อินเทลเปิดตัวซีพียูสำหรับงานสาย IoT โดยมาพร้อมหน้าทุกระดับแบรนด์ ตั้งแต่ Core 11th Gen (Tiger Lake), Atom, Pentium, Celeron โดยใช้รหัสรุ่นห้อยท้ายตัว E ให้เห็นความแตกต่างจากรุ่นปกติ
ซีพียูทั้งสามรุ่นคือ Atom x6000E, Pentium, Celeron มีฟีเจอร์ใหม่ Programmable Services Engine (Intel PSE) มันคือไมโครคอนโทรลเลอร์ ARM Cortex-M7 ที่ช่วยแบ่งโหลดงานบางอย่าง (โดยเฉพาะงานกินพลังงานต่ำ) ออกจากซีพียูเพื่อประหยัดพลังงาน การที่มีหน่วยประมวลผลแยกอีกตัวยังรองรับการรีโมทเข้ามาจัดการ โดยไม่ต้องยุ่งกับซีพียูหลักได้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์หาก OS ที่รันบนซีพียูหลักค้างหรือไม่ตอบสนอง
พระเอกของงานคือ Atom x6000E ที่มีทั้งหมด 8 รุ่นย่อย ทั้งแบบ 2 คอร์และ 4 คอร์ อัตรา TDP มีให้เลือกตั้งแต่ 4.5-12 วัตต์ โดยมีฟีเจอร์สำคัญคือ In-Band ECC ฟังก์ชันแก้ความผิดพลาดของหน่วยความจำ โดยใช้กับแรมแบบปกติได้ (ไม่ต้องเป็นแรม ECC)
- มีรุ่นย่อยรหัส RE สำหรับงานประมวลผลเรียลไทม์ (ชื่อทางการค้าคือ Intel Time Coordinated Computing)
- มีรุ่นย่อยรหัส FE ความปลอดภัยพิเศษสำหรับงาน Functional Safety แยกส่วนฮาร์ดแวร์เฉพาะเพื่อเก็บข้อมูลสำคัญๆ แทนในหน่วยความจำหรือซีพียู (Safety Island หรือบ้างก็เรียก Hardware Isolation)
คนที่ไม่ต้องการฟีเจอร์ In-band ECC, Functional Safety และเรียลไทม์ สามารถเลือกใช้เป็น Pentium และ Celeron ที่เป็นซีรีส์ N (TDP 6.5 วัตต์) และ J (TDP 10 วัตต์) อีกอย่างละตัว รวม 4 รุ่นย่อย
รายละเอียดเพิ่มเติม (PDF)
ส่วน 11th Generation Intel Core Processor คือ Tiger Lake ชุดสำหรับโน้ตบุ๊กที่เปิดตัวไปแล้ว แต่เป็นเกรดสำหรับงาน IoT (ห้อยท้ายตัว E) และมีรุ่นที่เพิ่มฟังก์ชัน In-Band ECC, Functional Safety, เรียลไทม์ เหมือน Atom ตัวข้างบน
ตัวซีพียูแกนหลักมีให้เลือก 3 ระดับคือ Core i7-1185G7E, i5-1145G7E, i3-1115G4E (รุ่นที่เป็น G7 คือใช้จีพียู Iris Xe ตัวใหม่)
ที่มา - Intel
Comments
อันนี้น่าสนใจ มี ARM ผสมใน X86 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ PC แบบ Multi-Architecture ก็เป็นได้ ถ้ารัน ARM แบบ Native ได้ ไม่พึ่ง Emulator
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว