เมื่อวานเราเพิ่งเห็นข่าวว่าแพทย์ในสหรัฐฯ บางส่วนต้องรับมือ กับเทคโนโลยีและพฤติกรรมคนไข้ที่เปลี่ยนไป มาวันนี้ Jenna Wortham คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ The New York Times ระบุว่าคนเรานั้นกล้าใส่และระบุข้อมูลด้านสุขภาพบนสมาร์ทโฟน มากกว่าที่จะบอกแพทย์โดยตรงเสียอีก
Wortham ระบุว่าในงานวิจัยหลายอย่างที่ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ อย่างเช่นการระบุเหตุการณ์ประจำเดือนของผู้หญิง เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนและแอพเช่น Clue ที่ไว้จดบันทึกการเกิดประจำเดือนของสุภาพสตรี ทำให้การระบุข้อมูลเหล่านี้แม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้บันทึกข้อมูลนั้น สบายใจที่จะใส่ข้อมูลเหล่านี้ลงไปในแอพซึ่งมีการปกป้องการเข้าถึงระดับหนึ่ง รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่มักไม่ค่อยกล้าถามคนใกล้เคียง (อาจด้วยเพราะกลัวการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง) แต่หันไปถามบริการอย่าง Google ในด้านสุขภาพ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้มีข้อมูลในงานวิจัยที่ดีขึ้น ละเอียดขึ้น รวมไปถึงทำให้ผู้ใช้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและลักษณะของสุขภาพตัวเองในระยะยาว
กรณีเหล่านี้ไม่ใช่การทำให้งานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขดีขึ้นเฉพาะเพศหญิงอย่างเดียว ในกรณีของเพศเดียวกัน อย่างเช่นเกย์ แอพหาคู่อย่าง Grindr เองก็มีการร่วมมือกับสถาบันทางการแพทย์ ทำการสำรวจพฤติกรรมทางเพศของผู้ใช้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเปิดให้เห็นถึงปัญหาอย่างเช่นการเข้าถึงยาต้านแบบป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ H.I.V. (PrEP: Pre-Exposure Prophylactic) ที่ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน รวมไปถึงการมีแพทย์ที่เข้าใจเพศวิถีและเพศสภาพของคนเหล่านี้ไม่เพียงพอ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้เธอจะระบุว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนวิธีที่คนไข้จัดการเรื่องสุขภาพ แต่ปัญหาเรื่องของการจัดการข้อมูลและความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะละเลยสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ แม้ว่าระบบเหล่านี้จะทำให้เราสบายขึ้นก็ตาม
ที่มา - The New York Times
Comments
เพศเดียวกันอย่างเช่นเกย์ ?
บ่อยครึ่ง ?