Tags:
Node Thumbnail

ก่อนหน้านี้มีประเด็นว่า Facebook สั่งลบบัญชีของ Cambridge Analytica เนื่องจากทางบริษัทสงสัยเรื่องการแอบใช้ข้อมูลแม้ว่าจะถูกลบไปแล้ว โดยบริษัทสามารถดึงข้อมูลจากบัญชี Facebook ได้กว่า 50 ล้านบัญชีผ่านแอพของอาจารย์มหาวิทยาลัย Aleksandr Kogan โดยไม่ได้ขออนุญาตจาก Facebook และข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปทำเป็นแคมเปญโฆษณาหาเสียงของประธานาธิบดี Trump ช่วงปี 2016

Facebook ได้ชี้แจงประเด็นเพิ่มเติมว่า หลังจากรายงานเรื่องของ Cambridge Analytica แล้ว ก็เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าข้อมูลนั้นรั่วจากฝั่งของ Facebook เองหรือไม่ ทางบริษัทได้ยืนยันว่า Kogan เป็นคนเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ที่เลือกใช้ระบบล็อกอินของ Facebook ซึ่งทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแอพนี้ต่างอนุญาตกันเองทั้งสิ้น ระบบไม่ได้ถูกเจาะ ไม่มีรหัสผ่านหรือข้อมูลอื่น ๆ ถูกขโมยหรือถูกแฮก

ผู้ใช้ที่แชร์ข้อมูลนั้น แม้ว่าจะมีเพียง 270,000 คน แต่ในอดีต Faebook มี API ให้ใช้ดึงข้อมูลของเพื่อนด้วย ดังนั้นข้อมูลที่แชร์ให้กับแอพของ Kogan นั้นอาจจะมีบัญชีที่เกี่ยวข้องสูงสุด 50 ล้านบัญชี (ในปี 2015 นั้น Facebook ปรับข้อตกลงการใช้งานและหยุดให้บริการ API ที่ปล่อยแชร์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวแล้ว)

ตอนนี้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ รวมถึงนักกฎหมายหลายคนเริ่มสนใจประเด็นดังกล่าวแล้ว ซึ่งยังเป็นท่าทีที่ไม่ได้ออกคำแถลงอย่างเป็นทางการ (และน่าจะออกมาในสัปดาห์ที่จะถึงนี้)

Amy Klobuchar วุฒิสมาชิก Minnesota ทวีตผ่าน @AmyKlobuchar ว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าแพลตฟอร์มนั้นดูแลตัวเองไม่ได้ ซึ่งเธอขอให้ผู้บริหารระดับสูงของ Facebook ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายกฎหมายต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณาคดีของวุฒิสภา (Senate Judiciary Commitee)

อีกคนคือ Mark Warner วุฒิสมาชิกที่เคยมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องการสอบสวนของรัสเซียที่เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปี 2016 ก็ทวีตผ่าน @MarkWarner ว่าทุกวันนี้การโฆษณาด้านการเมืองในทางออนไลน์จะยังคงมีการหลอกลวงและไร้ความโปร่งใสต่อไปถ้ายังปล่อยให้ไม่มีการกำกับดูแล และเรียกร้องให้คองเกรสผลักดันร่างกฎหมาย Honest Ads Act เพื่อความโปร่งใสด้านการโฆษณาออนไลน์

นอกจากนี้ Nuala O’Connor ประธานของ Center for Democracy & Technology กล่าวว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาพิจารณาบริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตใหม่ เพื่อคำนึงผลกระทบต่อประชาธิปไตยทั่วโลก ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ ถูกปล่อยให้มีช่องโหว่ เนื่องจากขาดกฎหมายที่สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลของผู้ใช้

Ido Kilovaty ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายจาก Yale Law School ให้ความเห็นไว้ใน TechCrunch ว่า ไม่ว่าข้อมูลส่วนตัวจะรั่วผ่านช่องโหว่หรือผ่านระบบของ Facebook เองก็ตามที ผลลัพธ์ก็เหมือนกันคือข้อมูลนั้นตกอยู่ในมือของคนที่ไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้จะต้องมีสิทธิที่จะรู้ และเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเขาต้องการให้มีกฎหมายแจ้งเตือนเกี่ยวกับข้อมูลที่รั่วไหลผ่าน social engineering เหมือนกับการแจ้งเตือนข้อมูลรั่วผ่านช่องโหว่ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแจ้งเตือนทุกครั้งที่ข้อมูลหลุด แต่ต้องการให้บริษัทใช้ระบบเพื่อป้องกันเทคนิคที่ใช้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว และแจ้งเตือนผู้ใช้

ที่มา - TechCrunch (1) , (2)

No Description

ภาพจาก Mark Zuckerberg (Facebook)

Get latest news from Blognone

Comments

By: Ultimize
Android
on 18 March 2018 - 17:56 #1039026

อย่างนี้ สมมุติ​วันนึง มาร์ค อยากเป็นประธานาธิบดี​ขึ้นมาFacebook​ คงโดนตรวจสอบยับ