Tags:
Node Thumbnail

หลายคนอาจจะรู้จักองค์กรอย่าง ITU (International Telecommunication Union) ในฐานะสำนักพิเศษ (specialized agency) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านโทรคมนาคม แต่ในโครงสร้างขององค์การสหประชาชาติเอง ก็มีการประชุมแยกย่อยจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ IGF หรือ Internet Governance Forum

IGF เป็นการประชุมที่มีหัวเรื่องในประเด็นของอินเทอร์เน็ต โดยเน้นหนักไปที่นโยบายและการจัดการอินเทอร์เน็ต ซึ่งมักเป็นเวทีที่ตัวแทนขององค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานรัฐ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อย่างเช่น ภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วม โดยมีประชุมทุกปี และปีนี้ถือเป็นปีที่ 9 แล้วสำหรับการประชุมนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในวันที่ 1-6 กันยายน ที่จะถึงนี้

บทความนี้จะนำพาไปรู้จักกับการประชุม IGF โดยภาพรวมครับ

หมายเหตุในปีนี้ผมได้ทุนจากทาง SEAPA (South East Asia Press Alliance) ซึ่งร่วมกับทาง CIJ (Center for Independent Journalism) ให้เดินทางไปรายงานการประชุมดังกล่าว (ปีที่แล้วเป็นคุณ lew) ซึ่งคงมีรายงานข่าวจากงาน IGF ออกมาเป็นระยะๆ ครับ

อะไรคือ IGF

IGF หรือชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการคือ Internet Governance Forum (แปลเป็นไทยอาจจะแปลได้ว่า "การประชุมว่าด้วยเรื่องการจัดการปกครองอินเทอร์เน็ต" ทั้งนี้ในบทความนี้ จะแปลคำว่า "governance" เป็นคำว่า "การจัดการปกครอง") เป็นการประชุมเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต โดยถือเป็นหนึ่งในกลไกขององค์การสหประชาชาติด้านอินเทอร์เน็ต นอกเหนือไปจากเวทีหรือการประชุมปกติ เช่น กลไก ITU เป็นต้น

IGF ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2006 จากมติของที่ประชุม World Summit on the Information Society ปี 2005 ซึ่งเป็นการประชุมด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติ (จัดแค่สองครั้ง คือปี 2003 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และ 2005 ที่กรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย) โดย IGF มีวัตถุประสงค์ในการเป็นพื้นที่ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) เข้ามาพูดคุยถึงแนวนโยบายสาธารณะของอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ทั้งนี้ IGF เป็นการประชุมที่ไม่มีภาคีชาติสมาชิก (เพราะเป็นการประชุมเฉยๆ ไม่ใช่การลงนามในข้อตกลงหรือการจัดตั้งองค์กรใหม่)

แม้ว่า IGF จะมีสถานะเป็นการประชุม แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ เพราะก่อตั้งขึ้นจากการประชุมของสหประชาชาติ ดังนั้นแล้วการบริหารงานหลายอย่างจึงยังคงอยู่ภายใต้การกำกับขององค์การสหประชาชาติ โดยมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ภายในอาคารที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และมีคณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งแต่งตั้งโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ทำหน้าที่ช่วยดูแลและจัดการประชุม

สิ่งหนึ่งที่ IGF ต่างจากการประชุมอื่นขององค์การสหประชาชาติ คือการไม่มี "อำนาจ" แบบเดียวกับการประชุมของ ITU กล่าวคือ ข้อตกลงหรือผลของการประชุมนั้นไม่ได้มีผลบังคับกับชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม อย่างไรก็ตาม IGF มีอำนาจในเชิงของการ "ระบุหัวข้อ" หรือ "ทิศทางที่สำคัญในอนาคต" ให้กับทางองค์การสหประชาชาติ ในแง่นี้ IGF จึงถูกมองว่าเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช่การประชุมที่ชี้ขาดอนาคตของอินเทอร์เน็ต ซึ่งไปอยู่กับทาง ITU มากกว่า

ลองฟังคลิปเสียงเป็นภาษาอังกฤษได้ เกี่ยวกับพัฒนาการของการประชุม IGF ครับ

หัวข้อของการประชุมที่ผ่านมาและในปีนี้

การประชุม IGF ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2006 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ จะมีหัวข้อหลักของการประชุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • IGF 2006, 2007 การประชุมมีหัวข้อหลักที่ว่าด้วยเรื่อง "Internet Governance for Development" หรือแปลว่า "การจัดการปกครองของอินเทอร์เน็ตกับการพัฒนา"
  • IGF 2008 หัวข้อหลักคือ "Internet for All" หรือ "อินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน"
  • IGF 2009 หัวข้อหลักคือ "Internet Governance – Creating Opportunities for all" หรือ "การจัดการปกครองอินเทอร์เน็ต - การสร้างโอกาสให้กับทุกคน"
  • IGF 2010 หัวข้อหลักคือ "Developing the future together." หรือ "พัฒนาอนาคตไปด้วยกัน"
  • IGF 2011 หัวข้อหลักคือ "Internet as a catalyst for change: access, development, freedoms and innovation." หรือ "อินเทอร์เน็ตในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยาของความเปลี่ยนแปลง: การเข้าถึง พัฒนา เสรีภาพ และการคิดค้น"
  • IGF 2012 หัวข้อหลักคือ "Internet Governance for Sustainable Human, Economic and Social Development." หรือ "การจัดการปกครองอินเทอร์เน็ตเพื่อมนุษย์ เศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน"
  • IGF 2013 หัวข้อหลักคือ "Building Bridges - Enhancing Multistakeholder Cooperation for Growth and Sustainable Development" หรือ "การสร้างสะพานเชื่อมและเพิ่มความร่วมมือกับผู้มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่เติบโตและยั่งยืน"

alt= ภาพจาก UN

โดยในบรรดาหัวข้อหลักเหล่านี้ ก็จะมีหัวข้อย่อย (sub-themes) และการประชุมต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละปี แต่ส่วนมากแล้วจะเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้ (2014) การประชุม IGF จะมีหัวข้อหลักว่าด้วยเรื่อง "Connecting Continents for Enhanced Multi-stakeholder Internet Governance" หรือ "เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เพื่อเพิ่มผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการปกครองอินเทอร์เน็ต" โดยมีหัวข้อย่อยดังต่อไปนี้

  • นโยบายเพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงได้
  • การสร้างสรรค์เนื้อหา เผยแพร่ และการใช้
  • อินเทอร์เน็ตในฐานะตัวขับเคลื่อนการเติบโตและการพัฒนา
  • IGF และอนาคตของสภาพแวดล้อมในอินเทอร์เน็ต
  • การเพิ่มความเชื่อใจ (trust) ในโลกดิจิทัล
  • อินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชน
  • การจัดการทรัพยากรอินเทอร์เน็ตที่สำคัญและประเด็นอื่นที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ (emerging issues)

การประชุม IGF จะเหมือนการประชุมทั่วไป ที่จัดแบ่งหัวข้อและมีห้องประชุม (track) ในแต่ละประเด็น รวมถึงกิจกรรมที่เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) และบางครั้งก็มีหัวข้อที่ถูกจัดขึ้นมาทันที (flash sessions) โดยไม่มีการบอกก่อนล่วงหน้าเช่นกัน

บทบาทของไทยในฐานะผู้เข้าร่วมเวที IGF

สำหรับบทบาทของไทยนั้นต้องแบ่งออกเป็นหลายส่วนครับ ซึ่งในส่วนของภาครัฐ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะเดินทางเข้าไปร่วมประชุมดังกล่าวในปีนี้ ส่วนภาคเอกชน และ/หรือ ภาคประชาสังคมของไทย ที่ยืนยันแล้วมี Thai Netizen (อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เพิ่มเติมภายหลัง)

ในปีนี้เอง Blognone จะมีรายงานจากที่ประชุมเป็นระยะ ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมในทุกหัวข้อ โดยสำหรับคนที่สนใจเนื้อหา สามารถติดตามย้อนหลังได้จาก เว็บไซต์ของทาง IGF ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
Contributor Symbian Ubuntu In Love
on 18 August 2014 - 18:53 #732860
panurat2000's picture

โดยมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ภายในอนาคารที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ

อนาคาร => อาคาร

อินเทอร์เน็ตในฐานะตัวเร่งปฏิกริยาของความเปลี่ยนแปลง

ปฏิกริยา => ปฏิกิริยา

By: pasuth73
iPhone Windows Phone Android Ubuntu
on 18 August 2014 - 20:57 #732899

ไม่มีตังตามไปดูขอมีส่วนร่วมรับฟังในblognoneแล้วกันครับ:)