Nutanix ออกรายงาน Enterprise Cloud Index สำรวจการใช้งานคลาวด์ในโลกองค์กร พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (91%) คิดว่าการใช้งานคลาวด์แบบไฮบริด ผสมกันระหว่าง on-premise และคลาวด์สาธารณะนั้นเป็นรูปแบบที่เหมาะสม แต่การใช้งานจริงในตอนนี้กลับมีเพียง 19% เท่านั้น
Sunil Potti ผู้บริหารฝ่ายสินค้าและการพัฒนา (chief product and development officer) เปรียบเทียบบริการคลาวด์สาธารณะว่าเป็นเหมือนโรงแรมหรู ที่แม้การใช้งานจะสะดวกสบาย แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นแพงมาก และคนทั่วไปมักต้องการใช้งานหลายแบบร่วมกัน โดยไม่ได้ต้องใช้บริการ on-demand ไปทั้งหมด โดยเปรียบบริการคลาวด์ในองค์กรที่เริ่มมีซอฟต์แวร์ให้บริการคล้ายคลาวด์สาธารณะในหลายด้านแล้วในช่วงหลัง เหมือนบริการที่พักที่เราสามารถหา serviced apartment ได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างบ้านที่ดูแลเองทุกอย่างหรือใช้โรงแรมที่ค่าใช้จ่ายสูงเสมอไป
รายงานระบุว่าองค์กรที่ใช้คลาวด์สาธารณะตอนนี้ มีค่าบริการคลาวด์สูงถึง 26% ของงบประมาณไอทีแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 35% ภายในสองปีข้างหน้า ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 35% พบปัญหาค่าใช้จ่ายคลาวด์นั้นเกินงบประมาณที่ตั้งเอาไว้
Nutanix เองเริ่มจากการขายซอฟต์แวร์สตอเรจมาก่อนก่อนจะขยายเป็นชุดซอฟต์แวร์ที่ให้บริการโครงสร้างคลาวด์ในองค์กร (hyper-converged infrastructure) ในช่วงหลัง แนวทางนี้ ทางด้านไมโครซอฟท์เองก็ส่ง Azure Stack มาชิงตลาด ขณะที่เจ้าตลาดคลาวด์อย่าง AWS ก็เปิดบริการเชื่อมต่อกับ on-premise อย่าง DataSync เพิ่มขึ้นมา
ที่มา - Enterprise Cloud Index
Comments
ราคาแต่ละเจ้านี้แพงเอาเรื่อง ประมาณว่าสามารถถอย Server ดีๆได้ 1 ตัวทุกๆปีเลยทีเดียว
มันยังมี License ค่าMA ค่าไฟ ค่าบริการสถานที่ จ้างคนดูแล ค่าบริการจัดการ Downtime อค่าเสียโอกาสจากการ scale HW ไม่ทัน demand ถ้าต้องการ HA มากขึ้น ก็ต้องทำ DR Site ถ้าเลเวลสูงมากก็ต้องทำ DR ข้ามประเทศ ทวีป มันไม่รวมในราคาเซิร์ฟเวอร์ 1 ตัวแน่ๆครับ
+1 Firebase ว่าแพง แต่ผมไม่มีปัญญาจัดการความปลอดภัยและความเสถียรได้แบบที่เค้าทำแน่ๆ ครับแม้จะจ้างพนักงานมาช่วยแล้วก็ตาม
ถ้าเทียบ spec แบบ CPU เท่ากัน RAM เท่ากันแค่นั้นเฉย ๆ Cloud แพงสุด ๆ แน่นอน ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดเป็นแบบใหม่ว่ามันปรับขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ยังพยายามกำหนดขนาดทีเดียวตั้งแต่แรกแบบเดิมก็ยังไม่ต้องไป Cloud ดีกว่า
มันแล้วแต่งานครับ งานคงที่ spec มันก็ควรจะกำหนดคงที่มาเลยเรื่องปรับขึ้นๆ ลงๆ มันไม่มีประโยชน์
ถึงจะเป็นงานคงที่ก็ไม่ควรยก spec มาเฉย ๆ อยู่ดีครับ ที่เคยเจอคือพอคิดว่าจะเปิดเครื่องขนาดเท่าไหร่ก็จะยก spec เดิมมาเลยโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าที่มีอยู่จริง ๆ ก็ไม่ได้ใช้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเครื่อง physical หรือ vm เพราะว่าตอนนั้นขี้เกียจขอเพิ่มทีหลังมีขั้นตอนยุ่งยากหรือกลัวว่าอาจจะขอเพิ่มที่หลังไม่ได้แล้วเพราะฝ่าย IT อาจจะบอกว่า server เต็มแล้ว พอเป็น cloud ก็ควรหาขนาดที่แท้จริงแล้วเปิดเท่าที่ใช้เพราะว่าการจะเพิ่มที่หลังมันง่าย
แล้วก็จริง ๆ แล้วงานคงที่มักไม่มีอยู่จริงด้วย ถ้าของมันดีใช้ ๆ ไปก็มักจะต้องการเพิ่ม เช่น user เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าของมันไม่ดีเดี๋ยวคนก็เลิกใช้ ธุรกิจที่เครื่องมันไปตอบโจทย์มักไม่อยู่เฉย ๆ คงที่