ในยุคที่อะไรๆ ก็สามารถวัดได้ด้วยแอพในโทรศัพท์มือถือ การวัดความดันโลหิตด้วยแอพเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ แต่บางทีการวัดด้วยเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
นักวิจัยจาก John Hopkins ได้ทำการเปรียบเทียบแอพ Instant Blood Pressure บน iPhone กับวิธีการวัดความดันโดยใช้เครื่องมือวัดแบบปกติ แอพดังกล่าวนั้นใช้วิธีวางโทรศัพท์ลงบนหน้าอกแล้วบอกค่าความดันโลหิตออกมา (ไม่เปิดเผยอัลกอริทึม) แอพนี้เคยได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Top 50 ของ App Store ด้วย
ผลของงานวิจัยพบว่า ในผู้เข้าร่วมงานวิจัย 85 รายที่มีผู้เป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว 45 รายนั้น แอพดังกล่าววัดค่าความดันตัวบนได้ต่ำกว่าวิธีปกติเฉลี่ยที่ 12.4 มิลลิเมตรปรอท และตัวล่างต่ำกว่าจริง 10.1 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าค่าความไว (Sensitivity) และความจำเพาะ (Specificity) ของแอพนี้อยู่ที่ 0.22 และ 0.92 ตามลำดับ (หมายความว่าในผู้ที่มีความดันสูง 100 รายแอพนี้จะวัดได้สูงเพียงแค่ 22 ราย และในผู้ที่มีความดันปกติ 100 รายแอพนี้จะวัดได้ปกติ 92 ราย)
ล่าสุดที่ เว็บไซต์ ของแอพดังกล่าวนั้น ได้ออกมาแย้งว่า แอพนี้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีความดันอยู่ในช่วง 102-158/65-99 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้ที่มีความดันมากกว่านี้ ตัวแอพเองนั้นมีอัลกอริทึมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วยการอัพเดต นอกจากนี้แอพนี้ตั้งใจให้เป็นแค่เครื่องมือเล่นๆ (recreation) ไม่ได้ตั้งใจจะให้มาวัดจริงจัง
ทีมนักวิจัยเป็นห่วงในการเอาแอพที่ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนไปใช้งานจริง อย่างไรก็ดี แอพดังกล่าวได้ถูกถอดไปจาก App Store ตั้งแต่เดือนก.ค. ปีที่แล้ว ผู้ที่จะใช้ได้ก็คือผู้ที่ดาวน์โหลดไว้แต่ยังไม่ลบ
ที่มา: JAMA Internal Medicine , CBS News , Instant Blood Pressure
Comments
แบบนี้ผมว่าอันตรายมาก ทำตัวเหมือนแอพฯตรวจโรค แต่กลับวงเล็บบอก(หรือไม่ได้บอกไว้)ว่า ใช้ตรวจขำๆ นะ
สมควรโดนถอดแล้ว
ประเด็นคือระบุไว้ชัดเจนรึเปล่าว่าเอาไว้วัดขำ ๆ (เข้าไปดูในเว็บไซต์ละ ระบุตัวเป้ง ๆ ไว้อยู่ว่าอย่าเอาไปวัดแบบจริงจัง ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าระบุไว้แบบนี้ตั้งแต่แรกหรือเพิ่งทำหลังเป็นข่าว)
ป.ล. แอพในแอนดรอยด์ก็มีเยอะนะ ผมเคยใช้ Instant Heart Rate ซึ่งน่าจะใช้หลักการเดียวกัน คือเอานิ้วไปแตะแถวแฟลช งั้นก็คงผิดบานเหมือนกันสินะ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
Heart rate กับ blood pressure ต่างกันเยอะครับ
HR แค่นับจำนวนครั้ง วัดง่าย ๆ แต่ BP วัดความแรงด้วย ซึ่งยากกว่ากันเยอะ
ดังนั้น HR พอรับได้ครับ แต่ BP ผมไม่เชื่อถือครับ
อ้อ ขอบคุณครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
วัด heart rate แบบนั้นมันมีหลักการครับ ส่องไฟดูเส้นเลือด และนับจำนวนครั้ง แต่วัด blood pressure นี่วัดได้ยังไง น่าสงสัย
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
ผมวัด HR ด้วย note 5 กับเครื่องวัดตามโรงพยาบาล หรือเวลาตรวจสุขภาพ ได้เท่ากัน +- ไม่เกิน 2 นะ
เลยคิดว่าน่าจะเชื่อได้อยู่
ผมเคยลองวัดเทียบระหว่างมือถือกับสายรัดข้อมือ
ช่วง Normal HR เท่ากันเป๊ะเลยครับแต่มันไปต่างกันตอนออกกำลังกาย Heart Training แล้ว HR แตะ 180 น่ะสิครับ
Band บอก 182 มือถือบอก 170 กว่าๆ งานนี้ผมเชื่อ Band เพราะถ้า Band ผิด ผมก็แค่ออกกำลังกายเบาไป แต่ถ้ามือถือผิดแล้วผมออกหนักไป อาจมีตายได้
ผมใช้ตัว band อยู่หลายชิ้นครับ หลากยี่ห้อ มี Mi Band 1S, Mio Link, Mio Fuse, Microsoft Band, Scosche RHYTHM+ และสารพัดของก็อปจากจีน ซึ่งเทียบจากที่ยืนยันกันว่าแบบสายคาดอกจะตรงที่สุด (เพราะทำงานแบบรับสัญญาณ trigger ขณะที่พวกวัดด้วยแสงที่ข้อมือต้อง sampling ให้ตรง) วัดตอน HR นิ่งๆ จะตรงครับไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ แต่ถ้า HR เปลี่ยนแปลงเร็วๆ มันจะไล่ไม่ทันครับ แบบ HR อยู่ที่ 120 อยู่ๆ ดึงขึ้น 180+ ตัวสายคาดอกไป 180+ แล้วพวกข้อมือยังอยู่ 140-160 กันอยู่เลย ตอนลดลงก็เช่นกันแต่หัวใจมันลดได้ช้ากว่าขึ้นครับ
มัน ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย แอพแบบนี้
เพราะขนาดเครื่องวัดความดันจริง ๆ แต่วัดที่ข้อมือ
ผมทำ correlation เครื่องที่ข้อมือยี่ห้อดังสองเจ้า เทียบกับการวัดที่ต้นแขน
ข้อมือยังให้ความคลาดเคลื่อนอยู่พอควร เมื่อเทียบกับวัดที่ต้นแขน
ไม่ต้องพูดถึงแอพประเภทนี้ ว่ามันจะขนาดไหน