SCB 10X บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เล็งเห็นว่าเทรนด์การเงินโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีบล็อกเชนหรือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง จะเข้ามาเปลี่ยนระบบการเงินที่เคยมีศูนย์กลางเป็นธนาคาร (Centralized Finance - CeFi) ให้กลายเป็นระบบการเงินไร้ศูนย์กลาง (Decentralized Finance - DeFi) ในอนาคต
เมื่อเล็งเห็นจุดนี้ SCB 10X จึงเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงเป็นส่วนร่วมพัฒนา Blockchain Community ในประเทศไทย โดยจัดงานเฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนรุ่นใหม่ไฟแรงในไทย “Bangkok Blockathon 2021: Finance and Beyond” ซึ่งมีงานเปิดตัวและเน็ตเวิร์กกิ้งไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2021 ก่อนจะมีการแข่งขันจริงๆ ในวันที่ 27-28 มีนาคม
ตัวงานเป็นการจัดการแข่งขันพัฒนาโปรดักต์ในสไตล์ Hackathon ระหว่างทีมนักพัฒนาที่มีตั้งแต่ 1 คน จนถึงสูงสุด 5 คน จำนวน 10 ทีม แต่ก่อนถึงวันประกวดจริง มีนักพัฒนาที่ต้องการเข้าแข่งขันส่งโปรไฟล์เข้ามามากกว่า 200 คน และมีหลายทีมที่โดนใจทีมงาน จนในวันประกาศผล ทีมงานตัดสินใจให้มีทีมที่เข้าร่วมได้ถึง 12 ทีม
จุดประสงค์ของงานเพื่อเป็นการสร้างโปรดักต์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Build) เพื่อพบปะระหว่างนักพัฒนา กับผู้มีประสบการณ์ในวงการบล็อกเชน และพัฒนาทักษะผ่านการแลกเปลี่ยน (Boost) และยังมีเงินรางวัลเพื่อต่อยอดโปรเจกต์ของนักพัฒนาด้วย (Scale Up)
งาน SCB 10X Bangkok Blockathon 2021 คราวนี้น่าจะเป็นงาน Hackathon ครั้งแรกๆ ในประเทศไทยในที่มอบเงินรางวัลเป็นเงินคริปโตอีกด้วย โดยทีมที่ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัลเป็นสกุลเงินคริปโต Bitcoin จำนวน 0.1 BTC รองชนะเลิศได้ Ethereum จำนวน 2 Etereum และรองชนะเลิศอันดับสาม ได้รับ Alpha จำนวน 1,300 Alpha
งานเปิดตัวในวันที่ 24 มีนาคม 2021 เป็นงานเปิดตัวในสไตล์สบายๆ ที่จัดให้ทีมผู้เข้าแข่งขันได้มาพบปะ พูดคุย โดยมีคุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder ของ SCB 10X รับหน้าที่เป็นพิธีกร และมี ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ซีอีโอของ SCB 10X ให้เกียรติมาร่วมพูดเปิดงาน และแนะนำจุดประสงค์ของงาน
หลังจากนั้นมีเซสชั่น virtual fireside chat โดยคุณ Mike Kayamori ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Liquid Global แพลตฟอร์มเทรดสกุลเงินคริปโตระดับโลก วิดีโอคอลเข้ามาร่วมพูดคุยกับทีมที่เข้าแข่งขัน โดยมีคุณมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer ของ SCB 10X รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงาน
คุณ Mike Kayamori เล่าถึงต้นกำเนิดของบริษัท Liquid Global ตั้งแต่ช่วงที่เขาอยู่ซิลิคอนวัลเลย์ในปี 2009 เมื่อ Bitcoin whitepaper เอกสารระบบการเงิน Bitcoin ถูกเผยแพร่โดย Satoshi Nakamoto หนึ่งปีหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือในระบบธนาคาร จนเขาเองได้มาซื้อบิตคอยน์ในปี 2013 หลังมาอยู่กับบริษัทลงทุน SoftBank ของญี่ปุ่น และได้มาอยู่ที่สาขาอินเดีย
คุณ Mike สนใจระบบการทำงานของบล็อกเชน และมองเห็นอนาคตของบิตคอยน์จากการได้เห็นคนอินเดียจำนวนมากที่ไม่มีบัญชีธนาคาร แต่มีสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต ซึ่งบิตคอยน์ ที่มีแค่สองสิ่งนี้ก็สามารถใช้งานได้ น่าจะช่วยให้ประชาชนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้นในอนาคต
เขาจึงก่อตั้ง Quoine ในปี 2014 ก่อนจะลุยทำระบบเทรด ทำงานกับธนาคาร และระบบการเทรดก็พัฒนาตามลำดับจนเป็นแบบ DeFi ไม่ต้องมีธนาคารมาเกี่ยว ใช้เพียงเงินคริปโตเท่านั้น และกลายมาเป็น Liquid Global ในทุกวันนี้
หลังจากนั้นคุณ Mike จึงให้ข้อมูลถึงภาพรวมของวงการ DeFi ในปัจจุบัน ที่มีบริษัทในเซกเตอร์ต่างๆ มากมาย รวมถึงพูดถึงโอกาสและความท้าทายของระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ทั้งด้านการแข่งขันของไอเดีย และบริษัทต่างๆ ไปจนถึงการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรกำกับดูแลจากภาครัฐในอนาคต พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำสิ่งที่เชื่อมั่น และให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขันในช่วง Blockathon
นอกจากนี้ยังมีเซสชั่นพูดคุยกับผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพบล็อกเชนสัญชาติไทย อย่างคุณอรพงศ์ เทียนเงิน ซีอีโอแห่ง Digital Ventures สตาร์ทอัพเทคโนโลยีด้านข้อมูลการเงิน คุณสรวิศ ศรีนวกุล ผู้ก่อตั้ง Band Protocol บริษัท Data Oracle เชื่อมโยงข้อมูลจากโลกจริง เช่นราคาหลักทรัพย์ สู่การนำมาใช้งานบนระบบบล็อกเชน และคุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee และ CO-CEO ของ SIX Network ผู้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับการพิสูจน์ลิขสิทธิ์ของคอนเทนต์ดิจทัล และระบบการจ่ายเงินโดยใช้ระบบโทเค่น
ทั้งสามท่านได้มาเล่าถึงไอเดียในการก่อตั้งบริษัทจากประสบการณ์จริง โอกาสในการใช้งานจริง และแนวทางการพัฒนาของวงการเทคโนโลยีบล็อกเชน กับระบบการเงินแบบไร้ตัวกลางในไทย รวมถึงความท้าทายของเทคโนโลยีบล็อกเช่นเอง เพื่อแนะนำเส้นทางการพัฒนาที่จะมากำจัดข้อจำกัดเหล่านี้ ในอนาคต และการเตรียมตัวเพื่อทำตามสิ่งที่ฝัน ไม่ว่าตลาดกำลังพุ่งขึ้นหรือไม่ก็ตาม พร้อมทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจทีมผู้เข้าแข่งขัน
หลังจากนั้นมีการถ่ายรูปรวมทีมผู้เข้ารอบทั้ง 12 ทีม ได้แก่ทีม Flipay, KillSwitch, NPledge,TrustPass, Passive Protocol, NFTPass, Nytu - นายตู้, AMDeFi, BitDoc, Estate-Onblock, newby.sol และ Rug Pull Alpaca (RPA) ร่วมกับผู้บริหาร SCB 10X และวิทยากร
รวมถึงมีปาร์ตี้ให้ผู้เข้าแข่งขันได้พบปะ พูดคุย เพื่อทำความรู้จักก่อนจะเริ่มแข่งขันโค้ดในวัน Blockathon จริงในวันที่ 27-28 มีนาคม ซึ่ง Blognone ก็จะนำผลการแข่งขันและสรุปโปรไฟล์ของทีมผู้ชนะมาให้ติดตามในคราวต่อไป
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ