วันนี้ที่งานประชุมวิชาการบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประจำปีพุทธศักราช 2559 (BDMS Academic Annual Meeting 2016) มีการบรรยายในหัวข้อ Enabling Patient-Centered Care through Information & Technology: How the Better Use of Technology & Data Can Support and Enable the Developments Needed to Transform Outcomes for Patients & Citizensบรรยายโดย นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์จากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผมมีโอกาสได้ไปนั่งฟังอยู่ และคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจทั้งสำหรับคนที่อยู่โลกไอทีและแพทย์ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกัน จึงขออนุญาตถ่ายทอดมาเป็นสรุปสั้นๆ ให้ได้อ่านกันครับ
อาจารย์นวนรรน เริ่มต้นด้วยการบอกว่ามนุษย์นั้นทำผิดพลาดได้ ดังนั้นในแต่ละกระบวนการ เราจึงมีการลองผิดลองถูกอยู่เสมอ การนำเอาระบบสารสนเทศมาใช้ก็ไม่ต่างกัน โรงพยาบาลแต่ละแห่งรวมไปถึงฝั่งที่ทำด้านนโยบายต่างก็มีปัญหาจับต้นชนปลายไม่ถูกทั้งนั้น ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เป็นขั้นตอนกันไป
นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์
เริ่มต้น อาจารย์นวนรรน เสนอว่าหากเทียบนโยบายประเทศไทยที่ตอนนี้จะเน้นไปที่ "ประเทศไทย 4.0" ในมิติทางการแพทย์ของประเทศไทยก็อาจแบ่งลักษณะที่ออกมาได้คล้ายคลึงกันคือ
- Healthcare 1.0 ที่เน้นไปเรื่องของการแพทย์แบบโบราณ
- Healthcare 2.0 ที่เป็นการแพทย์แบบในปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่
- Healthcare 3.0 ที่มีเรื่องของการทำการรับรองคุณภาพ (HA: Hospital Accreditation) รับรองมาตรฐานและคุณภาพสถานประกอบการทางสาธารณสุขต่างๆ (โรงพยาบาลส่วนมากอยู่ในขั้นนี้)
- Healthcare 4.0 ที่ว่ากันด้วยเรื่อง Smart Hospital และ Smart Healthcare (โรงพยาบาลบางส่วนเริ่มพยายามทำ)
อาจารย์นวนรรนชี้ว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในขั้นของ Healthcare 3.0 และมีความพยายามในการก้าวไปสู่ Healthcare 4.0 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการก้าวข้ามนี้คือการที่มุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว อาจารย์เทียบว่าสถานการณ์เช่นนี้เหมือน "ตาบอดคลำช้าง" และในบางจุดที่การเสนอไปไกลถึงขั้นว่าต้องการให้โรงพยาบาลกลายเป็น Digital ทั้งหมด (Digitizing Healthcare) แล้วแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้สูญเสียสิ่งที่เรียกว่า "human touch" ที่คนไข้หลายคนถวิลหาไปด้วย
ปัญหาหลักๆ ที่เกิดเช่นนี้ เพราะแต่ละฝ่ายเองต่างก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งอาจารย์นวนรรนชี้ว่าปัญหาพอสังเขปมีดังนี้
- ฝั่งนโยบาย เน้นที่เรื่องของตัวเลข KPI (Key Performance Indicators) แล้วใช้นโยบาย (ในบางกรณีคือเงิน) เป็นแรงจูงใจ แต่ก็สร้างปัญหาในเรื่องของการทำข้อมูล ในบางกรณีถึงกับมีการบิดเบือนข้อมูลหรือปกปิด เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากแรงจูงใจเชิงนโยบายเหล่านั้น
- ฝั่งแพทย์ ที่มักจะเน้นเรื่องของการรักษาคนไข้ ความสะดวก และการลดภาระงาน โดยไม่มองประเด็นของ KPI ในเชิงนโยบาย
- ผู้ป่วย/คนไข้ ที่ไม่เข้าใจขั้นตอนกระบวนการของแพทย์ เพราะหวังอยากได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด อาจารย์เคยเล่าว่ามีกรณีที่ผู้ป่วยเคยถ่ายรูปแพทย์ขณะนั่งบันทึกข้อมูลและหาข้อมูลให้ผู้ป่วย แล้วเผยแพร่ลงสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า แพทย์ไม่ตั้งใจรักษา ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น
อาจารย์นวนรรนเลยเสนอทางออกว่า ต้องคิดว่า ผู้ป่วยกับข้อมูลเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่จะได้รักษาสมดุลระหว่างคนไข้กับการรักษาในระบบกลไกของสาธารณสุขได้ ลองดูวิดีโอตัวอย่างด้านล่างนี้ประกอบ (ใช้ในการบรรยายครั้งนี้ด้วย มาจาก Kaiser Permanente Thrive ของสหรัฐอเมริกา)
สิ่งที่อาจารย์นวนรรนชี้ คือบทบาทของผู้ป่วยนั้นมีบทบาทที่เชิงรุก (proactive) มากขึ้น และต่างก็อยากดูแลตัวเองด้วยเทคโนโลยีต่างๆ อย่างไรก็ตามข้อมูลทุกอย่างก็ไม่ใช่ว่าคนไข้จะกรอกได้เองทั้งหมด แพทย์ยังคงมีความจำเป็นอยู่ และบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ควรอยู่ในบทบาทเสริมในส่วนเท่าที่ทำได้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เช่น การขอเวชระเบียนของคนไข้ในกรณีที่ส่งต่อหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน แทนที่จะให้เทคโนโลยีกำหนดกรอบในการรักษาหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์ไปหมด
นอกจากบทบาทในฐานะที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางแล้ว การเน้นเรื่องของข้อมูลคือสิ่งที่จำเป็นมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นในกรณีฉุกเฉินและมีผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตในวงกว้าง การใช้แถบกระดาษสีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทำงานได้สะดวก ย่อมดีกว่าการถือแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง แล้วค่อยๆ หาผู้ป่วยแทน หากใช้ไอทีอย่างเดียวในบางกรณี นอกจากจะช้าแล้ว อาจมีผลกระทบกับคนไข้ด้วยหากได้รับการรักษาที่ไม่ทันท่วงที
อาจารย์นวนรรนระบุว่า หากคิดกลับไปที่เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ และเน้นไปที่ผู้ป่วยกับข้อมูลเป็นศูนย์กลาง ผลที่ได้คือการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับการรักษาที่ดี ผู้ป่วยเองก็จะได้รับความสะดวกและผู้รักษาก็จะได้รับความสะดวกไปด้วย โดยเสนอให้มีระบบแลกเปลี่ยนสารสนเทศกลาง ที่ฝั่งของผู้ป่วย แพทย์ สถานประกอบการต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลด้วยกันได้อย่างสะดวก และมีมาตรฐานร่วมกัน
ตัวอย่างที่อาจารย์นวนรรนยกขึ้นมาเล่าปัญหาของการแลกเปลี่ยนข้อมูลในปัจจุบันนี้ มีหนึ่งกรณีที่ผู้ป่วยต้องรีบเข้ารักษาฉุกเฉิน แต่ไม่มีใครทราบว่ายาที่ผู้ป่วยกินมีอะไรบ้าง และแพทย์ที่โรงพยาบาลที่กำลังจะต้องทำการผ่าตัด ต้องการทราบข้อมูลนี้เพื่อใช้ยาไม่ให้ใช้แล้วชนกัน การแก้ไขในเคสนั้นคือต้องโทรหาแพทย์แล้วขอข้อมูลออกมา ซึ่งเป็นกรณีพิเศษ แต่หากเป็นผู้ป่วยซึ่งเป็นกรณีทั่วไปคงยากมาก และอาจมีผลกับการรักษาคนไข้ที่อาจถึงชีวิตก็เป็นได้
อาจารย์นวนรรนทิ้งท้ายไว้ด้วย 4 ข้อสังเกตสำคัญดังนี้
- อย่ารีบปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ เพียงเพราะต้องการที่จะมี(ในคำบรรยายระบุว่าเป็น drooling reflex หรือน้ำลายไหลเมื่อได้สัญญาณหรือเห็นของที่ต้องการ) เพราะนอกจากจะต้องหาเรื่องใช้แล้ว ยังตอบโจทย์ที่ชัดเจนไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเอามาทำอะไร
- ตั้งเป้าไปที่ข้อมูลและการจัดการกระบวนการ ไม่ใช่ตัวเทคโนโลยีหลายครั้งที่เทคโนโลยีถูกเอามาใช้เพื่อหวังจะแก้ปัญหาของระบบงาน (workflow) ได้ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรับฟังทั้งแพทย์ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ป่วย โดยไม่ต้องเสียกับขั้นตอนการรักษาแต่อย่างใด
- เชื่อมโยงไอทีเข้ากับคุณภาพเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านไอที มีหลายรูปแบบมาก ทั้งในและนอกโรงพยาบาล การเชื่อมโยงเทคโนโลยีอย่างมีคุณภาพและทำให้งานสะดวกขึ้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด มากกว่าที่จะเอาไอทีเข้ามาใช้ในองค์กรเฉยๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงขั้นตอนต่างๆ ไปด้วย
- ใช้ระบบที่อิงมาตรฐาน ไม่ใช่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ร่มเดียวกันปัญหาเรื่องของระบบเดียวครองโลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของผู้ผลิต ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการไม่ควรตั้งคำถามว่า จะใช้ระบบเดียวกันได้อย่างไร แต่ควรเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อและการมีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงทำงานร่วมกันมากกว่า
สไลด์เต็มประกอบการบรรยายของอาจารย์สามารถดาวน์โหลดได้ จากที่นี่ ครับ
Comments
เอ่อ ขอถามนอกเรื่องนิดนะครับ ผู้บรรยายนี่ชื่อเขาอ่านยังไงครับ อ่านไม่เป็นเลยสะกดแบบนี้
NAWANAN THEERA-AMPORNPUNT
จะเข้ามาคอมเมนต์แบบนี้เหมือนกันเลยครับ คืออ่านแล้วสะดุด (- -')a
ชอบข้อสังเกต 4 ข้อท้าย...ชัดเจนและเป็นประโยชน์มาก
ผมชอบข้อสังเกตข้อ 1 ครับ :)
เอาจริงๆ ก็ชอบทุกข้อครับ
ปกปิก => ปกปิด
ชอบครับโดยเฉพาะ 4 ข้อท้าย เพราะรู้สึกว่าเวลาไปโรงพยาบาล มักเจออะไรที่ขัดความรู้สึกเยอะมาก คือเหมือนโรงพยาบาลพยายามเอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหานึง แต่เอาเข้าจริงมันสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และมันไม่จบ แก้ไปเรื่อย สรา้งปัญหาใหม่ไปเรื่อย จนบางทีก็สงสัยว่ามันดีกว่าระบบเดิมจริงรึเปล่า?
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ขอบคุณที่เขียนบทความครับ ได้ข้อคิดและแนวคิดที่ดี น่านำมาปรับใช้กับตัวเองได้