ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยสารสนเทศและระบบอัตโนมัติแห่งชาติฝรั่งเศส (Institut national de recherche en informatique et en automatique - INRIA) ประกาศความสำเร็จในการแยกตัวประกอบเฉพาะของเลข RSA-240 ที่มีขนาด 795 บิต นับเป็นการแยกตัวประกอบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตอนนี้
เลข RSA-240 เป็นเลขที่สร้างโดย RSA Laboratories มาตั้งแต่ปี 1991 โดยเลข 240 หมายถึงจำนวนหลักเมื่อเขียนตัวตัวเลขในฐานสิบ โดยทาง RSA ให้รางวัลกับผู้ที่สามารถแยกตัวประกอบของเลขแต่ละตัวที่ทาง RSA สร้างขึ้นมาได้ แม้โครงการให้เงินรางวัลจะยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2007 แต่ปัญหา RSA นั้นสร้างไว้ใหญ่ที่สุดคือ RSA-617 ที่มีขนาด 2048 บิต ทำให้มันยังคงเป็นหลักชัยสำหรับนักวิจัยที่จะพัฒนากระบวนการแยกตัวประกอบเฉพาะเลขในปัญหาชุดนี้
ทีมวิจัยจาก INRIA เฉลย ตัวประกอบเฉพาะของ RSA-240 ไว้เป็น
RSA-240 = 124620366781718784065835044608106590434820374651678805754818788883289666801188210855036039570272508747509864768438458621054865537970253930571891217684318286362846948405301614416430468066875699415246993185704183030512549594371372159029236099 = 509435952285839914555051023580843714132648382024111473186660296521821206469746700620316443478873837606252372049619334517 * 244624208838318150567813139024002896653802092578931401452041221336558477095178155258218897735030590669041302045908071447
พลังประมวลผลรวมที่ใช้แยกตัวประกอบครั้งนี้ ประมาณ 4000 ปีซีพียูคอร์ เมื่อคิดพลังของคอร์ใน Xeon Gold 6130 โดยใช้ซีพียูจากโครงการ Grid'5000
การเข้ารหัสแบบ RSA ที่มีกุญแจสาธารณะเป็นผลคูณของเลขจำนวนเฉพาะขนาดใหญ่เป็นหัวใจสำคัญของระบบเข้ารหัสที่ใช้งานกันในทุกวันนี้ โดยกุญแจส่วนมากมักมีขนาด 2048 บิต การที่นักวิจัยรายงานความสามารถในการแยกตัวประกอบเลขขนาดใหญ่เช่นนี้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าอุตสาหกรรมควรปรับตัวไปใช้กุญแจขนาดใหญ่ขึ้นได้หรือยัง
ที่มา - INRIA
ภาพ rotor ในเครื่องเข้ารหัส Enigma โดย Bob Lord
Comments
น่าจะหมายถึง หากให้ซีพียู 4000 คอร์ จะใช้เวลาในการถอดรหัส หนึ่งปี หรือเปล่าครับ ความหมายน่าจะอย่างนั้น ซีพียูที่ใช้อ้างอิ้งก็เป็นรุ่น Xeon Gold 6130 16 คอร์ 32 เธรด สามารถติดตั้งในเมนบอร์ดแบบสี่ socket ได้ รวม ๆ แล้ว หากใช้เวลาหนึ่งปีในการถอดรหัส จะต้องใช้เครื่อง server แบบสี่ Socket ประมาณ 64 เครื่องได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จะเห็นว่าเวลาถอดรหัสอาจจะเร็วกว่านั้นมาก
ตัวหน่วยเองเกิดจากการผลคูณของ พลังประมวลผล(ซึ่งใช้ core ของ Xeon Gold 6130 เป็น ref) กับ เวลาในการทำงานครับ ต้นทางก็ใช้คำว่า core-years เหมือนกัน
The sum of the computation time for both records is roughly 4000 core-years
ความหมายก็อย่างที่เข้าใจครับ ถ้าใช้ 4000 คอร์ก็จะใช้เวลา 1 ปี หรือถ้าใช้ 1 คอร์ก็ใช้เวลา 4000 ปี ฯลฯ ซึ่งต้นทางไม่ได้บอกว่าใช้เวลาจริงๆเท่าไรละ cpu ทั้งหมดกี่ตัว บอกแต่ผลคูณออกมาแล้ว
ครับ จริง ๆ น่าจะหมายถึง CPU แบบ Single Core ส่วน แบบ Dual Core ขึ้นไป และมี เธรด ด้วย ก็ควรนับ คอร์แท้ คอร์เทียมร่วมด้วย ดังนั้น หากใช้เครื่อง Server แบบสี่ Socket ทำคลัสเตอร์หรือกริดแค่ 32 เครื่อง ด้วยซีพียูตามที่อ้างอิง เพื่อใช้ในการถอดในการถอดรหัส ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถทำได้อยู่แล้วโดยใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งปี(แต่ในความเป็นจริงถือว่าน้อยมากเพราะไม่มีใครจะใช้เวลาถอดรหัสนานขนาดนั้น) จึงกลายเป็นเรื่องกังวล ตามหัวข้อข่าว ส่วนการแฮก(ถอดรหัส)ระดับรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากอยู่แล้ว โดยเฉพาะมหาอำนาจใหญ๋ ๆ และรอง ๆ ทั่วไป ที่มีขุมพลังประมวลผลมาก ๆ เป็นต้น