จากกรณี กราดยิงที่นิวซีแลนด์พร้อมไลฟ์สด ที่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook/YouTube ไม่สามารถสกัดกั้นการเผยแพร่คลิปได้ ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและเริ่มออกมาตรการคุมเข้ม เช่น ออสเตรเลียที่ออกกฎหมายเอาผิดแพลตฟอร์มไปเรียบร้อยแล้ว
สหราชอาณาจักรเป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมเอาจริงในเรื่องนี้ โดยประกาศว่าจะเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต (online safety laws)
กระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (Department for Digital, Culture, Media and Sport หรือตัวย่อ DCMS) ได้เสนอรายงาน "ภัยร้ายอินเทอร์เน็ต" (Online Harms White Paper - PDF ) รวบรวมปัญหาเรื่องต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ทั้งเนื้อหาผิดกฎหมาย การกลั่นแกล้งออนไลน์ เนื้อหาจากกลุ่มก่อการร้าย-กลุ่มอาชญากรรมรุนแรง
คณะทำงานของ DCMS มีข้อเสนอให้ตั้งองค์กรกำกับดูแลแห่งใหม่ เพื่อมากำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ตามอำนาจของกฎหมายใหม่ที่จะผ่านรัฐสภา บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มมีหน้าที่ดูแลผู้ใช้ให้ปลอดภัย และสกัดกั้นเนื้อหาที่เป็นภัย ซึ่งหากบริษัทไม่ทำตาม ก็อาจโดนปรับ, บล็อค หรือเอาผิดต่อผู้บริหารได้
Jeremy Wright รัฐมนตรี DCMS ผู้เสนอเอกสารฉบับนี้ ให้สัมภาษณ์ว่าเราไม่สามารถปล่อยให้แพลตฟอร์มออนไลน์กำกับดูแลตัวเองได้อีกแล้ว (The era of self-regulation for online companies is over.) ที่ผ่านมา การปล่อยให้บริษัทไอทีดูแลตัวเองได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ
Theresa May นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาสนับสนุนการกำกับดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยบอกว่าถึงเวลาแล้วที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
ข้อเสนอของ DCMS จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นทีมงานจะนำความคิดเห็นมาปรับปรุง และเดินหน้าเข้ากระบวนการเสนอเป็นกฎหมายต่อไป
Comments
ถ้าออกมาที่ไทย อาจเป็นอีกแง่ถ้าให้มีหน่วยงานที่คอนโทรลแพลตฟอร์มได้ ใครจะคุมหน่วยงานนั้น?
เหมือนแต่ก่อนพวกคุมหน่วยตำรวจลับ มีอำนาจล้นมือตอนนี้ ยุคนี้ พวกคุมออนไลน์ จะมีอำนาจล้นมือไหมครับ?
แลก Privacy กับ Freedom ใช่มะ
ทำไมข่าวนี้ดูเงียบเหงาจัง ปกติข่าวทำนองนี้จะมีหลายความเห็นมาก
นั้นสิครับ ผมว่าต้องมาโต้แย้งละว่า ไม่มีอิสระ บนอินเตอร์ต้องอิสระ หรือเพราะเป็นฝรั่งออก ถ้าเป็นประเทศไทยออกป่านนี้ข่าวนี้ hot
typical Thai ครับ ถ้าเป็นความคิดคนไทยด้วยกันจะชังไว้ก่อนถ้าเป็นของฝรั่งก็จะฟังเชื่องๆ
คอมเม้นทำนองนี้พบได้ทั่วไปใน blognone ครับ