นักวิจัยจาก Georgia Institute of Technology, University of California จากสหรัฐอเมริกา และ Chinese Academy of Sciences, Chongqing University จากจีน ได้ร่วมกันคิดค้นสร้างต้นแบบแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์แบบใหม่ ที่ไม่ต้องอาศัยแหล่งพลังงานภายนอกมาเลี้ยงตัวมันเอง และยังมีระบบรู้จำแยกแยะผู้ใช้งานตัวมันได้โดยอ้างอิงจากรูปแบบการพิมพ์ของแต่ละคนที่จะแตกต่างกันไป
โครงสร้างหลักที่คอยทำหน้าที่ตรวจจับการพิมพ์ คือแผ่นพลาสติก PET ที่เคลือบด้วยฟิล์มตัวนำ ITO ไว้ทั้งด้านบนและด้านล่าง (และมีเส้นทางให้ประจุไฟฟ้าไหลผ่านไปมาหากันได้) โดยด้านบนมีการเคลือบทับแผ่นฟิล์ม ITO อีกชั้นด้วยวัสดุสังเคราะห์ FEP
ในภาวะปกติตัว FEP จะมีค่าประจุไฟฟ้าเป็นลบ ทำให้เกิดการผลักประจุลบในแผ่นฟิล์ม ITO ให้ลงไปอยู่ด้านล่างของ PET จนเมื่อปลายนิ้วของผู้ใช้ซึ่งมีค่าประจุไฟฟ้าเป็นบวกมาสัมผัสกับแป้นพิมพ์ที่ชั้นบนของ FEP ก็จะทำให้เกิดแรงดูดอิเล็กตรอนให้ไหลจากแผ่นฟิล์ม ITO ชั้นล่างมาสู่แผ่นฟิล์ม ITO ชั้นบน เกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้านั่นเอง และเมื่อผู้ใช้ยกปลายนิ้วขึ้นจากแป้นพิมพ์ อิเล็กตรอนที่อยู่บริเวณแผ่นฟิล์ม ITO ชั้นบนก็จะไหลกลับลงสู่แผ่นฟิล์มชั้นล่างอีกครั้ง
การก่อให้เกิดสัญญาณไฟฟ้าด้วยหลักการที่กล่าวมา ทำให้แป้นพิมพ์รับรู้การพิมพ์ได้ โดยไม่ต้องใช้ระบบเชิงกลใดๆ และด้วยโครงสร้างที่ว่ามา ทำให้แป้นพิมพ์ต้นแบบงานวิจัยนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ค่อยสกปรก เพราะมีซอกหลืบให้ฝุ่นละอองสิ่งสกปรกไปสะสมได้น้อย แตกต่างจากแป้นพิมพ์เชิงกลโดยทั่วไปที่ต้องมีการเคลื่อนที่ของปุ่มกด
ความสามารถที่สำคัญของแป้นพิมพ์ต้นแบบงานวิจัยนี้ก็เป็นผลพวงมาจากหลักการตรวจจับการสัมผัสที่จะมีกระแสไฟฟ้าไหลทุกครั้งที่ผู้ใช้สัมผัสแป้นพิมพ์ ซึ่งหากมีการพิมพ์อย่างต่อเนื่องเพียงพอ แป้นพิมพ์ก็จะสามารถแปรเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นให้เป็นพลังงานสำหรับเลี้ยงตัวมันเอง และอาจเหลือพอที่จะใช้งานเพื่อชาร์จไฟให้แก่อุปกรณ์ภายนอกได้ด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ แป้นพิมพ์สุดล้ำนี้ยังมีระบบวิเคราะห์เพื่อแยกแยะตัวตนของผู้ใช้งานได้ โดยอาศัยข้อมูลจากระบบตรวจจับสัมผัสมาเป็นเกณฑ์ในการระบุตัวตนผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นแรงกดที่กระทำต่อแป้นพิมพ์, ความเร็วในการพิมพ์, การเว้นจังหวะและระยะเวลาในการกดแป้นพิมพ์แต่ละตัว ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนจะมีรูปแบบข้อมูลที่ว่ามาแตกต่างกันไป
โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากกระทวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็หวังว่าหน่วยงานรัฐจะช่วยผลักดันให้สิ่งประดิษฐ์นี้ได้เดินหน้าสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายจริงได้ในอนาคตอันใกล้ โดยหนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า ตอนนี้แป้นพิมพ์ของพวกเขาใกล้จะสมบูรณ์แล้ว และน่าจะพร้อมสำหรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขาดก็แต่เพียงนักลงทุนเท่านั้น
ใครที่สนใจรายละเอียดของงานวิจัยสุดยอดแป้นพิมพ์นี้ สามารถเข้าไปอ่านเอกสารตัวเต็มได้ที่ ACSNano
ที่มา - TechCrunch
Comments
ผมอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามีประโยชน์ตรงไหนเลยครับ นอกจากไม่สกปรก
โดยเฉลี่ย แป้นคีย์บอร์ด มีความสกปรกมากกว่ากว่า ฝารองนั่งชักโครก ถึง 60 เท่านะครับ ...
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
ขอบคุณครับ อ่านข้อความนี้แล้วถึงกับต้องก้มลงมองคีย์บอร์ดเลย
วัดกันทางเชื้อโรคกับแบคทีเรียสินะ แต่ความน่าขยะแขยงกับความสะอิดสะเอียนมันต่างกันครับ
ในนี้เขียนว่า ระบุตัวตนผู้ใช้ได้ กับถ้ากดต่อเนื่องพอก็มีพลังงานในตนเอง
ต้นทางจะมีเขียนเรื่องการใช้เป็น smart security system (detect, alert, recording, identification) แล้วถ้าพิมพ์เร็วขนาด 100 ตัวต่อนาที ก็จะชาร์จอุปกรณ์ได้ด้วย
ผมว่ามันก็น่าสนใจตรง cyber security เช่น สมมติคน hack เข้ามาแต่ถ้า pattern การพิมพ์ไม่ตรงกับผู้ดูแลระบบก็อาจจะ alert หรืองดการใช้อะไรแบบนี้ครับ
อ้อครับ แบบนี้เห็นภาพชัดครับ ผมไม่ได้อ่านต้นทาง ต้องขอบคุณมากๆครับ
อยากรู้ว่าคีบอร์ดโสโครกขนาดไหน ต้องลองไปทำงานซัพพอร์ทของบริษัทใหญ่ๆครับ
ผมเคยทำบริษัทนึง ดูแลคอมให้ ธ. ห้าง หลายแห่ง ทำความสพอาดเดือนละครั้ง อยากจะบอกว่า.......
เศษเล็บ เศษขนม เส้นผม ขี้ฝุ่น คลิปหนีบกระดาษ ฯลฯ คีบอร์ดบางอัน ถึงขนาดต้องแงะปุ่มออกมาก่อน แล้วเคาะ ถึงเอาเศษต่างๆออกมาได้ ไม่รู้มันจับยัดลงไปได้ยังไง 555
นี่ขนาดทำทุกเดือนนะครับ ถ้าปีละครั้งลองคิดดูว่าจะเป็นยังไง
ปล.ลองเคาะคีบอร์ดคุณดูรึยัง
กระทวง => กระทรวง
ใช้การเป็น Hipster ได้ประโยชน์ดีจริมๆ :3
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ถ้ามันพัง จะต่างอะไรกับ แบตในตัวมันหมดอะ
การกดคีย์บอร์ดแล้วปุ่มมันไม่บุบลงไปมันไม่รู้สึกว่าทำงานได้หรือกดสำเร็จแหะ
The Dream hacker..
คีย์บอร์ดที่ดี เขาสนแค่มันตอบสนองกับการพิมพ์ดีหรือเปล่าเท่านั้นแหละ ไม่ได้สนหรอกว่ามันจะชาร์จไฟได้หรือเปล่าคิดถึงรองเท้า ถ้ามันชาร์จไฟได้ก็ดี แต่ถ้ามันใส่ไม่สบายจะมีประโยชน์อะไร?
ผมเลือกที่สัมผัสดีๆมากกว่านะ
คีย์บอร์ดที่เป็นแผ่นบางๆ หรือคีย์บอร์ด บนจอสัมผัส การสัมผัสเมื่อกดก็ยังไม่รู้สึกดีเหมือนคีย์บอร์ดจริงอยู่ดีอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลย
บางครั้งกดคีย์บอร์ดโน๊ตบุ๊คผมยังรำคาญใจที่มันเด้งไม่เท่าคีย์บอร์ดจริงๆ
มันก็คงประหยัดไฟได้ แต่ไม่รู้ว่าปกติคียบอร์ดมันกินไฟเท่าไหร่
แต่เรื่องระบุตัวตนจากคียบอร์ด เราใช้สำหรับ login ได้หรือเปล่าหว่า หรือจะเอาไปจับได้ว่าข้อความที่พิมพ์มานี้ใครพิมพ์