Joe Kiani ซีอีโอ Masimo บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้สัมภาษณ์กับ WSJ ประเด็นที่บริษัทฟ้องร้องแอปเปิลข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเซ็นเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด จนทำให้คณะกรรมการการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือ ITC ออก คำสั่งแบน การนำเข้า Apple Watch มาขายในอเมริกาช่วงสั้น ๆ แต่ล่าสุดศาลรับคำอุทธรณ์ ทำให้แอปเปิล กลับมาขาย Apple Watch ต่อได้
Kiani บอกว่า Masimo เริ่มดำเนินการฟ้องร้องแอปเปิลมาตั้งแต่ปี 2020 ที่บริษัทเปิดตัว Apple Watch Series 6 ซึ่งมีฟีเจอร์ตัววัดระดับออกซิเจนในเลือด ถึงวันนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงสำหรับบริษัทที่ผลประกอบการมีกำไรปีที่ผ่านมา 144 ล้านดอลลาร์ เขาบอกว่าคนรอบตัวต่างเตือนที่จะสู้ทางคดีกับแอปเปิล เพราะบริษัทขนาดเล็กกว่ามาก มีคดีประเภทเดียวกันหลายกรณีที่สุดท้ายแอปเปิลก็ชนะบริษัทเล็ก แต่เขาเชื่อว่าเขาทำได้ และเปลี่ยนแอปเปิลได้
Masimo มีประสบการณ์ชนะคดีฟ้องร้องละเมิดสิทธิบัตรตัววัดระดับออกซิเจนในเลือดมาหลายครั้ง ในปี 2006 Nellcor ยอมจ่ายค่าเสียหาย 800 ล้านดอลลาร์ ให้ Masimo จากการฟ้องร้องเกือบ 7 ปี ส่วนปี 2016 Royal Philips ก็จ่ายค่าเสียหายให้ Masimo 300 ล้านดอลลาร์ พร้อมทำข้อตกลงใช้งานสิทธิบัตรมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคดีนี้ก็ใช้เวลาฟ้องร้องเกือบ 7 ปี เช่นกัน
ทั้งหมดจึงทำให้ Kiani มั่นใจว่าการต่อสู้นี้บริษัทจะชนะแอปเปิลได้นั่นเอง
ที่มา: The Wall Street Journal
Comments
คุ้มเกินค่าฟ้องเยอะ งานนี้ Apple จะสู้หรือยอมจ่าย จ่ายๆไปเลยก็ได้มั้ง
ข่าวต่อไป Apple ประกาศซื้อ บ.masimo
แอปเปิลเคยมาหารือเพื่อซื้อกิจการ หรือให้ช่วยพัฒนาเซ็นเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือดใน Apple Watch
ระวัง ฟ้องจน บ. ตัวเองเจ๊ง ^^อีกเรื่องที่สังเกตคือ ค่าจ้างทนายความแพงมาก --!
ทำไมมันสูงจัง หรือ คู่กรณีรวยจัดเลย
ฟ้องร้องฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะแต่ฝ่ายทนายชนะเสมอ
A smooth sea never made a skillful sailor.
ส่งลูกน้องเก่าไปอยู่บริษัทอื่น แล้วพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมือนกับสิทธิ์บัตรตัวเอง แล้วไล่ฟ้องเค้าGenius
ปล สายมโนนะครับ
มันไปแพงกับอะไร ค่าทนายหรอ
เด่วรอดูเลยว่าสุดท้ายผลจะพลิกล็อคไหม ไม่รู้ใครเล่นใครกันแน่นะ =0=
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
ติดต่อไปขอใช้เทคเค้าแล้วก็หายไป แล้วก็ไปสูบตัวพนักงาน หัวหน้าเค้ามาเป็นกระบุง อัดเงิน แล้วก็มาจด patent เป็นชื่อพนักงาน จะรอดได้ไง 555555