กฎหมายแบน TikTok ในสหรัฐอเมริกาจะ มีผลวันที่ 19 มกราคมนี้ หากไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงใดออกมา ทำให้มีความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ล่าสุด Frank McCourt มหาเศรษฐีนักธุรกิจชาวอเมริกัน ในฐานะประธานโครงการไม่แสวงหากำไร Project Liberty ที่มีเป้าหมายปกป้องสิทธิเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ประกาศยื่นข้อเสนอซื้อกิจการ TikTok ในอเมริกาจาก ByteDance
ผู้ยื่นคำเสนอซื้อคือกลุ่มทุนที่มีทั้ง Project Liberty และเครือข่ายพันธมิตรซึ่งมีนักธุรกิจคนดัง Kevin O’Leary รวมอยู่ด้วย กลุ่มทุนนี้เรียกรวมกันว่า "The People’s Bid for TikTok" เพื่อปรับโครงสร้างแพลตฟอร์ม TikTok ให้มีเทคโนโลยีเป็นของอเมริกา และปกป้องเสียงของผู้ใช้งานในประเทศกว่า 170 ล้านคน
Project Liberty ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าของข้อเสนอซื้อกิจการนี้ แต่ยืนยันว่า ByteDance ได้รับรายละเอียดข้อเสนอแล้ว
ศาลสูงสุดสหรัฐจะรับ ฟังคำอุทธรณ์ จาก TikTok ในคืนวันนี้ตามเวลาในไทย หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น กฎหมายแบน TikTok ก็จะมีผลในวันที่ 19 เหมือนเดิม ส่วนว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ Donald Trump จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเขาออกมา แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ ว่าต้องการให้เลื่อนคำสั่งแบนออกไปก่อน
ที่มา: CNBC
Comments
ทำไมรู้สึกว่าไม่ค่อยดีพอได้ยินว่าปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับอเมริกา หลายแอพที่เป็นของอเมริกาเหมือนจะมีเสรีภาพแต่ไปๆ มาๆ แอพเอเชีย เหมือนจะมีเสรีภาพมากกว่า ถ้าไม่ไปยุ่งอะไรกับแอพมาก หรือ ใส่ความคิด Woke เข้าไปคงไม่เป็นไร ดีที่สุดคือมี Tiktok แยกไปเลยของอเมริกา ไม่เอามาเป็น Worldwide APP
ถ้าสมมุติแบนไปจริงๆ บางทีไปอยู่ฝั่งอเมริกา อาจจะทำให้คนตาบอดใช้งาน TikTok ได้ดีขึ้น ตอนนี้แม้จะใช้ได้ แต่ก็ลุ่มๆ ดอนๆ
ไม่รู้ทำไม แอปที่ฝั่งเอเชียทำออกมา คนตาบอดเข้าถึงได้น้อยมาก
อย่างล่าสุดผมลองโหลด Blockdit มาเล่น ปรากฏว่าใช้ไม่ได้เลย
ผมสงสัยครับ ผมไม่ได้เหยียดนะ
พี่ตาบอดแต่พิมพ์ยังไงครับ
เวลาอ่านข่าวแบบนี้หาช่องคอมเม้นยังไง
แต่ละระบบปฏิบัติการก็จะมีโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอของตัวเองครับ วิธีการใช้ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละอุปกรณ์
ถ้าเป็นมือถือ IOS ก็จะเป็น VoiceOverถ้าเป็น Android ก็จะเป็น TalkBack
แอปช่วยการเข้าถึงแบบนี้มีทุกเครื่องครับ ของคุณก็มี ซึ่งสามารถเปิดใช้ในการตั้งค่าได้เลย (แต่ถ้าลองเล่นแล้วอย่าลืมหาวิธีปิดสำรองไว้ เพราะการใช้งานในโหมมดนี้ยากสำหรับคนตาดีพอสมควร)
การใช้งานก็คือ เขาจะอ่านตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้าจอออกมาเป็นคำพูดให้เราฟัง และจะบอกด้วยว่าตรงบริเวณที่อ่านเป็นเมนูแบบไหน เช่นเป็นลิงก์ เป็นช่องสำหรับพิมพ์ข้อความ เป็นข้อความธรรมดา เป็นแอปที่สามารถเปิดได้ เป็นปุ่มอะไร เช่นปุ่มส่งข้อความ ปุ่มบันทึก ปุ่มแสดงความรู้สึก ฯลฯ
วิธีการไปยังตำแหน่งต่างๆ ก็ทำได้หลายวิธี เช่นใช้นิ้วขยับไปตำแหน่งต่างๆ ของจอ เพื่อให้โปรแกรมอ่านว่าตรงที่นิ้วเราวางอยู่เป็นอะไร ถ้าจะเข้าไปในตำแหน่งนั้นก็แตะ 2 ครั้งเพื่อยืนยันอีกวิธีก็คือใช้นิ้วปัดจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย เพื่อย้ายตำแหน่งการอ่านไปตำแหน่งต่างๆ ได้
ส่วนระบบวินโดวส์ก็มีโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอหลายตัว
ตัวแรกที่นิยมกันก็ NVDA
อีกตัวนิยมรองลงมาก็ Jaws For Windows
หลักการใช้งานก็ไม่ต่างกันคือ โปรแกรมจะช่วยอ่านข้อความที่ลูกศรหรือเคอร์เซอร์ชี้อยู่ให้เป็นเสียง อยากให้อ่านตรงไหนก็ขยับปุ่มลูกศรขึ้นลง ซ้ายขวา ไปตรงจุดนั้น
แต่ที่คนตาบอดจะไม่ค่อยใช้เลยคือเมาส์ แม้จะมีวิธีการใช้อยู่บ้าง แต่ไม่สะดวก เพราะใช้ได้ในแค่บางกรณีเท่านั้น ส่วนใหย่ที่นิยมเลยเป็นการใช้คำสั่งผ่านแป้นพิมพ์กัน ข้อนี้ถ้าท่านไหนเป็นโปรแกรมเมอร์หรือใช้คอมกันเป็นประจำน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเชื่อว่าต่อให้วันไหนเมาส์พัง ก็คงใช้กันแบบไม่มีเมาส์ได้แบบชิลๆ
ให้ยกตัวอย่างก็เช่น Windows + R
Windows + m
ฯลฯ
ถ้าสนใจข้อมูลเพิ่มเติม ก็ลองเข้าไปดู ที่นี่ ได้ครับ