Jason Fried ผู้ก่อตั้งบริษัท Basecamp เว็บแอพสำหรับคุยและติดตามงาน (บริษัทนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของ Ruby on Rails) ออกมาโพสต์ว่ามูลค่าบริษัท (valuation) คือ 1 แสนล้านดอลลาร์ (3.6 ล้านล้านบาท) เรียบร้อยแล้ว เยอะกว่าบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ทุกรายที่มาแรงในตอนนี้
ตามปกติแล้ว การตีมูลค่าของบริษัทจะคิดตามราคาหุ้นที่ขายได้ในรอบล่าสุด แล้วคูณด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งกรณีของ Basecamp ขายหุ้นสัดส่วน 0.000000001% ให้นักลงทุนในราคา 1 ดอลลาร์ เมื่อคูณกลับมาแล้ว มูลค่าของบริษัทจึงเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์นั่นเอง
Fried ประกาศบอกพนักงานว่าบริษัทมีมูลค่าสูงมาก ได้เวลาหยุดหารายได้กันแล้ว บริษัทจะเปลี่ยนมาบริการทุกอย่างฟรีหมด แล้วให้ตลาดทุนเป็นฝ่ายประเมินมูลค่าของบริษัทแทนว่าในอนาคตถ้าบริษัทจะกลับมาทำเงิน จะสามารถหาเงินได้มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ Basecamp ยังอ้างสถิติของอาจารย์ด้านการเงินว่า ตลาดของ Basecamp จะขยายฐานผู้ใช้ได้ถึง 12 พันล้านคนในปี 2016 เพราะไม่จำกัดผู้ใช้เฉพาะมนุษย์เพียงอย่างเดียวสักหน่อย
ทั้งหมดเป็นการประชดวงการสตาร์ตอัพในตอนนี้ ที่กำลังเล่น money game สร้างมูลค่าบริษัทให้มากๆ โดยไม่สนใจพื้นฐานธุรกิจที่แท้จริงสักเท่าไร
ที่มา - Jason Fried
Comments
ต่อไปจะฟองแตกแบบยุค dot comไหม
งั้นขอตั้งชื่อล่วงหน้าว่ายุค Shutdown นะครับ เพราะตอนนี้ก็มียุค Startup แล้ว
ผมเห็นน้อง ๆ ที่ทำ start up คุยกันกับคุณพี่ท่านนึงหลัง sesssion นึงใน barcamp (คุยกันนานด้วย) ฟังแล้วก็สงสัยเลยว่าสร้างบริษัทกันเพื่อกะขายเป็นวัตถุประสงค์หรือเปล่า
แต่ที่คุยกันเนื้อหาน่าสนใจเหมือนนะ แค่ว่าได้ยินเหมือนมีคนมุ่งเป้าจะปั้นมาขายอย่างเดียว
สร้างเพื่อขายก็เป็นวิธี exit ออกจากธุรกิจแบบนึงครับ
เพราะคุณค่าของบริษัทที่ขายไปอาจจะอยู่ที่กำไร ยอดขาย ยอดสมาชิก เทคโนโลยี ทีมงาน โปรดักส์ ฯลฯ ที่คนซื้อต่อคิดว่าเอาไปต่อยอดได้
เช่น A สร้างวิธีตรวจลิขสิทธิ์ในวิดีโอได้ดีขึ้น เร็วขึ้น ใช้พลังน้อยลง เพื่อกะขายให้ Google (Youtube) ซื้อ อันนี้ก็คือสร้างเพื่อรอขาย Google เลย
ส่วนถ้าหวังว่า ปั้นให้เจ้าใหญ่ซื้อโดยไม่ได้สนตัวธุรกิจมากนัก เน้นแต่ตัวเลขอะไรบางอย่างที่ทำให้ดูดีในสายตานักลงทุน เอาเงินมาลงทุนต่อๆกัน แล้วแต่ละคนก็ exit ไปที่ละคนๆ ทีละนิดๆ สุดท้ายบริษัทล้มเหลว คนท้ายๆซวย ผมว่าอันนี้ money game
อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่ามีมูลค่าขนาดนั้นได้ไง ถ้าลงทุนคนละ 100 $ ก็ต้องมี 1000 ล้านคนมาลงทุน
ขายหุ้นหนึ่งหน่วยราคา $1 โดยหุ้นหนึ่งหน่วยนี้คิดเป็นสัดส่วน 0.000000001% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท พี่แกเลยเคลมว่ามูลค่าของบริษัทแกเท่ากับ 1 / 10^-11 = $10^11 หรือ $100 Billion ครับ เป็นการแดกดันวงการ startup ที่คลั่งตัวเลขด้วยตัวเลขครับ
ถ้ามองบริษัทเองเป็นสินค้าอันหนึ่ง เราสามารถคำนวณมูลค่า หรือ "ราคา" ของบริษัทโดยการเอาราคาหุ้นที่ซื้อขายกัน คุณกับจำนวนหุ้นของบริษัท ก็จะได้ราคาของบริษัททั้งบริษัท (ถ้าคุณยอมจ่ายเงิน 1 ล้านบาทซื้อหุ้น 1% ของบริษัท A แปลว่าคุณมองว่าบริษัท A ทั้งบริษัทมีมูลค่าอย่างน้อย 100 ล้านบาท คุณถึงยอมจ่ายราคานี้)
ถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว มูลค่าอันนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า market cap (ราคาหุ้นในตลาด*จำนวนหุ้นทั้งหมด) แต่ในกรณีของพวกบริษัทที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ แบบพวก start-up ก็อาศัยคำนวณเอาจากการที่ได้เงินลงทุนเป็นรอบๆ เช่น รอบนี้มีนักลงทุนจ่ายเงิน 1 ล้านบาท ได้หุ้น 1% ไป แสดงว่าตอนนี้บริษัทมีมูลค่า 100 ล้านบาท
อันนี้ต้องย้ำว่า มูลค่าบริษัท ไม่ได้เกี่ยวอะไรโดยตรงกับจำนวนเงินหรือสินทรัพย์ที่บริษัทมี (บริษัทมูลค่าพันล้าน ไม่ได้แปลว่ามีเงินพันล้าน) ซึ่งที่เขาประชดก็คือ วงการ start-up เน้นตัวเลข valuation มากๆ แข่งกันสร้างราคา (จากการระดมทุนต่างๆ) จนอาจจะละเลยเรื่องพื้นฐานธุรกิจกันไปหมด
มีกลุ่มน้องๆจบใหม่ จากมหาลัยที่ดีที่สุดแห่งนึง ดีกรีแข่งขันงานชนะต่างๆมาแล้ว ทั้งในและนอก มีโปรเจคและวิ่งหา seed fund มาหาผมกันเยอะมากๆ คนเหล่านี้ได้ inspiration มาจาก ท่านมาร์ค กันหมด ที่น่ากลัวคือ แต่ละคนนั้น คือว่า idea ตัวเองเจ๋งสุดติ่งกันทั้งนั้น และ พยายามขายฝันในลักษณะ 100 เท่า 1000 เท่า (บางครั้งอยากจะบอกน้องๆว่าชีวิตจริงนะเว่ย ไม่ใช่ทำโปรเจคเอาคะแนนแข่งแบบที่ผ่านๆมา)
ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ เด็กๆเหล่านี้ ไม่ได้วิ่งมาจากคณะ IT Com science หรือ วิศวะคอมเลย แม้แต่คนเดียว
ถ้ามาจากคณะคอม วิดวะ แล้วจะเป็นยังไงเหรอครับ ถ้าชนะมาได้โดยไม่มีคณะทางคอม ก็ดูเก่งดันะครับ
เด็กสายคอมพูดขายของไม่เป็นครับ อันที่จริงคือพูดให้คนที่ไม่ใช่สายคอมรู้เรื่องยังยาก (ตัวเองก็เป็น) เพราะงั้นจะให้ไปขายของก็ขายยากล่ะครับ
+1
อารมณ์จะออกไปทางอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าเพ้อฝัน และที่เคยเห็นจะเป็นแบบไม่ขายฝัน แต่เอาไปทำอะไรซักอย่างได้ครับ
รวยเล้ยย
จริงครับ การทำธุรกิจจริงๆ ให้อยู่รอดโดยใช้เงินหมุนเวียน ยากกว่าการทำ Startup ที่เน้นเรื่องการ Exit เยอะ ส่วนตัวมองว่า Startup ตอนนี้ก็คล้ายๆ เล่นหุ้นนั่นแหล่ะ ใครเข้าก่อนได้เปรียบเพราะวางเงินทุนต่ำกว่า แล้วรีบ Exit คนที่มารับช่วงต่อก็ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยจนสุดท้ายฟองสบู่ก็แตกเพราะธุรกิจทำเงินไม่ได้จริง แต่เล่นหุ้นยังดีกว่าเพราะอย่างน้อยเราก็วิเคราะห์จากงบการเงินได้ว่าควรจะลงทุนหรือไม่ แต่กับ Startup ไม่ต้องพูดถึงงบการเงินแดงเถือก ยิ่งพวกระดมทุนเยอะ แต่ Business Model ขายฝันอย่าเดียวทำไม่ได้จริงยิ่งน่ากลัว
อยากเห็น Startup ที่ทำธุรกิจจริงๆ มีเงินหมุนเวียนมาเข้าร่วมระดมทุนมากกว่า อยากเห็น Cashflow , งบการเงิน ฯลฯ ถึงจะขาดทุนแต่ไอเดียดีมีรายได้อย่างนี้ผมว่าน่าจะไปได้ไกลว่า แต่ก็คงยาก เพราะทุกคนก็จะอ้างว่าเดี๋ยวไม่มีเวลาทำตามฝัน