ตลาดเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะเริ่มมาแรงตั้งแต่ปีที่แล้ว และน่าจะมาแรงมากขึ้นในปีนี้ เพราะบริษัทไอทีหลายรายเริ่มบุกตลาดนี้กันอย่างจริงจัง ทั้ง Nest ของกูเกิล , SmartThings ของซัมซุง , HomeKit ของแอปเปิล รวมถึง Wink ของ Quirky
สิ่งที่แพลตฟอร์มบ้านอัจฉริยะข้างต้นมีร่วมกันคือมันเป็นแพลตฟอร์มที่ผลักดันจากบริษัทไอที แต่จริงๆ แล้วเรายังมีระบบบ้านอัจฉริยะจากบริษัทด้านไฟฟ้าด้วยเช่นกัน แพลตฟอร์มที่จะมานำเสนอในวันนี้คือ Wiser จาก Schneider Electric ยักษ์ใหญ่วงการไฟฟ้าจากยุโรป โดยทีม Blognone ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารของ Schneider ประเทศไทยเพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องนี้
Schneider Electricเป็นบริษัทที่ขายอุปกรณ์ด้านไฟฟ้า เช่น สวิตช์ ปลั๊ก โหลด รีเลย์ สายเคเบิล อุปกรณ์ควบคุม ฯลฯ ที่ใช้สำหรับวางระบบไฟฟ้าในอาคารอยู่แล้ว การต่อยอดมาทำระบบควบคุมบ้านอัตโนมัติจึงถือเป็นส่วนต่อขยายโดยธรรมชาติ ซึ่งบริษัทก็ออกแพลตฟอร์ม Wiser มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว
แนวคิดของ Wiser คือมีอุปกรณ์ควบคุมบ้านหรือ Home Controller 1 ตัว (แนวคิดแบบเดียวกับ SmartThings หรือ Wink ที่ต้องมี "ฮับ") คอยควบคุมการปิด-เปิดหรือระดับพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน การควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านทำได้ทั้งแบบมีสาย (Electronic Interface Blanking Unit หรือ C-Bus) และแบบไร้สาย (ใช้ Zigbee ใช้ชื่อการค้าว่า EZInstall)
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ Wiser รองรับก็มีตั้งแต่ง่ายๆ อย่างหลอดไฟ ม่านบังแดด แอร์ ไปจนถึงเครื่องซักผ้า เครื่องเล่นดีวีดี กล้องวงจรปิด ระบบรดน้ำต้นไม้-ให้อาหารสัตว์เลี้ยง (ถ้าอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นไม่รองรับฟีเจอร์ควบคุมจากระยะไกล ก็ใช้วิธีคุมผ่านปลั๊กหรือสวิตช์ของ Schneider อีกทีหนึ่ง)
จากนั้นก็เชื่อมต่อ Home Controller กับอุปกรณ์ควบคุมสารพัดชนิด ซึ่งมีตั้งแต่แผงควบคุมที่แปะไว้ข้างกำแพง-ประตูบ้าน ไปจนถึงแอพบนสมาร์ทโฟนที่ส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต (รองรับ iOS/Android)
ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จะออกมาแบบในวิดีโอสาธิตครับ
ฟีเจอร์อย่างอื่นนอกเหนือจากการควบคุม หรือปิด-เปิดอุปกรณ์แล้ว Wiser ยังช่วยเก็บสถิติการใช้พลังงาน และช่วยปรับแต่งเพื่อให้บ้านเราประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย (Schneider มีธุรกิจด้านพลังงานอยู่แล้ว)
ในแง่ความสามารถแล้ว Wiser อาจไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือแตกต่างไปจากระบบบ้านอัจฉริยะค่ายอื่นๆ ซึ่งทางผู้บริหารของ Schneider Electric ก็ย้ำว่าจุดขายของ Wiser คือความน่าเชื่อถือ (reliability) เนื่องจากผู้บริโภคเองก็ไม่ได้ต้องการฟีเจอร์พิสดารมากมาย แต่ขอแค่สั่งปิดไฟแล้วระบบปิดไฟให้ทุกครั้งอย่างที่สั่ง ไม่ใช่มีบั๊กปิดบ้างไม่ปิดบ้างจนไม่สมชื่อ smart แบบที่โฆษณาไว้ ( Gizmodo เพิ่งลงบทความวิจารณ์ Wink ว่ามีปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก )
แนวทางการติดตั้งระบบ Wiser ของ Schneider ก็แตกต่างจากอุปกรณ์ควบคุมบ้านของบริษัทไอที เพราะ Schneider แนะนำว่าไม่ควรซื้อมาติดตั้งเอง แต่ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายของ Schneider มาติดตั้งให้ครบทั้งโซลูชัน เนื่องจากระบบไฟฟ้าแบบนี้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยคำนวณ ออกแบบ และเขียนโปรแกรมให้เหมาะกับบ้านของเราจะดีกว่า
ราคาของ Wiser ขึ้นกับขนาดของบ้านและความต้องการของลูกค้า ผมสอบถามราคาเฉพาะของตัวอุปกรณ์ควบคุมกลาง (Home Controller) อยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นบาท ตอนนี้มีบ้านเศรษฐี บ้านจัดสรรเกรดพรีเมียม และรีสอร์ตหลายแห่งเป็นลูกค้าอยู่ครับ
Comments
Schneider Electronics >>> Schneider Electric
มีหลายค่ายหลายมาตรฐานเลยนะครับ ตอนนี้อยากได้แค่เปิดปิดแอร์ก่อนถึงบ้าน ผมก็แฮปปี้แล้วครับ
ดูเมื่อเช้า เห็นน่าสนใจดีครับ https://www.youtube.com/watch?v=4y7YWammBVk&feature=youtu.be
นึกถึง Wesley Sneijder
ถ้ามันเชื่อมต่ออุปกรณ์ไอทีรอบบ้านได้คงถึงเวลาซื้อมาลอง