วันนี้ในที่ประชุมกสทช. (16 กันยายน) ได้มีมติให้ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz เพื่อนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 24 กันยายนถึง 25 ตุลาคม และเปิดให้ยื่นซองประมูลวันที่ 26 ตุลาคมนี้
รายละเอียดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz โดยรวมจะคล้ายกับของการ ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz แต่จะมีจุดแตกต่างไปบางส่วน สรุปโดยสังเขปมีดังนี้
- ราคาขั้นต่ำของใบอนุญาตในกรณีที่มีผู้ประมูลมากกว่าสองรายจะอยู่ที่ 12,864 ล้านบาท โดยราคาประมูลเริ่มต้นรอบแรกจะอยู่ที่ 13,508 ล้านบาท
- แต่ถ้าหากมีผู้ร่วมประมูลน้อยกว่า 2 ราย ราคาขั้นต่ำจะเพิ่มเป็น 16,080 ล้านบาท และเริ่มต้นประมูลรอบแรกที่ 16,402 ล้านบาทแทน
- การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมของคลื่นความถี่ย่าน 900MHz จะต้องจัดการให้บริการอย่างน้อย 50% ใน 4 ปี และ 80% ใน 8 ปี ซึ่งสูงกว่าของคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz ที่กำหนดขั้นต่ำ 40% ใน 4 ปี และ 50% ใน 8 ปี
- เมื่อเปิดให้บริการแล้ว ค่าบริการจะต้องถูกกว่าค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100MHz ที่ใช้ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย และผู้พิการด้วย
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ยกมาหารือในที่ประชุมกสทช. คือการกำหนดให้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม (กลุ่มที่ไม่ได้ใช้คลื่นความถี่) ต้องจัดลำดับช่องทีวีดิจิทัลไว้ในช่อง 1-36 ส่วนที่เหลือจะจัดเรียงอย่างไรก็ได้ โดยจะมีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์
กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz เน้นประโยชน์ประชาชนและรัฐเป็นหลัก พร้อมผ่านหลักเกณฑ์การเรียงช่อง ให้เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ต้องนำช่องรายการทีวีดิจิตอลทั้ง 36 ช่องเรียงไว้ในลำดับที่ 1-36
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ก.ย. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พร้อมทั้งเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวที่ปรับปรุงแล้ว ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอและให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อาทิ ช่องดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ต้องจัดให้มีรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ช่องทีวีดิจิตอล) ไว้ที่ช่องรายการ 1-36 ส่วนช่องรายการที่ 37-60 เป็นช่องที่ผู้ประกอบการเลือกนำรายการใดมานำเสนอก็ได้ โดยร่างประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 895-915/940-960 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) รวมทั้งเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. ทั้ง 2 ฉบับ และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะเริ่มประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 24 ก.ย. ถึง 25 ต.ค. 2558 และจะเปิดให้ยื่นเอกสารการประมูลในวันที่ 26 ต.ค. 2558
สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ภายหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว ในส่วนหลักๆ ยังคงมีรายละเอียดเหมือนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่มีส่วนที่แตกต่างคือ
1.เรื่องความครอบคลุมของโครงข่าย หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี แต่สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นั้นกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 8 ปี เพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น
2.ราคาขั้นต่ำและงวดการชำระเงินประมูล โดยราคาขั้นต่ำในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 2 ราย จะอยู่ที่ 12,864 ล้านบาท และราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 13,508 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 2 ราย ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 16,080 ล้านบาท และราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 16,402 ล้านบาท สำหรับงวดการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด โดยงวดแรกชำระ 50% งวดที่ 2 ชำระ 25% งวดที่ 3 ชำระ 25% เช่นเดิม ยกเว้นในกรณีที่ราคาประมูลสูงสุดมากกว่า 100% (หรือ 16,080 ล้านบาท) จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด โดยค่าประมูล 16,080 ล้านบาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด ส่วนเหลือชำระในงวดที่ 4 ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการสมยอมราคาจากการเปิดเผยวงเงินประมูลของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายในตอนที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาประมูล
3.กำหนดวันประมูลเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2558 แต่หากมีกรณีเปลี่ยนแปลงวันประมูลที่แตกต่างจากเดิมให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่จะดำเนินการได้ และสำนักงาน กสทช. จะแจ้งผู้เข้าร่วมประมูลให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันประมูล
4.เงื่อนไขในส่วนของมาตรการทางสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เช่นเดียวกับเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
และที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่ 2) และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ได้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง เงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ถัดจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่ง กสทช. เรื่อง ระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด ซึ่งส่งผลให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมที่เคยประกาศไว้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้ไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดดังกล่าว ยังคงมีแต่ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ที่มี บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับเรื่องการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล ที่ประชุม กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดไปยัง ปปช. สตง. และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความเห็นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อไป
Comments
TOT ว่าไงครับ
ยื่นศาลต่อสิครับ
แน่นอน เพราะ TOT ไม่ปล่อยช่องทางหารายได้ออกไปง่ายๆ หรอกครับ
Get ready to work from now on.
จะสำเร็จมั้ย?
อีกตั้งเดือนกว่า ๆ ยังมีอะไรให้ดูสนุก ๆ อีกเยอะครับ
เรียงช่อง !!!
สาธุ ~
"ต้องจัดลำดับช่องทีวีดิจิทัลไว้ในช่อง 1-36 ส่วนที่เหลือจะจัดเรียงอย่างไรก็ได้ โดยจะมีผลหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน" -- งงว่าตกลงทีวีดิจตอล จะอยู่ยังไงอะครับ ข่าวที่แล้วบอกห้ามมาอยู่ใน 1-10 แล้วตอนนี้ทำไมเปลี่ยนเร็วจัง --a
อันนั้นหมายถึงพวกดาวเทียมมั่วนิ่มสลับช่องเอาเองน่ะครับ เขาแค่บอกว่าให้แก้ให้ใช้เหมือนชาวบ้านซะนะ
อันนี้คือในอนาคตทุกคนต้องใช้เลข 1-36 เหมือนกันหมด
ไม่เข้าใจว่าทำไม กสทช. ไม่บังคับเรียงช่องทีวีดิจิตอลให้เหมือนกันตั้งแต่แรก ใจโลเลออกข้อบังคับเรียงช่องสลับไปสลับมา คนดูแบบไม่ค่อยเปลี่ยนช่องและขี้เกียจจำเลขช่องเนี่ยเซ็งมาก
I'M... , NOT A CLONE.
ก็คงได้ทั้ง 2 เรื่องแหละผมว่า
900 ถ้าไม่มีเกมส์ล้มโต๊ะ ก็คงได้ประมูลคราวนี้
แต่เรียงช่อง 1-36 นี่มาช้าไป คงโดนยื้อหน่อย ไหนจะ บ. กล่องดาวเทียม กะช่องที่เค้าตกลงกันไปแล้ว ถ้าให้เดาก็คงมีฟ้อง กสทช. ไปตามเรื่องเสียประโยชน์ ต้องมาตั้งโต๊ะคุยกันก่อน ไรเงี่ยถึงช้าหน่อย แต่ก็ได้แหละผมว่า..
เมื่อวานเพิ่งออกคำสั่งให้ถอดช่องดิจิทัลออกจาก 1-10 ไปครับ แต่ถ้าเค้าอยากอยู่ เค้าก็ต้องแปลงสภาพกิจการเป็นทีวีดาวเทียม ถึงจะสามารถอยู่ 1-10 ได้ ที่แน่ๆ คือเรื่องเมื่อวาน เป็นผลมาจากคำฟ้องร้องของ 5 บริษัททีวีดิจิทัลเองนั่นแหละครับ
ครับ ความเห็นผมจึงว่าได้แหละ แต่ช้าหน่อย เพราะกว่า กสทช. จะขยับอะไรที ทำแล้วตัดสินใจแล้วก็มาปรับใหม่ ปรับไปปรับมา ต้องโดนฟ้องก่อนถึงจะขยับได้เร็วขึ้นอะ ^^"