สวทช. ร่วมกับ กสทช., สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI), สมาคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCT) และสมาคมเคเบิลลิ่งไทย (TCA) สำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารของประเทศไทย ประจำปี 2558 ได้ผลว่าตลาดสื่อสารไทยปี 2558 มีมูลค่า 5.35 แสนล้านบาท เติบโต 7.3% จากปี 2557
นอกจากนี้ คณะทำงานยังประเมินว่าตลาดสื่อสารไทยปี 2559 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 5.97 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 11.5% อันเป็นผลจากการขยายโครงข่าย 4G, การลงทุนของภาครัฐภายใต้นโยบาย Digital Economy/National e-Payment และการปรับตัวของภาคธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กันมากขึ้นมาก
การสำรวจข้อมูลของ สวทช. แบ่ง "ตลาดสื่อสาร" ออกเป็น 2 ส่วนคือตัวอุปกรณ์ (ฮาร์ดแวร์หรือ equipment) และบริการ (service) โดยแต่ละส่วนก็มีหน่วยย่อยแตกต่างกันตามภาพ
สัดส่วนของแต่ละกลุ่มคือตลาดบริการสื่อสาร มีมูลค่าประมาณ 60% ของตลาดรวม ที่เหลือ 40% คือตลาดอุปกรณ์สื่อสาร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนคือตลาดอุปกรณ์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ตลาดอุปกรณ์สื่อสารประกอบด้วยเครื่องรับโทรศัพท์, อุปกรณ์เครือข่ายของผู้ให้บริการโทรคมนาคม, อุปกรณ์เครือข่ายภายในบ้าน/สำนักงาน ทั้งแบบมีสายและไร้สาย
จากตารางด้านล่างยังแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชน/ราชการ และกลุ่มผู้ใช้ตามบ้าน/SME ซึ่งจะเห็นว่าผู้ใช้ตามบ้าน/SME ครองส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์มือถือเยอะกว่า (83%) แต่กลุ่มเอกชน/ราชการ เป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุปกรณ์เครือข่าย
- เครื่องโทรศัพท์ประจำที่ โทรศัพท์บ้านหดตัวลง 48.4%, แฟกซ์หดตัวลง 31.6%
- เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฟีเจอร์โฟนหดตัวลง 76.3%, สมาร์ทโฟนเติบโต 15.8% (นับตามมูลค่ารวมจะโตไม่เยอะ แต่นับตามจำนวนเครื่องจะโตขึ้นมาก จากเครื่องราคาถูกที่ขายโดยโอเปอเรเตอร์)
- อุปกรณ์โครงข่ายหลัก เติบโต 9.3% จากการลงทุนขยายโครงข่าย 3G/4G และ FTTx ที่มาแทน ADSL
- อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้สาย ตลาดรวมโต 7% โดยอุปกรณ์กลุ่ม LAN และ Wi-Fi Access Point ยังเติบโต แต่อุปกรณ์ PBX แบบดั้งเดิม หดตัวลง 19.8%
- อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย ตลาดรวมโต 31% จากการขยาย Base Station รวมถึงอุปกรณ์ประเภท Pocket Wi-Fi
ตลาดบริการสื่อสารประกอบด้วยบริการโทรศัพท์ประจำที่ เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ระหว่างประเทศ และการสื่อสารข้อมูล
- บริการโทรศัพท์ประจำที่ ลดลง 7.4% เพราะคนย้ายไปใช้วิธีการสื่อสารแบบอื่นๆ กันแทน
- บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลาดรวมโต 3.2% แต่บริการแบบ voice หดตัวลง 10.2% แล้วไปโตที่บริการ non-voice แทน (โต 21.5%) สัดส่วนของปี 2558 พบว่ามูลค่าบริการ voice/non-voice ยังมีขนาดพอๆ กัน แต่ในปี 2559 บริการ non-voice จะแซงแล้ว
- บริการอินเทอร์เน็ต (ไม่รวม mobile data ที่อยู่ใน non-voice) เติบโต 10.1% ปัจจัยผลักดันมาจากตลาดครัวเรือนที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านมากขึ้น
- บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ หดตัว 16.6% โดยบริการย่อยทุกแบบหดตัวลง ไม่ว่าจะเป็นโทรทางไกลแบบดั้งเดิม, VoIP หรือบัตร Calling Card เพราะคนหันไปสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตแทน
- บริการสื่อสารข้อมูล (Data Com หรือการส่งข้อมูลระหว่างสาขาขององค์กร) เติบโต 5.2% จากปัจจัยองค์กรหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น
กราฟิกแสดงอัตราการเติบโตของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเห็นว่าตัวเลขประเมินปี 2559 จะโตแบบกระโดดมาก
ทางคณะทำงานของ สวทช. วิเคราะห์ปัจจัยการเติบโตของปี 2558 ว่าเกิดจากสภาพการเมืองนิ่งขึ้น, ธุรกิจนำไอซีทีมาใช้มากขึ้น, ปัจจัยการใช้โซเชียล-รับชมสื่อออนไลน์ บวกกับอุปกรณ์กลุ่มสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง ส่วนปัจจัยลบเกิดจากเศรษฐกิจชะลอตัว และนโยบาย Digital Economy ของภาครัฐยังไม่เกิดการลงทุนจริง
รายละเอียดของการสำรวจ อ่านได้จาก เอกสารนำเสนอ , เอกสารรายงาน
ที่มา - สวทช.
Comments
มุลค่า => มูลค่า
หัดตัว => หดตัว
อันนี้ขอความรู้หน่อยครับ ตัว f ด้านหลัง พ.ศ. มันย่อมาจากอะไรครับ พอดีพึ่งเคยเห็น เดาว่าข้อมูลไม่เต็มปี แต่ไม่รู้ว่ามันย่อมาจากอะไร ขอบคุณครับ
น่าจะหมายถึง forecast คือเลขประมาณการ (ก็ยังไม่หมดปีหนิ)
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว