เว็บไซต์ Protocol เขียนบทความเรื่องแผนการและความเป็นไปได้ของ YouTube ที่จะเป็นผู้ชนะในสงครามสตรีมมิ่งเพลง แม้จะเข้าวงการสตรีมมิ่งเพลงช้ากว่ารายใหญ่อย่าง Spotify และ Apple Music รวมถึงความพยายามของ YouTube ในการสร้าง YouTube Music ให้เป็น ecosystem สำหรับศิลปินและครีเอเตอร์ ที่ Spotify และ Apple Music ยังเสียเปรียบและตาม YouTube ไม่ทัน
ภาพประกอบจาก YouTube Blog
YouTube ก่อนหน้านี้มีปัญหากับศิลปินและวงการดนตรีมาก ถูกวิจารณ์ว่าไม่จ่ายให้ศิลปินมากพอ รวมถึงไม่จัดการเรื่องเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีพอ จนถึงจุดที่ YouTube กลายเป็นภัยคุกคามของวงการเพลงเลยทีเดียว จนในระยะหลัง YouTube ค่อยๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับวงการเพลงให้ดีขึ้น รวมถึงพยายามสร้างเครือข่ายที่ครีเอเตอร์ หรือศิลปินหน้าใหม่จะเข้าถึงทีมงานใน YouTube ได้ ถ้าพวกเขามีไอเดียการแสดง
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ช่วง COVID-19 ที่ศิลปินรายหนึ่งชื่อว่า 6lack (อ่านว่า แบล็ค) อยากทำการแสดงสดผ่านแพลตฟอร์มไลฟ์ให้ออกมาน่าสนใจ แตกต่างจากการเล่นดนตรีสดธรรมดา เขาจึงติดต่อตัวแทนใน YouTube ทำ Live From the Ledge ฉายผ่าน YouTube เป็นการแสดงหน้าป้ายโฆษณาบนตึกสูงแห่งหนึ่งของแอตแลนตา ในป้ายโฆษณามีเนื้อหาส่งเสริมความยุติธรรมทางเชื้อชาติและความเท่าเทียมด้วย ผลลัพธ์คือเป็นการแสดง 30 นาทีซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่าล้านครั้ง
Vivien Lewit ผู้จัดการด้านพาร์ทเนอร์ YouTube Music เล่าว่า นอกจาก YouTube ต้องสร้างประสบการณ์ทางดนตรีที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังต้องทำงานร่วมกับศิลปินในอุตสาหกรรมดนตรีด้วย และเกือบทุกคนในอุตสาหกรรมดนตรีเท่าที่เธอได้พูดคุย มีรายชื่อคนจาก YouTube ในกรณีที่อยากจะติดต่องานอยู่แล้ว
ตัว YouTube หลักมีฟีเจอร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อศิลปินในการติดต่อกับแฟนๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบตั้ง Premier, ไลฟ์สตรีมวิดีโอ, ระบบขายตั๋ว, นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ๆ ที่ YouTube ทำเพื่อสนับสนุนศิลปินเช่น Foundry เป็นเวิร์กช็อปให้ศิลปินสร้างเนื้อหาและเพิ่มฐานแฟนๆ YouTube และรายการ Artist on the Rise จัดโชว์และสัมภาษณ์ศิลปินหน้าใหม่มาแรง ถือเป็นข้อได้เปรียบของ YouTube ที่ Spotify และ Apple Music ยังไม่มี
ด้าน YouTube Music เอง ก็มีความพยายามสร้างฟีเจอร์ที่ดึงดูดผู้ใช้รายใหม่ และเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานเก่าของ Google Play Music ด้วยในเวลาเดียวกัน ให้โอนถ่ายเพลงมาไว้ที่ YouTube Music
YouTube Premium ที่พ่วง YouTube Music มาด้วยนั้นยังมอบประสบการณ์ฟังเพลงให้กับผู้ฟังในรูปแบบวิดีโอ, ไลฟ์คอนเสิร์ต, เพลงรีมิกซ์และคัฟเวอร์ในเวอร์ชั่นต่างๆ ซึ่งถือเป็นอีกข้อได้เปรียบของ YouTube ในตลาดสตรีมมิ่งเพลง จนรายอื่นไม่อาจอยู่เฉยได้ Spotify ต้องเพิ่มการลงทุนในวิดีโอและ Facebook เพิ่งลงนามในข้อตกลงครั้งใหญ่กับค่ายเพลงเพื่อให้ Facebook เป็นอีกแพลตฟอร์มสำหรับคนดู MV
ท่ามกลางความได้เปรียบของ YouTube ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้งานที่ยังตามหลัง Spotify (144 ล้าน) และ Apple Music (60 ล้าน) อยู่มาก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเสียเงินราว 30 ล้านราย รวมถึงต้องสร้างประสบการณ์ฟังเพลงลื่นไหลในรูปแบบสตรีมมิ่งเพลง แบ่งแยกให้ชัดเจนว่าเพลงแบบไหนควรอยู่ใน YouTube Music และเพลงแบบไหนควรอยู่ใน YouTube Premium หรือใน YouTube หลัก ไม่สับสนปนกันจนสร้างประสบการณ์ไม่ดีแก่ผู้ใช้งาน
ที่มา - Protocol
Comments
ผมยังไม่เคยลองใช้เลย
ถ้าผมมี playlist like songs ของตัวเองอยู่แล้วใน youtube ปกติ
ถ้าสมัคร youtube music มันตีกันมั่วไหมครับ
ของผมขึ้นมาเป็น Playlist นึง ใน Youtube music ให้ครับ ก็ไม่ได้มั่วอะไร
บางเพลง ใน list ชอบโดนลบออกจาก list ไม่ค่อยดีเลย
เท่าที่เคยใช้. Music เล่น playlist ของ Youtube ได้ แต่ Youtube เล่นของ Music ไม่ได้และ Music เล่น playlist ของ Youtube ไม่ได้ทุกเพลง บางเพลงจะ skip บางเพลงจะเล่นเวอร์ชั่น cover แทน(ประหลาดดี)
ขายตั๋ว คือจ่ายเพื่อดูถ่ายทอดสด?
ถ้าไม่ดีเท่า spotify ผมก็ไม่จ่ายหรอก
ไม่ได้ฟังเพลงจริงจัง ฟังแค่ตอนขับรถ เลยเลิก spotify เพราะจ่าย premium อยู่แล้ว
ชอบ Spotify มากจนย้ายไปไหนไม่ลงเลยจริง ๆ
เท่าที่ลองใช้ก็สะดวกดีนะครับ ข้อดีคือมีเพลงเยอะมาก ทั้ง Official ทั้ง Cover ทั้ง Unofficial บางเพลงคือหาฟังไม่ได้จาก platform อื่น แต่ด้วยความที่มันมีหลากหลายนี่แหละ บางทีก็ไม่รู้ว่า source ที่ค้นหามาได้มีคุณภาพดีมั้ย ควรจะเลือกฟังอันไหนแน่