เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา Cisco จัดเสวนาวงปิดเรื่อง "Internet of Everything (IoE) เปลี่ยนประเทศไทย" โดยเป็นการสนทนาเกี่ยวกับบทบาท Internet of Everything ในประเทศไทยที่โรงแรม Grand Hyatt Erawan ซึ่งผมมีโอกาสเข้าร่วมงานดังกล่าวนี้ด้วย เลยสรุปมาให้ได้อ่านกันครับ
ในงานเสวนาครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้จำนวนทั้งหมด 4 ท่าน ประกอบไปด้วย
- น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน (รู้จักกันในวงการคือ หมอจิมมี่) ซีอีโอของ Maker Asia
- ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต รองประธานฝ่ายวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
- คุณอมฤต เจริญพันธ์ ซีอีโอร่วมและผู้ก่อตั้ง Hubba
- คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการของ Cisco ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน
คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์คุณวัตสันในฐานะเจ้าภาพเริ่มต้นโดยชี้ให้เห็นว่า กระแสของ IoE ไม่ใช่ของที่แปลกใหม่ในระดับสากล แต่กำลังเข้าสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยอธิบายว่าสาเหตุที่ Cisco ไม่ใช่คำว่า Internet of Things (IoT) ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะลักษณะของ IoT เป็นเรื่องของอุปกรณ์ระหว่างกัน (Machine-to-Machine: M2M) ขณะที่นิยามของ IoE จะครอบคลุมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุปกรณ์และคน (Machine-to-People: M2P) และระหว่างบุคคล (People-to-People: P2P) ด้วย
แนมโน้มในระดับโลกปัจจุบันเอง คุณวัตสันระบุว่ามีอุปกรณ์หลักหมื่นล้านชิ้นที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต และจากการคาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้าเอง จะมีมากกว่า 5 หมื่นล้านชิ้น และจะทำให้ประสบการณ์ของคนเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่เป็นการสื่อสารกันธรรมดา ไปสู่การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วกว่าเดิมและดีกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดมาจากผลของการแปลงเป็นดิจิทัล (digitization) ของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่สำคัญคือการต้องร่วมมือกัน และสำหรับภาครัฐเอง Cisco ระบุว่าควรมีบทบาทในการส่งเสริมและมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของ IoE โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการแพทย์ การผลิต การเกษตร และเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (smart city) ซึ่งทั้งหมดจะต้องรองรับด้วยโครงสร้าง (infrastructure) ที่ดีด้วยเช่นกัน
ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต
อาจารย์กาญจนาระบุว่า ผลจากการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทำให้ IoE สามารถเกิดขึ้นจริง ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดมาจากความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งบทบาทของภาครัฐในช่วงก่อตั้งอินเทอร์เน็ตถือว่ามีน้อย และทำให้อินเทอร์เน็ตสามารถเติบโตโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ จนก้าวหน้าอย่างในทุกวันนี้
IoE จะเข้ามามีบทบาทในฐานะของการช่วยเก็บข้อมูลทั้งในระดับการวิจัยและในระดับเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องของความเป็นส่วนตัวก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ รวมถึงความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งอาจารย์กาญจนาระบุว่าขอให้ทุกฝ่ายใส่ใจในจุดนี้ด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีปัญหาในเชิงของการกำกับดูแล อย่างเช่นปัญหาเรื่องของ Net Neutrality ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาที่นำมาสู่อินเทอร์เน็ตที่แตกกระจาย (fragmented) ไม่เชื่อมต่อเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว
น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน
ด้านหมอจิมมี่ออกมาระบุว่า กระแสของ IoE เกิดจากความนิยมที่มาจากเทคโนโลยีซึ่งมีราคาถูกลงและเล็กลงพอที่จะใส่ในอุปกรณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่นชิปที่สามารถทำงานได้ครบ (full stack) แต่มีราคาเพียง 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35 บาท) ทำให้ความนิยมเกิดขึ้นจากผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งด้วยแนวโน้มของการทำ digitzation และ commoditization ที่ได้รับผลต่อเนื่องจากการพิมพ์ 3 มิติ จึงทำให้กระแสความนิยมอย่าง IoE และ Maker Movement เกิดขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว IoE เป็นโลกที่เกี่ยวพันกับซอฟต์แวร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อัตราการพัฒนาของ IoE ไปเร็วกว่าในช่วงยุคสมัยแรกของการเกิดขึ้นของซอฟต์แวร์ นั่นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Model) ของการพัฒนาซอฟต์แวร์จากระบบปิด (closed source) ไปสู่ระบบเปิด (open source)
ในปัจจุบัน แนวโน้มที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับ IoE คือเรื่องของการนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อสร้างแนวทางที่เรียกว่า “Preventive Medicine” หรือ “การแพทย์ในเชิงป้องกัน” ซึ่งในอนาคตจะนำไปสู่บทบาทของแพทย์ใหม่ ซึ่งบทบาทของแพทย์จะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำเท่านั้นมากกว่าเป็นผู้ให้การรักษา
คุณหมอจิมมี่ระบุว่า หากต้องการให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในมิติของ IoE มีความจำเป็นต้องมองไปถึงสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งซึ่งมองในระดับภูมิภาค รวมถึงชุมชนของ maker จะต้องเข้มแข็งด้วย โดยคุณหมอเทียบว่า หากในช่วงที่มี App Store ของ Apple ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เติบโตขึ้นอย่างมาก IoE ก็ต้องการสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและชุมชนเป็นตัวสนับสนุนนั่นเอง ซึ่งแนวโน้มของ IoE จะเริ่มเห็นการเติบโตตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
คุณอมฤต เจริญพันธ์
ส่วนคุณอมฤต ระบุว่าพื้นที่อย่างเช่น co-working space ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการเติบโตของ IoE เพราะถือเป็นพื้นที่ซึ่งคนทำงานแบบใหม่ (disruptor) มาพบกัน และสร้างจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) และมีโอกาสสร้างเครือข่าย (networking) กัน ทำให้มีการพัฒนาอย่างมากในอนาคต
สำหรับการพัฒนา IoE ในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากแม้ว่าเพิ่งจะเป็นช่วงที่เริ่มต้นก็ตาม ตัวอย่างเช่น DriveBot ที่ถือเป็นหนึ่งในผลงานของคนไทยซึ่งสร้างชื่อให้กับวงการสตาร์ทอัพของไทย อย่างไรก็ตามหากเทียบบทบาทในระดับภูมิภาคแล้ว เรากลับมีสตาร์ทอัพอย่าง DriveBot เท่านั้นที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งถือว่ายังน้อยและมีพื้นที่อีกมากในระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้าน IoE นี้
ผมมีโอกาสถามคำถามสั้นๆ ถึงผู้ร่วมเสวนาว่าในเชิงนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับ IoE เช่นนี้ควรจะทำอย่างไร เพราะหากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ก็ย่อมทำให้สภาพของการพัฒนาประเทศโดยรวมพัฒนาไปด้วย ซึ่งอาจารย์กาญจนาเองตอบว่าภาครัฐไม่มีส่วนสำคัญ แต่จะเป็นฝ่ายเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ต้องขับเคลื่อนด้วย ส่วนหมอจิมมี่ระบุว่าต้องให้ชุมชน maker เป็นคนขับเคลื่อน ด้าน Cisco มองว่าแม้ภาครัฐอาจจะไม่มีบทบาทสำคัญ แต่การที่ภาครัฐสนับสนุนจะเป็นกระดานสปริง (springboard) ที่จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วย
ขอบพระคุณทาง Cisco ประเทศไทยมา ณ ที่นี้ด้วยสำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ครับ
Comments
IoE ถ้าไม่มี IPv6 ก็จบ
จริงอย่างที่สุดเลย IPv4 ไม่มีแล้ว
พฤหัสบดีที่ 20 => พฤหัสบดีที่ 19 / ศุกร์ที่ 20
นพ. => น.พ.
ปรากฎการณ์ => ปรากฏการณ์
ก็ย่อมทำให้สภาพของการพัฒนาประเทศไปด้วย ?
มองงว่า => มองว่า
แตการ => แต่การ
แวะมาดูภาครัฐไทย
จะทำ single gateway เนี่ย มาปฏิรูประบบกระดาษ/แสกน ระบบ ID(บัตรประชนชน, ใบขับขี่, etc.) ให้เป็นดิจิม่อน เอ้ยดิจิตอลก่อนดีมั้ย..
หลายเป็นงานที่เสียเวลาที่สุดในปัจจุบันคืองานที่ต้องติดต่อกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี่แหละ
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)