ช่วงหลังแนวคิด Agile เริ่มได้รับความนิยมในโลกธุรกิจมากขึ้น ถึงแม้ Agile จะเริ่มเกิดขึ้นจากโลกของซอฟต์แวร์ แต่ตัวมันเองเป็นแนวคิดและวิธีการทำงานที่ใช้ได้กับทุกระดับขององค์กร
KBTG (Kasikorn Business Technology Group) บริษัทด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย จึงจัดงานสัมมนา Beyond Agile ขึ้น โดยเชิญวิทยากรชื่อดังระดับโลก เข้ามาชี้ให้เห็นตัวอย่างและแนวทางการใช้ Agile ในองค์กร
Agile ไม่ใช่แค่วิธีการทำงาน แต่คือการเปลี่ยนแปลงองค์กร
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานของ KBTGกล่าวเปิดงาน โดยบอกว่างานนี้จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของการใช้ Agile ใน KBTG ซึ่งถือเป็นการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา
KBTG เองก็เพิ่งเริ่มนำ Agile มาใช้งาน และก็มีความผิดพลาดขึ้นเช่นเดียวกับองค์กรทุกแห่ง จึงมาจัดงานนี้เพื่อเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกันกับองค์กรอื่นๆ
แกนหลักของ Agile Transformation คือการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปทีละนิด เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรม โดยที่องค์กรยังสามารถจัดระเบียบตัวเองได้
ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้เข้ากับวิธีคิดของ Agile จะต้องมีคนที่เจ็บปวดเสมอ เพราะนี่คือการออกจาก Comfort Zone และเข้าไปในพื้นที่ใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แฟชั่น ต้องจริงจัง ต้องทำไปทั้งทีม และต้องเริ่มต้นที่จุดเล็กๆ เช่น การทำงานแบบ squad และนั่งทำงานร่วมกันของฝ่ายที่แตกต่างกัน
Agile คือการลดปัญหาและอุปสรรคเพื่อความเร็ว
ผู้เชี่ยวชาญรายแรกที่มาบรรยายในงานคือ Arie van Bennekumผู้ร่วมแต่งหลักการ The Agile Manifesto ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2001 ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของ Agile ที่เป็นตัวกำหนดว่าการใช้ Agile ใช้ในองค์กรมีแก่นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรบ้าง เขายังเป็นประธานของ Agile Consortium International กลุ่มผู้สนใจเรื่องหลักการ Agile อีกด้วย
Bennekum ชี้ให้เห็นว่า กรณีของ Kodak, Nokia หรือ BlackBerry แสดงให้เห็นว่า ถ้าปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก็อาจหายจากธุรกิจไปเลย การนำใช้ Agile เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อให้อยู่รอด จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ปัจจุบันแนวคิด Agile แพร่หลายในโลกธุรกิจหลายด้าน แต่รากเหง้าของมันเองเกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาในโลกการพัฒนาซอฟต์แวร์
กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเดิมเรียกว่า Waterfall ต้องรอทุกฝ่ายทำงานแต่ละส่วนให้เสร็จ ถือเป็นกระบวนการที่เสียเวลาอย่างมาก เพราะเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล่าช้า ก็จะเจอความล่าช้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นการออกแบบกระบวนการทำงานเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของ Agile
หัวใจสำคัญของ Agile คือการสร้างผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด ทุกๆ 2-3 อาทิตย์ ต้องมีสิ่งใหม่ๆ ส่งให้ลูกค้าทดสอบว่าโอเคไหม ใช้ได้หรือยัง โดยภายในกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ยังต้องเกิดการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ถ้ายกตัวอย่างที่ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ สิ่งที่เจอบ่อยในโลกธุรกิจคือการแก้ไขเอกสารสักฉบับ ที่ต้องให้หลายฝ่ายช่วยกันตรวจ ต้องส่งเอกสารกลับไปกลับมา การแปลความที่แตกต่างกันอาจนำมาสู่ความเข้าใจผิด และภาพรวมก็ทำให้การเขียนเอกสารฉบับนี้เสียเวลามาก องค์กรขยับได้ช้า การนำ Agile มาใช้จึงช่วยแก้ปัญหาได้แบบเดียวกับซอฟต์แวร์
DevOps และ Microservices คือสิ่งสำคัญของยุคสมัยนี้
หัวข้อต่อมาคือ Future Software Development with DevOps โดย Erik Dörnenburg, Head of Technology ของ ThoughtWorks บริษัทที่ปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก ที่มาเล่าเรื่องความสำคัญของกระบวนการทำ DevOps ว่ากลายเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่ “ทางเลือก” อีกต่อไปแล้ว
ที่ผ่านมา การสร้างผลิตภัณฑ์ (product development) กับการจัดการโครงการ (project management) มักเป็นเรื่องที่ถูกจัดการโดยคนละฝ่าย ที่มักต้องทะเลาะกันเพราะมุมมองที่แตกต่าง กระบวนการทั้งหมดจึงล่าช้าและงบประมาณบานปลายไปมาก
แนวคิด DevOps (development + operations) เริ่มต้นประมาณปี 2010 หลังแนวคิด Agile ประมาณสิบปี สาเหตุเกิดจากคนที่นำ Agile ไปใช้บ้างแล้วคิดว่ายังขาดอะไรบางอย่างไป จึงเกิดกระบวนการ DevOps ขึ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายต้องมาทำงานร่วมกันตั้งแต่แรก ทำลายกำแพงระหว่างฝ่ายพัฒนาและฝ่ายปฏิบัติการลงไป
DevOps เกิดจากความต้องการของฝ่ายบริหารที่ต้องการผลลัพธ์ 3 ด้าน ได้แก่
- Cycle Timeระยะเวลาการออกผลิตภัณฑ์ต้องรวดเร็ว ทันต่อคู่แข่ง
- Throughputมีฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์
- Reliabilityต้องมีเสถียรภาพ ใช้งานได้ไม่มีปัญหา
ดูเหมือนว่าเราต้องเลือกเฉพาะเป้าหมายบางข้อ โดยยอมทิ้งข้อที่เหลือไป ไม่มีทางออกเลย แต่ DevOps คือการหาหนทางเพื่อให้ทำเป้าหมายทั้ง 3 ข้อได้พร้อมกัน
การแก้ปัญหา Cycle Time และ Throughput เกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์เป็นแบบ Microservices
ในอดีต เราทราบกันดีว่าการเพิ่มคนเข้าไปยังโครงการซอฟต์แวร์ที่ล่าช้า จะทำให้โครงการยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก แนวคิด Microservices ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อให้การเพิ่มคนเข้าไปในโครงการ ทำให้กระบวนการเสร็จเร็วขึ้น เพราะแตกผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็น Microservices ย่อยๆ แต่ละส่วนมีทีมงานรับผิดชอบโดยตรง การเพิ่มคนเข้าไปในทีมจึงไม่กระทบกับทีมอื่น ช่วยให้การพัฒนาเสร็จเร็วขึ้น
ส่วนมิติด้าน Reliability เป็นการมองว่า ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะกู้คืน (recovery) ได้รวดเร็วจนไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา จึงเกิดแนวคิดเรื่องการวัดระยะเวลา MTTR (Mean-time to Recover) ขึ้นมา เมื่อต้องวัดค่า MTTR เป็นปกติ จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทดสอบตลอดเวลา (testing culture) และเทคนิคการทดสอบคุณภาพซอฟต์แวร์แบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้ซอฟต์แวร์นั่นเอง
Project Apollo ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ KBTG ต้องออกเร็วขึ้น
ฟังหลักคิดเรื่อง Agile กันมาเยอะ จนหลายคนอาจสงสัยว่ากระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ ใช้งานได้จริงหรือไม่
KBTG จึงนำ Agile มาใช้ในการทำงานจริง เกิดเป็น “Innovation Runway” รากฐานของการสร้างนวัตกรรม ที่ประกอบด้วยเครื่องมือ (tools) และขั้นตอนการทำงาน (process) รูปแบบใหม่ เพื่อให้สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เร็วขึ้น โดยผลงานแรกของ Innovation Runway คือบริการใหม่ๆ ที่ใช้โค้ดเนมว่า “ Project Apollo ”
เชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร Principle Visionary Architect ผู้ดูแล Project Apolloระบุว่า ปัญหาที่ทำให้โครงการต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง มีสามปัจจัยหลัก คือ ความซับซ้อนของระบบงานภายในองค์กร, กระบวนการพัฒนาตัวต้นแบบจากการทดลองสู่การใช้งานจริงที่ใช้เวลานานและมีขั้นตอนมาก และสุดท้ายคือกฎเกณฑ์และการควบคุมที่ละเอียดทุกขั้นตอน
การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมภายใต้ Project Apollo ได้ เป็นผลจากการที่ KBTG ผลิกโฉมกระบวนการพัฒนา สร้าง Innovation Runway เพื่อลดปัญหาจากปัจจัยข้างต้น ประกอบด้วย กาารแปลงกระบวนการหลังบ้านทั้งหมดให้กลายเป็น Innovation Platform ที่เข้าถึงได้ API จึงทำงานได้เร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก การสร้างกระบวนการทำงานแบบใหม่ ด้วยการทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นการภายใน แบบ Dog fooding Process และสร้าง Own Sandbox ภายในองค์กร ทำให้โครงการและนวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ลดขั้นตอนการขออนุมัติต่างๆ ลง ทำให้ทำงานง่ายขึ้นกว่าเดิม
ตอนนี้ KBTG มี 3 โครงการที่ใช้ Project Apollo เป็นฐานการพัฒนาและสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ขุนทองระบบการแจ้งเตือนการจ่ายและชำระเงินเมื่อต้องหารบิลค่าข้าว, Data Walletแพลตฟอร์มบน Blockchain เพื่ออนุญาตข้อมูลเชื่อมต่อต่างๆ และ FacePayใช้การสแกนใบหน้าเพื่อจ่ายและรับเงิน
Comments
สงสัยมาซักพักแล้วว่า agile จะเอาไปใช้กับฝั่งองค์กรที่ผลิตอนิเมชั่นหรือฟิล์มได้มั้ย มีใครเคยพยายามจะเอา agile ไปใช้บ้างมั้ยนะ
ไม่รุ้ว่ายกเลิก KSDLC หรือประชุมเยิ่นเย้อพวก SOAC ไปรึยัง
ถ้ายัง มันก็ไม่มีทางเป็น Agile ได้หรอก