้ๆ ไปความแม่นลดอีก
แต่จริงยังไงต้องมีจุดเริ่มที่อ้างอิงเปล่านะ ใช้ GPS ตั้งพิกัดจุดก่อน
เรื่องนึงที่สงสัยมาตลอดคือ accelerometer บ้านๆ ที่ใช้กันทุกวันนี้น่าจะแม่นพอสำหรับอาวุธระดับ 200-300km หรือยัง (จรวด v1 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระยะ 250km)
ถ้าได้แล้วแสดงว่าสมัยนี้ maker บ้านๆ ทำอาวุธกันได้สบายเลย
lewcpe.com , @wasonliw
มันจะรับรู้ได้ใช่มั้ยนะถ้าตัวเรือกำลังบังคับเลี้ยวซึ่องตัวเรือเลี้ยว แต่ทิศทางเรือไม่เลี้ยวตามและยังไปทางเดิมอยู่เพราะโดนกระแสน้ำพัด
ถ้าได้นี่แสดงว่ามันบวกลบคูณหารได้ทุกแกน ทุกมิติเลยนะเนี่ย
รวมถึงเรื่องแนงเหวี่ยงแรงกระชากที่น่าจะส่งต่อการคำนวนได้ทุกขณะ
ความรู้สึกผมเหมือนเอา pixel แต่ละจุดมาต่อกันจนเป็นเส้น