AWS Ocean Energy บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ปั่นไฟจากพลังงานคลื่นได้ทดสอบเครื่อง Archimedes Waveswing ซึ่งเป็นทุ่นผลิตไฟฟ้าที่อาศัยพลังงานจากคลื่นใต้น้ำ ได้ผลการทดสอบสามารถผลิตไฟได้กำลังงานไม่ต่ำกว่า 10 kW ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานคลื่น ด้วยจุดเด่นของอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้แม้อยู่ในสภาพอากาศที่เลวร้าย
Archimedes Waveswing เป็นทุ่นผลิตไฟที่ถูกออกแบบให้ติดตั้งยึดโยงไว้ใช้งานในระดับต่ำกว่าผิวน้ำทะเล โดยสามารถใช้ได้กับทะเลบริเวณที่มีความลึกอย่างน้อย 25 เมตร โครงสร้างของมันมีลักษณะคล้ายกระบอกสูบที่กักอากาศไว้ภายใน โครงสร้างที่ว่านี้สามารถยุบตัวได้ตามแรงกดของคลื่นใต้น้ำและจะขยายยืดตัวออกเมื่อแรงที่มากระทำต่อมันลดลง แกนกลางของ Archimedes Waveswing มีกระบอกไฮดรอลิกที่เชื่อมต่ออยู่กับเครื่องปั่นไฟ
Archimedes Waveswing ทุ่นผลิตไฟจากพลังงานคลื่นใต้น้ำ
เมื่อมีคลื่นใต้น้ำเคลื่อนผ่านมายังทุ่น Archimedes Waveswing ตัวทุ่นจะยุบตัวลงทำให้กระบอกไฮดรอลิกที่อยู่บริเวณแกนกลางถูกอัด แรงดันของระบบไฮดรอลิกจะไปขับให้เครื่องปั่นไฟหมุน และเมื่อแรงดันน้ำจากคลื่นลดลงแรงดันของอากาศภายในทุ่นจะดันให้ทุ่นยืดตัวออกส่งผลให้กระบอกไฮดรอลิกตรงบริเวณแกนกลางของทุ่นยืดตัวตามออกด้วย เกิดเป็นการเคลื่อนที่ของน้ำมันไฮดรอลิกขับเครื่องปั่นไฟอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ Archimedes Waveswing ถูกออกแบบให้ติดตั้งโดยอาศัยการยึดโยงกับพื้นใต้น้ำโดยใช้การยึดแบบจุดเดียว ภายในตัวทุ่นเองมีกว้านที่สามารถม้วนเก็บสายโยงหรือผ่อนสายออกมาเพื่อปรับระดับความสูงของทุ่นจากระดับพื้นดินใต้น้ำได้
AWS Ocean Energy ระบุว่าการติดตั้งใช้งาน Archimedes Waveswing สามารถติดตั้งเพื่อใช้งานแบบทุ่นเดี่ยวก็ได้ หรือจะใช้งานแบบเป็นชุดอาศัยการเชื่อมต่อหลายทุ่นเข้าด้วยกันก็ได้ ตัวทุ่นมีหลายขนาดสามารถผลิตไฟได้ตั้งแต่ 15 kW ถึง 500 kW และในกรณีที่ใช้งานแบบเป็นชุดสามารถผลิตไฟได้สูงสุด 10 MW (ใช้ทุ่นขนาด 500 kW จำนวน 20 ตัวมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน)
ทั้งนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการนำเอาทุ่น Archimedes Waveswing ขนาด 16 kW ไปทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลที่ European Marine Energy Centre (EMEC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบด้านพลังงานทางทะเลของยุโรปในเมือง Orkney ประเทศสก็อตแลนด์ สถานที่เดียวกันที่ทำการทดสอบ ทุ่นลอยน้ำปั่นไฟขนาด 1 MW ของบริษัท OceanEergy
สำหรับทุ่น Archimedes Waveswing ที่ถูกส่งไปทดสอบนี้มีความสูง 7 เมตร, เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร และมีน้ำหนัก 50 ตัน โดยผลการทดสอบพบว่าทุ่นสามารถผลิตไฟได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 kW ตลอดเวลา โดยมีบางช่วงขณะสามารถผลิตไฟได้มากถึง 80 kW ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากกว่าการคาดการณ์ของ AWS Ocean Energy ถึง 20%
Archimedes Waveswing ขนาด 16 kW ที่ถูกส่งมาทำติดตั้งทดสอบที่ EMEC
ตัวทุ่น Archimedes Waveswing ถูกออกแบบมาให้มีความเสถียรในระหว่างการติดตั้งใช้งาน แม้ว่าคลื่นใต้น้ำจะกระทำแรงกดต่อตัวทุ่นให้ยุบตัว แต่ตัวทุ่นจะยังคงตั้งดิ่งและทำงานได้ตามปกติโดยไม่โยกไหวเอนไปมา โดยภาพวิดีโอที่บันทึกในระหว่างการทดสอบที่ EMEC เผยให้เห็นว่าทุ่น Archimedes Waveswing ยังสามารถทำงานผลิตไฟได้แม้ในขณะที่มีพายุคลื่นลมแรงระดับ 10 ตามมาตรแบ่งความแรงลมของ Beaufort (ความแรงระดับ 10 คือลมพายุที่มีความเร็วลม 89-102 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความสูงของคลื่น 9-12.5 เมตร)
ระดับความแรงลมตามมาตรจัดระดับของ Beaufort
AWS Ocean Energy มองว่าทุ่น Archimedes Waveswing ในตอนนี้จะเป็นทางเลือกด้านการผลิตไฟฟ้าสำหรับการใช้งานกลางทะเลเฉพาะจุด เช่น ฐานขุดเจาะน้ำมันใต้ทะเล, หรือระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆ กลางทะเล ด้วยจุดเด่นที่สามารถทำงานได้แม้ในสภาพอากาศที่เลวร้าย และการติดตั้งที่ง่ายโดยอาศัยการยึดโยงแค่จุดเดียวต่อทุ่น ส่วนการใช้งานในระดับการจ่ายไฟเพื่อสาธารณูปโภคนั้นก็สามารถทำได้เช่นกันหากการพัฒนาระบบใช้งานทุ่นแบบเป็นชุดเพื่อผลิตไฟร่วมกันแล้วเสร็จ
ที่มา - Interesting Engineering , EMEC
Comments
ผมคิดว่าการใช้พลังงานจลน์ของสิ่งแวดล้อมมาผลิตไฟฟ้า ถ้าหาความสมดุลไม่ได้ จะกระทบระบบนิเวศน์มากกว่าถ้าเปรียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยทฤษฎีในอนาคตอื่นๆ
แต่มีทางเลือกเยอะๆก็ดีกว่าไม่มี ถ้าเล็กน้อยคงไม่เป็นอะไรมาก
คิดเหมือนกัน การเอาพลังงานจากคลื่นใต้น้ำมาใช้ จะส่งผลกระทบเช่นพวก el nino, la nina ไหมนะ
บรรดาพลังงานสกปรกทั้งหลายที่เราเผาๆไปนี่แหละครับที่ส่งผลทางอ้อมทำให้พลังงานจลน์ในระบบอากาศและมหาสมุทรบนโลกเพิ่มไปมหาศาลแล้ว
การเคลื่อนไหวของน้ำ เมฆ ฝน พายุ ฯลฯ เลยรุนแรงขึ้นอย่างที่เห็น ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ทั่วโลกโดนทำลายอยู่นี่แหละ.
เอาพลังงานที่มนุษย์เพิ่มเข้าไปทางอ้อมกลับมาเป็นไฟฟ้าบ้างกระทบน้อยกว่าเยอะครับ
ผมจึงเปรียบกับทฤษฎีสร้างไฟฟ้าใน"อนาคต"วิธีอื่นที่อยู่ในขั้นวิจัยและจินตนาการของมนุษย์ที่มีความเป็นไปได้ครับ
เพราะการสร้างพลังงานไฟฟ้าด้วยการสันดาป"ปัจจุบัน" มัน obviously ว่าส่งผลเสียมากๆและต้องหาวิธีอื่นทดแทนอยู่แล้วครับเลยไม่หยิบยกมาพูดเพราะรู้ๆกันอยู่
ผมไม่มีความคิดขัดขวางการสร้างไฟฟ้าด้วยพลังงานจลน์ครับจึงบอกว่ามีทางเลือกมากๆก็เป็นสิ่งดี มนุษย์จะได้มีตัวเลือกดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ของความรู้มนุษย์ครับ เช่นพื้นที่ที่เราจำเป็นต้องมี Barrier พลังงานจลน์นั้นๆ เราก็เปลี่ยนมันเป็นไฟฟ้า จะเป็นสถานการณ์ที่เพอร์เฟคมากครับ
อ่านข่าวนี้แรกๆ ก็คิดเหมือนกันว่าเรื่องกระแสน้ำทิศทางน้ำและการเดินทางของสัตว์ทะเลจะเป็นยังไงบ้างนะแต่จะว่าไปกังหันลมและระบบแสงอาทิตย์นี่ก็หนักใช่เล่น 😅
เนี่ยผมเคยคิดแบบนี้เลย
ไม่ว่าจะพลังงานไหน เราก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น
มนุษย์เรียนรู้ผลกระทบอันมหาศาลจากการขุดพลังงานฟอสซิลมาใช้
ก็ควรจะศึกษาผลกระทบให้ดีๆกับพลังงานทางเลือกต่อๆไปที่เราจะใช้ด้วย
อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้ก็เฮโลกันไปใช้
ไม่อยากนึกว่าอีกหลาย 10 ปีข้างหน้าถ้ารถเป็นพันล้านคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหมด
จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่รู้คิกล่วงหน้ากันไหม
อยากให้วิชาด้านพลังงานทางเลือกควบคู่ไปกับวิชาด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาสมดุลการใช้ ร่วมกับ สมดุลธรรมชาติ ว่าอะไรใช้ได้มากน้อยแค่ไหน
เคยคุยเรื่องนี้ก็มีคนมาบอกว่า หน้าที่อยู่รอดคือหน้าที่ของเราส่วนผลกระทบก็ให้คนรุ่นหน้าหาทางออกเอาแล้วกัน
เราโทษคนยุคเก่าว่าตอนขุดพลังงานมาใช้ก็ไม่คิดให้รอบคอบ
แล้วทุกวันนี้คนยุคนี้ก็เริ่มใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
แต่เราก็ไม่ค่อยคิดถึงลูกหลานเราเหมือนกัน
คิดเหมือนกันกับทุกคนเลย แต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรเลยเช่นกัน
คิดแค่ว่าเวลาทำอะไรลงไปต้องผลกระทบตามมาเสมอ อย่างพวกพลังงาน แสงอาทิตย์ พลังลมก็มีให้เห็นบ้างแล้ว อันนี้คงเพิ่มมาอีกตัว
แต่ก็ไม่ได้ต้านนะ ก็คิดว่าถ้าทำแค่พอสมดุลย์มันก็คงดี แต่ไม่รู้ว่าแบบไหนเรียกสมดุลย์นี่แหละ
ถ้าติด scale ใหญ่กระทบแน่นอน แค่ตอนนี้ยังไม่รู้เท่านั้นเองทุกอย่างมีสมดุลของมัน มีมนุษย์นี่แหละ ไปทำลายสมดุลด้วยความไม่รู้
สุดท้ายก็รอจนกว่ามนุษย์วิวัฒนาการจนหาจุดสมดุลได้
เจอซึนามิแล้วจะเป็นยังไงกันนะ
เอามาใช้แค่เฉพาะจุดตามเนื้อหาในข่าวคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าจะติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าให้เมืองๆนึงใช้ได้ คงต้องมีการศึกษาผลกระทบกับระบบนิเวศก่อน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนกังหันลมบางที่ซึ่งลงทุนทำไปแล้วเพิ่งมาพบผลกระทบ
พัฒนาเพื่อเอาไปปลั๊กเข้าตู้ดาต้าเซ็นเตอร์ใต้ทะเล