Tags:
Forums: 

ซิสโก้ (Cisco) ผู้นำระดับโลกด้านเครือข่ายและความปลอดภัย เปิดเผย ‘ผลการศึกษาจากดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024’ (Cisco 2024 AI Readiness Index) พบว่าองค์กรในประเทศไทยเพียง 21% เท่านั้นที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 20% ในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญในการนำ AI มาใช้ ติดตั้ง และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณาถึงการพัฒนาของตลาดที่รวดเร็วและผลกระทบสำคัญที่คาดว่า AI จะมีต่อการดำเนินธุรกิจ ช่องว่างของความพร้อมนี้จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

alt=

ดัชนีนี้จัดทำขึ้นจากการสำรวจแบบ double-blind กับผู้บริหารระดับสูง 3,660 คน จากองค์กรที่มีพนักงาน 500 คนขึ้นไป ครอบคลุม 14 ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน โดยผู้บริหารเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบการผสานและติดตั้ง AI ในองค์กรของตน โดยดัชนีความพร้อมด้าน AI วัดผลจาก 6 แกนหลักสำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล การกำกับดูแล บุคลากร และวัฒนธรรมองค์กร

การดำเนินการด้วยความเร่งด่วน

AI ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ และบริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับความเร่งด่วนที่เพิ่มขึ้นในการนำ AI มาใช้ สำหรับประเทศไทย บริษัททั้งหมด (100%) รายงานว่ามีความเร่งด่วนในการนำ AI มาใช้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีซีอีโอและทีมผู้บริหารเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากให้กับ AI โดย 53% จัดสรรงบประมาณด้านไอทีถึง 10-30% สำหรับการนำ AI มาใช้

แม้จะมีการลงทุนด้าน AI อย่างมากในด้านกลยุทธ์สำคัญ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล แต่หลายบริษัทรายงานว่า “ผลตอบแทนจากการลงทุน” เหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

นายวีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า "ในขณะที่บริษัทต่างๆ เร่งเดินหน้าสู่การใช้งาน AI สิ่งสำคัญคือต้องมีแนวทางการนำไปใช้ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงความมุ่งมั่นด้าน AI เข้ากับความพร้อมขององค์กร ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปีนี้ชี้ให้เห็นว่า เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI ได้อย่างเต็มที่ บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องมี ‘โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย’ ซึ่งสามารถรองรับความต้องการด้านประสิทธิภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พร้อมด้วยมุมมองที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจและการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อขับเคลื่อนอนาคตสำหรับทุกคน"

ผลการศึกษาที่สำคัญ

  • ความพร้อมด้าน AI หยุดนิ่งในหลายด้าน โดยพบว่า ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ เป็นจุดที่น่ากังวล: บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทายด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีช่องว่างในหลายด้าน ทั้งประสิทธิภาพการประมวลผล เครือข่ายศูนย์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีเพียง 33% ขององค์กรที่มี GPU ที่จำเป็นสำหรับรองรับความต้องการด้าน AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมีเพียง 47% ที่มีขีดความสามารถในการปกป้องข้อมูลในโมเดล AI ด้วยการเข้ารหัสแบบครบวงจร (end-to-end encryption) การตรวจสอบความปลอดภัย การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และการตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบทันที
  • บริษัทต่างๆ ลงทุนแล้ว แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง: ในปีที่ผ่านมา AI เป็นรายจ่ายที่องค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญ โดย 53% จัดสรรงบประมาณด้านไอที 10-30% สำหรับโครงการด้าน AI โดยการลงทุนด้าน AI มุ่งเน้นใน 3 กลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (59% ของบริษัทอยู่ในระดับการใช้งานเต็มรูปแบบ/ขั้นสูง) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (45%) และการบริหารการตลาดและการขาย (43%) โดยผลลัพธ์หลัก 3 ประการที่องค์กรต้องการบรรลุ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ กระบวนการ การดำเนินงาน และความสามารถในการทำกำไร; ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและรักษาความสามารถในการแข่งขัน; และการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์
  • แม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่โดยเฉลี่ย 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ยังไม่เห็นผลลัพธ์ หรือผลลัพธ์ที่ได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ การช่วยเหลือ หรือการทำงานอัตโนมัติของกระบวนการ หรือการดำเนินงานในปัจจุบัน
  • แรงกดดันที่ต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จ: ผู้บริหารระดับสูงเพิ่มแรงกดดันและความเร่งด่วนในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ โดยกว่าครึ่ง (59%) รายงานว่า ซีอีโอและทีมผู้บริหารเป็นผู้ผลักดันการนำ AI มาใช้ ตามมาด้วยผู้บริหารระดับกลาง (49%) และคณะกรรมการบริษัท (44%) ในขณะที่เวลาเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจในประเทศไทยกำลังเร่งความพยายามและเพิ่มการลงทุนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคและรับการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในห้า (23%) ขององค์กรวางแผนที่จะจัดสรรงบประมาณด้านไอทีมากกว่า 40% สำหรับการลงทุนด้าน AI ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปัจจุบันที่มีเพียง 5% ของบริษัทที่จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนใกล้เคียงกันให้กับ AI

บริษัทต่างๆ ตระหนักดีว่าต้องดำเนินการเพิ่มเพื่อให้มีความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่า 57% ของบริษัทในประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับ การปรับปรุงความสามารถในการขยายระบบ ความยืดหยุ่น และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทตระหนักถึงช่องว่างที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อยกระดับความพร้อมด้าน AI โดยรวม

การจัดการช่องว่างด้านทักษะและบุคลากร

แม้จะมีความท้าทายเฉพาะในแต่ละด้าน แต่พบประเด็นปัญหาร่วมกันอย่างชัดเจน นั่นคือ “การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ” บริษัทต่างๆ ชี้ว่านี่คือความท้าทายอันดับต้นๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล และการกำกับดูแล สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการมีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้าน AI

Get latest news from Blognone