Blognone เคยเสนอ ข้อมูลของ maker movement ไปแล้ว และนำเสนอ ข่าวที่เกี่ยวกับ maker อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็น maker space และการรวมกลุ่ม maker ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
ล่าสุดบ้านเรากำลังจะมีงาน Chiang Mai Maker Party ซึ่งเป็นงานชุมนุม maker งานแรกๆ ในไทยที่จัดโดยกลุ่ม Chiang Mai Maker Club วันที่ 28-29 มีนาคม 2558 นี้
เพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้าน maker ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราจึงสัมภาษณ์ นายแพทย์ภาณุทัต เตชะเสนหรือ หมอจิมมี่ผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Maker Club ถึงที่มาที่ไปของการจัดงานครั้งนี้ครับ (ถ้าใครโตทัน หมอจิมมี่คนเดียวกับที่ทำ Windows และ PocketPC ภาษาไทยนั่นล่ะครับ ใช้ชื่อใน Blognone ว่า mozeal)
ที่มาที่ไปของการตั้งกลุ่ม Chiang Mai Maker Club เกิดจากอะไร
ผมทำงานด้าน mobile developer มานาน แต่มีความสนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็ก ช่วงสองปีที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีที่เริ่มทำให้ mobile application สามารถติดต่อควบคุมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกมากขึ้น เช่น Raspberry Pi, Arduino โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี Bluetooth 4.0 เกิดขึ้น ก็เลยเริ่มมีโครงการเกี่ยวกับด้านประยุกต์ใช้ฮาร์ดแวร์ร่วมกับ mobile app
บริษัท AWTP เป็นบริษัทในเครือ ทำเรื่องฮาร์ดแวร์อยู่ ก็มาทำงานร่วมกัน มีการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือไปมาก เช่น 3D printer, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องมือแล็บ, เครื่องตัดเลเซอร์ ฯลฯ
ในเชียงใหม่มีน้องๆ ทั้งที่เป็นนักศึกษาและทำงานแล้ว เล่นอิเล็กทรอนิกส์อยู่พอสมควร ส่วนใหญ่พูดคุยกันในเน็ต ปรึกษางานกันเป็นประจำ ก็เลยคิดว่าเครื่องมือกับห้องทำงานในวันเสาร์อาทิตย์นั้นไม่มีคนใช้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเริ่มโครงการ CSR ขึ้น ตั้งเป็นชมรม Chiang Mai Maker Club เพื่อให้น้องๆ ที่สนใจงานอิเล็กทรอนิกส์และงานประดิษฐ์ สามารถเข้ามาใช้เครื่องมือและสถานที่ได้ฟรีในช่วงกลางคืนและเสาร์อาทิตย์
บริษัท AWTP และผู้ที่ให้การสนับสนุนอื่นจะให้ทุนช่วยเหลือในการซื้ออุปกรณ์และวัสดุต่างๆ น้องๆ ก็มาใช้สถานที่สร้างสรรค์งานกัน ภายหลังก็กลายเป็นที่ทำการชมรมโดยถาวรไปเพราะน้องๆมาทำงานกันแทบตลอดเวลา
ชมรมเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเล่นมาใช้อุปกรณ์ต่างๆโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อทำงานเสร็จแล้วต้องเขียนบทความ และเปิดเผยขั้นตอนการทำงานและ source code ต่างๆ เป็นโอเพนซอร์สทั้งหมดครับ เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน
งานทั้งหมดจะแชร์ไว้ที่ http://www.cmmakerclub.com และมี กลุ่ม Facebook ที่ใช้เป็นหลักในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
มองว่าสายงาน Maker ในประเทศไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน
น่าจะไปได้ไกลมาก งานของน้องๆ ที่มาทำกันเรียกว่าน่าสนใจ และสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์จริงได้หลายตัว ตอนนี้กระแส Open Hardware กำลังมา เชื่อว่าอีกไม่นาน น่าจะได้เห็น Hardware Startup ในเมืองไทยมากมาย
ยิ่งตอนนี้มี Maker Space เกิดขึ้นมาก ยิ่งทำให้การแลกเปลี่ยนและกระจายความรู้ รวมทั้งการรวมตัวกันเป็นเน็ตเวิร์คของ Maker จะยิ่งทำให้วงการนี้โตเร็วแน่นอน ตลาด Hardware เริ่มเปิดมากขึ้น คล้ายกับตลาดซอฟต์แวร์เมื่อก่อน
การผลิตสามารถทำได้ในจำนวนน้อยชิ้น และมีตลาดขายสินค้าไปถึงผู้ซื้อโดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต ช่วยให้กระแสตรงนี้กำลังมาแรงมาก
อยากให้เชิญชวนมางาน Chiang Mai Maker Party
งานนี้เป็นงานที่เราเชิญ Maker ทั่วประเทศมาร่วมแจมกัน เพื่อให้เกิดเครือข่าย ได้รู้จักกัน เอางานมาโชว์กัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน และที่สำคัญคือทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการ Maker ว่าถึงเวลาแล้วที่จะสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นในไทย
ตอนนี้ได้รับการตอบรับด้วยดีอย่างมากจากบรรดา Maker ทั่วประเทศ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ "เชียงใหม่สร้างสรรค์" และมีวิทยากรมาพูดในงานน่าสนใจมากมาย ทั้งจาก สวทช. ที่จะมาพูดเรื่อง Maker Fair และ Maker Community นอกจากนี้ยังมี Maker จากสิงคโปร์มาร่วมงานด้วย
คาดว่างานนี้จะเป็นที่รวมของ Maker ในไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานด้าน The Internet Of Things ในไทยครับ
กำหนดการ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อ และเวลา)
28–29 มีนาคม 2558
- เริ่ม 10.00 – 18.00 น. (มีการสาธิตและแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสมาชิกและผู้สนับสนุน ตลอดทั้งวัน)
เสาร์ 28 มีนาคม 2558
- 10.00 – 10.30 น. เปิดงาน
- 11.00 – 12.00 น. โชว์เทคโนโลยี Drone, หุ่นยนต์ และรถบังคับ
- 13.00 – 14.30 น. Freestyle talk
- 15.00 – 18.00 น. Mini Workshop ประกอบ Drone และรถบังคับ
อาทิตย์ 29 มีนาคม 2558
- 10.00 – 12.00 น. Freestyle talk
- 13.00 – 14.00 น. Smart home (สาธิต และแชร์ประสบการณ์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ติดต่อสื่อสารควบคุม)
- 14.30 – 15.30 น. แข่งรถบังคับบนสนามหลากฤดู ชิงสุดยอดรางวัลเด็ด
อ่านเพิ่มเติม: รายละเอียดของงาน Chiang Mai Maker Party
Comments
อยากไปเชียงใหม่เลยครับ
Writer no.59 เพื่อสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้
หัวข้อบรรยายในงานครับ
(อาจมีเพิ่มเติมภายหลังครับ)