คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG บรรยายในงาน The Age of AI: Augmented Intelligence นำเสนอแนวทางการยกระดับวงการปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย และสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ต่อไปในอนาคต โดยในปี 2023 นี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง และโลกกำลังเปลี่ยนจากยุค Mobile First ไปยังยุค AI First
คุณกระทิงพูดถึงความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ว่าจะมาแทนคนทำงาน โดยระบุว่าความกังวลนี้มานานกว่า 200 ปีแล้ว และทุกครั้งก็เป็นความกังวลคล้ายๆ กันว่าเครื่องจักรจะทำให้คนตกงาน แต่เมื่อเรามองพัฒนาการของเทคโนโลยีแต่ละรอบ เรากลับพบว่าเครื่องจักรไม่ได้แทนคนไปเสียหมด แต่คนทำงานกลับมีผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้นอย่างมาก ในมุมมองของคุณกระทิง AI ที่กำลังเข้ามาในปีนี้ก็ไม่ได้มาแทนคนทำงานเช่นกัน แต่คนทำงานที่รู้จักใช้ AI เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จะสามารถไปแทนคนทำงานคนอื่นๆ ได้ โดยจุดที่ทำให้มนุษยังเป็นส่วนสำคัญอยู่ คือ ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ (Humanity) และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรหรือซอฟต์แวร์เข้ามาทดแทนได้
แนวคิดนี้ทำให้ KBTG มองว่าจำเป็นต้องทำให้คนไทยเข้าใจ AI ให้มากขึ้น เพื่อให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ และไม่ตกรถไฟเมื่อ AI เข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ AI ทำงานร่วมกับมนุษย์ อาจจะเรียกว่า Augmented Intelligence ที่ใช้ความฉลาดของ AI ร่วมกับความฉลาดของมนุษย์ ที่การทดสอบหลายต่อหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานได้ดีกว่าการใช้ AI อย่างเดียว หรือให้มนุษย์ทำงานโดยไม่มี AI ช่วย
สำหรับองค์ประกอบที่เพื่อสร้าง Thai AI Ecosystem นั้น คุณกระทิงระบุว่ามี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ที่เรามีใช้งานหรือหาซื้อมาได้, ข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อยๆ, ความต้องการของผู้ใช้, โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การโทรคมนาคมต่างๆ, และส่วนที่สำคัญที่สุดคือบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจใน AI และเป็นจุดที่ขาดกันทั่วโลก
ที่ผ่านมา KBTG ทำงานเพื่อสร้างบุคคลากรมาอย่างต่อเนื่องผ่านทางโครงการ KBTG KAMPUS ที่ฝึกอบรมความรู้ด้านต่างๆ พร้อมกับการทำงานวิจ้ยระดับลึก
สำหรับงานวิจัยของ KBTG ในตอนนี้ก็มีทั้งส่วนที่พัฒนาไปใช้งานจริงแล้ว และส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอยู่ เช่น เบื้องหลังของ Chatbot ที่ ธนาคารกสิกรไทยใช้สื่อสารกับลูกค้าในช่องทางต่างๆ นั้นมีเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) อยู่เบื้องหลัง ทำให้สามารถตอบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สามารถประหยัดเวลาการใช้งานของลูกค้าไปกว่า 500,000 ชั่วโมง
งานวิจัยที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาที่นำเสนอในงาน The Age of AI ครั้งนี้ ทาง KBTG แสดงโครงการ Future You ที่เป็นแพลตฟอร์ม AI เพื่อสร้างตัวตนของผู้ใช้ในอนาคต เช่น ตัวเราเองเมื่ออายุถึง 60 ปีขึ้นมา และเปิดโอกาสให้เราคุยกับตัวเอง ตัวปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างความทรงจำสังเคราะห์ว่าผ่านประสบการณ์อะไรมาบ้าง
Future You เป็นการพัฒนาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าหากเรามีความเชื่อมโยงกับตัวเองในอนาคต เราก็มีพฤติกรรมในเชิงบวก เช่น ออมเงิน, ตั้งใจเรียน, หรือรักษาสุขภาพ ผู้เข้าร่วมโครงการ Future You ยังสามารถลดความรู้สึกแง่ลบกับตัวเองลงได้ มีแรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ให้ประสบความสำเร็จ
แต่สำหรับการสร้างปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทยนั้น ทีมนักวิจัยของ KBTG ที่ทำงานวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab เริ่มจากโมเดลในกลุ่ม GPT แต่ก็พบว่ามีเงื่อนไข 3 ด้านเพื่อให้ AI ทำงานในภาษาไทยได้ดี ได้แก่
- Language Specific Knowledge: ตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์มีความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม เช่น คำลงท้ายประโยคในภาษาไทย
- Domain Specific Knowledge: ความเข้าใจในความรู้เฉพาะด้าน เช่น ความรู้ด้านการเงินธนาคาร
- Human-Centered Knowledge: ความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์และช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ใช้ได้
แนวทางนี้ทำให้ทีมงานเรียกสถาปัตยกรรมของปัญญาประดิษฐ์นี้ว่า Knowledge-GPT หรือ K-GPT
สำหรับบริการที่ทีมวิจัยสร้างออกมาจาก K-GPT นี้มีตัวแรกคือ คู่คิด ซึ่งอยู่ในช่วงของการวิจัยและพัฒนา(Proof of Cencept) โดยเปิดให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยกับ AI สองตัวที่ชื่อว่า คะน้าและคชา โดย AI ทั้งสองตัวจะมีมุมมองที่ต่างกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ที่พูดคุยกับ AI ได้รับมุมมองที่กว้างขึ้น แม้มุมมองจะต่างกัน แต่ AI จะอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้
แนวทางการสร้าง AI สองตัวคู่กันยังช่วยแก้ปัญหาอคติ (bias) ที่ AI อาจจะเรียนรู้ข้อมูลและมีแนวโน้มจะแนะนำด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว การสร้าง AI สองตัวสามารถแนะนำผู้ใช้ในมุมมองที่ต่างกัน ทีมวิจัยทำให้คะน้ามีพฤติกรรมกล้าลอง ขณะที่คชาจะระมัดระวัง
การสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีพฤติกรรมต่างกันอาศัยการสร้างความทรงจำสังเคราะห์ ที่ทีมงานได้ประสบการณ์มาจากการสร้างโครงการ Future You แต่ AI ทั้งสองตัวก็เข้าถึงข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน และข้อความที่ตอบออกมาก็ผ่านตัวกรองเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศไทยก่อนแสดงผลให้กับผู้ใช้
ตัวอย่างคำถามทั่วไป เช่น ทำไมต้องออมเงิน คชาจะตอบถึงข้อดีของการออมเงินว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิต ขณะที่คะน้าจะมองว่าการออมเงินเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะต้องใช้เงินในอนาคตเช่นการไปท่องเที่ยว
การทำงานด้าน AI มากๆ ยังทำให้ KBTG ร่วมกับ MIT Media Lab และองค์กรต่างๆ เช่น NECTEC, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หารือถึงความเป็นไปได้ในการใช้งาน AI ในอนาคตที่คนในรุ่นต่อไป สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกมามาเป็น Thai AI-Augmented Literacy Guideline ที่วางแนวทางการใช้งาน AI ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเตรียมออกร่างแรกภายในเดือนมิถุนายนี้
อีกด้านหนึ่ง คุณกระทิงก็พูดถึงการใช้งาน AI โดย KBTG ตระหนักถึงประเด็นทางจริยธรรม และประกาศว่า KBTG จะวางหลักการทางจริยธรรมในการใช้ AI และใช้งานกับทุกสินค้าและบริการของ KBTG พร้อมกับจะสนับสนุนคอร์สออนไลน์เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ประเด็นทางจริยธรรมกับการใช้งาน AI ได้กว้างขวางขึ้น
งานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า KBTG ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI อย่างเต็มตัว ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยเชิญชวนทุกคนสมัครทดลองใช้งานเทคโนโลยี AI ของ KBTG เช่น Future You และคู่คิดได้แล้ว หรือหากข้อการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดกับเทคโนโลยีของ KBTG ก็สามารถติดต่อได้ที่ co-innovation@kbtg.tech
Comments
มุมมองระดับผู้บริหารกับมุมของพนักงานระดับแรงงานไม่เหมือนกัน
เพราะคนที่จะโดนAiแทนที่เป็นพนักงานระดับแรงงาน
ส่วนระดับผู้บริหารเป็นระดับคนคุมมันไม่กระทบอยู่แล้วนิ
ถ้าอนาคตAiสามารถทำงานที่ต้องใช้คน1000คนทำได้
คุณจะยังจ้าง1000คนไว้คุมAiเหรอ หรือเหลือไว้แค่10คนคุมAiพอ?
แน่นอนว่าเทคเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ควรไปหยุดมันแต่ก็ต้องยอมรับ
ว่ามันมาแทนที่คนแน่ๆ คนที่ทำงานนั้นอยู่ก็จะต้องดิ้นรนไปหาอะไรอย่างอื่นทำแทน
มาช่วยให้ทำงานได้สะดวกขึ้น ประหยัดเงินต้องจ้างคนเพิ่ม
เพ้อเจ้อ มันคือการใช้ AI มาลดคนอยู่ดี
รู้สึกว่าช่วงนี้ AI มาแรงมาก หลายธุรกิจก็กระโดดมาจับกระแสตามๆ กันไป ถ้ากระแสดี ในอนาคตคงได้เห็นธุรกิจที่มีแต่ AI บริหารจัดการระบบทั้งหมด เหลือแค่ฝ่ายการเงินและ Audit ที่ยังต้องมีคนมาจัดการอยู่
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ทำไมถึงมองว่าการเงินยังต้องมีคนมาจัดการนะครับ ไม่ใช่ว่าเรื่องตัวเลข AI จะแม่นยำและรวดเร็วกว่าหรอครับ
มองว่าเรื่องการเงิน ควรยังต้องมีการยืนยันจากทั้ง AI และผู้เชี่ยวชาญอยู่ครับ รวมถึงการขนส่งเงินสด ยืนยันธุรกรรมการเงิน และการลงนามเอกสารอย่างเป็นทางการด้วย ที่ยังไม่รองรับการลงนามด้วย AI ที่หลายคนมองว่าเป็นการยืนยันที่ไม่มีตัวตนอยู่ครับ โดยเฉพาะในตอนนี้
ถ้าอนาคต AI สามารถทำงานได้หมด มีระบบตรวจสอบเองและไม่มีข้อผิดพลาดเลย ตอนนี้ถึงไม่ต้องพึ่งคนครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อันนี้เจอมากับตัว เคยลองให้bingของmsนี่แหละคิดราคาก่อนvatให้เลขยังไม่ตรงเลยไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันไปใช้สูตรอะไรคิดทำไมถึงไม่ตรง ทั้งๆที่ปกติสูตรพวกนี้มันน่าจะใช้เหมือนๆกันหมด
แอบรู้สึกแบบนั้นเหมือนกันนะครับ
ความน่ากลัว ไม่ใช่ว่า AI จะมาแทนคนหรอก
แต่จะกลายเป็นว่า คนเก่งจะมี AI มาช่วย จนความสามารถยิ่งห่างออกไป
และสามารถทดแทนงานของคนที่ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง ไปเรื่อย ๆ
สุดท้าย คนที่ไม่ยอมปรับตัว ก็จะโดนลดบทบาทลงจนไม่เป็นที่ต้องการไป
อันนี้จริงครับ ชีวิตคือการปรับตัวนี่แหละ
ผมมองมันไม่เกี่ยวกับคนไม่พัฒนานะ
แต่Aiสามารถมาแทนที่ตำแหน่งคนบางอันได้อย่างสมบูรณ์ไม่ใช่ว่าคนจะต้องแข่งขันกับAi
แต่คนจะต้องไปทำอย่างอื่นที่Aiไม่ทำหรือทำไม่ได้ตะหาก
ที่ผมคิดนะ ที่ถ้าทำมาแล้วขายได้แน่ ๆ นะ
Ai หมอแผนกฉุกเฉิน นึกภาพโทรไปสายไหมต้องรอด รถกู้ชีพวิ่งไปถึง กู้ชีพ ดูคนไข้ ตะโกนใส่ Ai บนมือถือ อาการแบบนี้ ๆๆ แล้วมันบอกกลับมาว่า เบื้องต้นก่อนถึงหมอ ควรทำอะไร ถึงโรงบาล เอามือถือให้หมอดู Ai แจ้งอาการภาษาหมอ แล้วให้หมอตัดสินใจ ปั๊ง จบ
ขายออกแน่นอน หน่วยงานรัฐบาลทุกประเทศ ควรจะต้องซื้อแน่นอน
แต่นี่ ของ K bank เอาแค่ใช้ Ai มาดูกองทุน LTF RTF SFF ให้ไม่ดูน่าตกใจเหมือนปีนี้ก็พอมั้ง ทุกวันนี้ไม่อยากกดไปซื้อสวนเลย แดงเถือกเดือบทุกตัว ทั้งหุ้นไทย หุ้นนอก
เขาก็พยายามทำแหล่ะครับ แต่พอทำจริงๆ แล้วมันเจอปัญหาจุกจิกค่อนข้างเยอะโดยเฉพาะเรื่องการแยก และวิเคราะห์เสียงในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแปลงเป็น Text ยิ่งสถานะการณ์ที่คุณยกตัวอย่างมานั่นยากระดับต้นๆ เลยแหล่ะครับ เนื่องจากมันมีปัจจัยเรื่องชีวิตคนด้วย อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนมันจะมีหน่วยงานตรวจสอบเยอะ มาตรฐานเยอะ อาจต้องรอเทคโนโลยีสตรีมเสียงที่สามารถแยกเสียงพูดจากสภาพแวดล้อมด้วย H/W มาช่วยคัดกรองตั้งแต่เริ่มเลย รวมถึงฝัง chip ที่สามารถประมวลผลภาษาพวกคำผิดในเบื้องต้น พอเป็น Text แล้วก็ใช้ NLP ซึ่งอันหลังนี้ค่อนข้างใช้ได้ดีแล้วครับ ส่วนตัวผมมองว่าอนาคตเราน่าจะได้เห็น NLP Chip ติดมาพร้อมกับมือถือเพื่อแปลงข้่อมูลให้เป็นข้อความให้มีความถูกต้องสูง แล้วมันก็จะทำอย่างที่่คุณยกตัวอย่างได้
ผมเคยคิดเล่นๆ แบบตลกๆ นะ ถ้าเรามี NLP Chip ที่มีความถูกต้องสูงแล้ว เราน่าจะสามารถพูดแล้วแปลงเป็น Text แบบ real-time ได้เลย จากนั้นก็ส่ง Text ข้าม Networkไป ฝั่งผู้รับก็ใช้ Deepfake สร้าง Avatar แบบ 3D แล้วก็ใช้เทคโนโลยีเลียนแบบเสียงเราไปให้ Avatar แสดงผล ดังนั้นมันก็จะช่วยลดทั้ง Bandwidth และสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดกับ Ai รวมถึง Service ต่างๆ ได้ทันที
สังเกตุสิครับพวก Generative Ai ส่วนใหญ่ทำไมยังให้คนพิมพ์เป็นค่า default อยู่ทั้งๆ ที่มันก็สามารถ input ด้วยเสียงได้ เหตุผลก็อย่างที่ผมกล่าวมานั่นแหล่ะครับ พวกนี้มันต้องการ input ที่ค่อนข้างถูกต้องเพื่อจำแนกคำ เพราะถ้ายิ่งมีคำผิดเยอะมันก็ต้องประมวลผลสูงขึ้นเพื่อคาดเดาคำ ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น
ผมคิดว่าDevอาจมีโอกาสที่จะตกงานได้นะ เอาเเค่ความเก่งAiเวอร์ชั่นปัจจุบันก็ลดพนักงานได้แล้วโดยให้ผลลัพธ์เท่าเดิม อีกอาชีพคือกราฟฟิกดีไซน์ถ้าถึงวันที่มีเครื่องมือให้อัพโหลดรูปภาพให้Aiเรียนรู้แล้วออกแบบตามนั้นได้เนียนๆเมื่อไหร่โดนอีกตำแหน่ง