ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 มีเรื่องพิจารณาถึงความปลอดภัยของชื่อโดเมน (Domain Name) จากที่มีการจดชื่อโดเมนเพื่อแอบอ้างเป็นเว็บไซต์ทางการเงินเพื่อหลอกขโมยเงินจากผู้หลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย และมีความกังวลถึงผลกระทบกับชื่อเฉพาะที่ความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยหลังจากที่ ICANN ได้ให้มีบริการรับจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับสูงสุด (TLD) เป็นชื่ออะไรก็ได้
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เป็นหน่วยงานดูแลในเรื่องนี้ โดยรวบรวมรายชื่อโดเมนที่สำคัญของประเทศไทย พร้อมดำเนินการปกป้องรายชื่อดังกล่าวในกระบวนการพิจารณาของ ICANN
เนื่องจากชื่อโดเมนไม่ได้เป็นเพียงที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ยังเป็นทั้งตัวตน สถานที่ และเครื่องหมายการค้า ที่มีอยู่บนโลกจริง และจากที่ Internet Assigned Numbers Authority (IANA) เปลี่ยนเป็นองค์กรแบบพหุภาคีของผู้ถือผลประโยชน์ (multistakeholder) หลังจากหมดสัญญากับ National Telecommunications & Information Administration (NTIA) จึงทำให้การบริหารจัดการโดเมนไม่ได้พันธะผูกพันทางกฎหมายกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป ทำให้แต่ละประเทศมีสิทธิร่วมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโดเมนได้มากขึ้น
สพธอ. จึงได้ตั้ง คณะทำงานจัดทำร่างรายชื่อโดเมน (Domain Name) ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย พิจารณาชื่อโดเมนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลพิจารณาในที่ประชุมของ ICANN ที่เป็นหน่วยงานใหญ่ของ IANA ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านการยื่นขอจดทะเบียนโดเมนใด โดยในการประชุมของคณะทำงานฯ ได้แบ่งหมวดหมู่รายชื่อที่ต้องได้รับการปกป้องดังนี้
- ชื่อพระนามพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี รัชทายาท หรือพระบรมวงศานุวงศ์
- ชื่อภูมิศาสตร์ หรือภูมินาม
- ชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
- ชื่อเครื่องหมายการค้า
ชื่อเครื่องหมายการค้าจะใช้กลไก Trademark Clearinghouse (TMCH) เป็นการลงทะเบียนชื่อเครื่องหมายการค้าไว้ เมื่อมีผู้ขอยื่นจดทะเบียนโดเมนที่มีชื่อเครื่องหมายการค้าที่ลงทะเบียน โดเมนนั้นจะถูกเสนอให้กับเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นก่อน
Comments
อันนี้อ่านแล้วยังงงๆ ว่าโดเมนที่อาจสร้างความเสียหายนี่เป็นอย่างไร น่าจะมียกตัวอย่างหน่อยนะครับ
รับทราบครับ ผมขอเวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ คณะทำงานจัดทำร่างรายชื่อโดเมน ( Domain Name ) ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย ก่อนครับ
วันนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เผยแพร่ มติเรื่องนี้ แล้ว ผมจะขออ่านทำความเข้าใจแล้วจะพยายามเขียนเนื้อข่าวใหม่ให้เสร็จภายในคืนนี้นะครับ
เขียนเนื้อหาใหม่แล้วครับไม่รู้จะเอาตัวอย่างใส่ส่วนไหน ในเอกสารของคณะทำงานฯ ก็มีตัวอย่าง tmb (ธนาคารทหารไทย) หรือ bbl (ธนาคารกรุงเทพ) ที่ถูกนำไปใช้เป็น tmb/bbl.bangkok tmb/bbl.fanclub ที่อาจนำไปใช้ปลอมแปลงว่าเป็นเว็บของธนาคารนั้น แต่ด้วยกลไก TMCH จะทำให้เมื่อมีผู้ยื่นขอจดโดเมนนี้ ทางเจ้าของชื่อ tmb กับ bbl จะได้ข้อเสนอยื่นจดทะเบียนก่อน