Ross LaJeunesse คือ อดีตหัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกูเกิลแต่ลาออกไปแล้ว (อายุงานในกูเกิลคือ 11 ปี) เขียนบล็อกยาวลง Medium เผยสาเหตุที่ลาออกคือกูเกิลเปลี่ยนไป และแนวทางบริษัทในระยะหลังก็แสดงออกว่าไม่ได้เชื่อในวลี Don't be evil อีกต่อไปแล้ว
LaJeunesse เล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยปี 2010 คือช่วงที่กูเกิลถอนตัวออกจากจีน เนื่องจากไม่ยอมทำตามแนวทางเซนเซอร์ของรัฐบาลจีน ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และได้รับความชื่นชมจากนานาชาติ และในปลายปี 2012 LaJeunesse ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Head of International Relations ดูเรื่องกิจการระหว่างประเทศ ประสานงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชน
หลังจากนั้น กูเกิลก็ขยายธุรกิจและผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้ใช้งานหลักพันล้านรายทั่วโลก บริษัทมีการขยายทีมงานและจ้างผู้บริหารจำนวนมากเข้ามาดูแลผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ขณะเดียวกันผู้บริหารในกูเกิลก็มีความต้องการอยากเข้าไปสานต่อโครงการในจีนอีกรอบ นำมาสู่โปรเจกต์ Dragonfly บริการเสิร์ชในจีนที่ยอมเซนเซอร์คำตามแนวทางรัฐบาล, การตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีในปักกิ่งในปี 2017 ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีผู้บริหารด้าน cloud computing พยายามจะเจรจากับซาอุดิอาระเบียเพื่อขยายธุรกิจด้วย ซึ่งในมุมมองของ LaJeunesse เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก
LaJeunesse และทีมงาน จึงแก้ปัญหาด้วยการพยายามสนับสนุนให้มีการใช้โปรแกรมสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการทั่วทั้งบริษัท ผลักดันให้บริษัทปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ แต่ทุกครั้งที่ LaJeunesse พยายามจะผลักดันโครงการสิทธิมนุษยชน บรรดาผู้บริหารระดับสูงก็ปฏิเสธ และอ้างว่ามันจะกระทบเรื่องความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่ง LaJeunesse ก็พยายามจะบอกว่าความกลัวนี้มันไม่มีมูลความจริง จนในที่สุดเขาก็ถูกกีดกันไม่ให้พูดคุยเรื่องนี้ต่อ
LaJeunesse ยังบอกด้วยว่าในกูเกิลมีผู้บริหารอาวุโสที่มีพฤติกรรมเหยียดเพศ,ชาติพันธุ์ เขารายงานเรื่องนี้ต่อ HR แต่ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ภาพจาก Google Press Corner
ต่อมา LaJeunesse ได้รับแจ้งจากบริษัทว่า มีการปรับโครงสร้างองค์กรจึงไม่มีตำแหน่งงานให้ LaJeunesse อีกต่อไป ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเขารู้มาว่ามีตำแหน่งว่าง 90 ตำแหน่งในทีมนโยบาย แต่ภายหลังกูเกิลก็เสนอตำแหน่งใหม่แต่เล็กกว่าที่เคยทำให้ ทางบริษัทบอกว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดเรื่องตำแหน่งงาน แต่เขาก็ตัดสินใจลาออกเองอยู่ดี
ปัจจุบัน Ross LaJeunesse เดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาในรัฐ Maine ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เขายังเปิดเผยตัวเองด้วยว่าเป็นเกย์
สำนักข่าว The Washington Post สอบถามไปยังกูเกิลเรื่องนี้ โดยโฆษก Jenn Kaiser ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ LaJeunesse มาจากการปรับโครงสร้างองค์กรจริง แต่ตำแหน่งที่เสนอให้นั้นมีระดับและรายได้เทียบเท่ากับตำแหน่งเก่าที่ LaJeunesse เคยทำ แต่เขาก็ปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง
ขอบคุณรูปภาพจาก vvkhxng
กูเกิลในระยะหลัง โดยเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 2018-2019 ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่พนักงานประท้วงใหญ่ไม่พอใจกูเกิลเรื่อง Andy Rubin , Project Dragonfly (บริการค้นหาในจีนที่ยอมเซนเซอร์คำตามนโยบายรัฐบาลจีน), Project Maven (โครงการช่วยเหลือกลาโหมสหรัฐฯเรื่องซอฟต์แวร์โดรน)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นพนักงานที่เข้าร่วมประท้วง ถูกบีบและกดดันให้ลาออก รวมไปถึง ไล่ออกเลย แต่กูเกิลบอกเหตุผลที่ไล่ออกว่าเป็นเพราะพนักงานทำผิดนโยบายของบริษัทจริงๆ ไม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมประท้วงหรือการเคลื่อนไหวภายในแต่อย่างใด ปัจจุบันกูเกิลโดนคณะกรรมการแรงงานสหรัฐฯสืบสวนกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน
ที่มา - Medium , The Washington Post
Comments
เมื่อปณิธานกลายเป็นแค่คำพูดสวยๆ ตอนนี้ก็ได้โอกาสที่บริษัทหน้าใหม่จะเข้ามายึดปณิธานนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือต่อๆไป รู้สึกเหมือนเป็นวัฏจักรยังไงไม่รู้
คงเรียนรู้จากแอปเปิล เงินสำคัญสุด แม้จะต้องตั้งศูนข้อมูลในจีน
โยงเก่งงงงงง
เอาอะไรมากกับบริษัทที่หากินกับคำว่า "โอเพนซอร์ส"
ตอนแรกก็คงคิดว่าตั้งใจพูดจริงทำจริงแหละแต่ทำไงได้พอบริษัทใหญ่มาก ๆ แล้ว บอร์ด ผู้ถือหุ้น นังลงทุน ที่ต้องการเน้นทำกำไรต้องการแบบไหนก็ต้องไปตามนั้น จะไปแข็งเอาดุดมการณ์อย่างเดียวมันก็ไปไม่ได้
ไม่พอในกูเกิล > ไม่พอใจ
Dragaonfly => Dragonfly
เจราจา => เจรจา
ตามอ่านข่าวเก่า ๆ เหมือน Google เข้าสู่ยุค Ballmer ของ MS แล้วแฮะ อาจจะหนักกว่าด้วย
ผมว่าไม่นะ แนวทางไม่ใช่แต่ผมค่อนข้างกลัวผลที่จะออกมา
Profit, money > Responsibility, ethics & Personal rights (As always)
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
Dragaonfly --> Dragonfly
เม็ดเงินไงสำคัญมาก ผู้ก่อตั้งยังไม่ค่อยอยากยุ่งเลย ก็นะผู้บริหารเปลี่ยนแนวทางก็เปลี่ยนแหล่ะ คาดว่าแอปเปิ้นหลังยุคทิม คุก อาจเปลี่ยนด้วย เพราะรุ่นที่ 3 ไม่รู้จะเป็นคนยังไง
ปัญหาของ ระบบ เศรษฐกิจ แบบทุนนิยม/Capitalism มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละครับ
กำไร สำคัญที่สุด อย่างอื่นถือเป็นเรื่องรองลงมา
ยิ่งเรื่องที่ทำกำไรไม่ได้ แบบนี้ ไม่สำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก
เห็นด้วยเลยว่ามันเป็นจุดอ่อนของระบบ คือถึงรวยล้นฟ้าแล้วก็ยังบอกว่าพอไม่ได้ เพราะก็ต้องถูกบีบจากผู้ถือหุ้นอีก แม้บางอย่างจะไม่ได้อยากทำนักแต่สถานการณ์มันบีบบังคับให้ต้องทำ แล้วยิ่งใหญ่ก็ยิ่งขยับตัวยาก
จะเรียกว่าจุดอ่อนของระบบก็ไม่ถูกซะทีเดียวครับ เพราะถ้ายึดมั่นในอุดมการจริงๆ ก็ยังสามารถดำเนินการในรูปแบบที่ไม่ใช่บริษัทมหาชนได้ ซึ่งผมว่ามันมีทางเลือก เพราะยังไงซะสุดท้ายก็รู้ๆ อยู่ว่าการเป็นบริษัทมหาชนมันไม่มีทางเลี่ยงที่จะนึกถึงผลประโยชน์เป็นหลักอยู่แล้ว
เรื่องนี้ได้กลิ่นมานานแล้ว และยังมีบางคนที่ยังคงหลงไปกับประโยคนั้นอยู่เสมอๆ
นึกถึงพวกบ.ใหญ่ๆที่ครองโลกในหนังหลายๆเรื่องเลย เริ่มต้นดี แต่พอใหญ่มากๆแนวทางก็เปลี่ยน แต่ผู้ใช้ที่ติดแล้วจะถอนตัวก็ไม่ทัน...
ผมรู้สึกไม่ชอบ Google ตั้งแต่หลังยุค Alphabet เป็นต้นมา
ความขี้เล่น ความไม่จริงจัง การลองผิดลองถูก เริ่มหายไป (สังเกตุจากโปรเจ็คที่เป็นสินค้าทดลอง นวัตกรรมใหม่ ๆเริ่มหายไป บ้างก็หยุดพัฒนา โดนตัดทิ้ง)
เหมือนปรับบริษัทเข้ามาในโหมดจริงจังมากขึ้น เน้นกำไรมากขึ้น ซึ่งเอาจริง ๆก็ไม่ผิดอะไรหรอก แต่รู้สึกเหมือนมันไม่ใช่ Google
จริงครับ เดิมผมชอบกูเกิลที่ความ"เป็นเด็ก" ซึ่งหาจากบริษัทใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้ เป็นเอกลักษณ์ที่น่ารักมากๆของกูเกิล
แต่ตอนนี้เหมือนจะเป็นแค่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วไปแล้ว ไมโครซอฟท์ยังน่ารักกว่าอีก
บริษัทเติบโตมาไกลมาก แต่ก็อดคิดถึง Google สมัยแรกๆไม่ได้
..: เรื่อยไป