ในปัจจุบันบริการคลาวด์มีการแข่งขันที่สูงขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างปรับตัวเพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่งในยุคดิจิทัล เฟิร์ส เราจึงเห็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับยักษ์ใหญ่หลายรายเริ่มขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทุกภาคพื้นเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอโซลูชันที่ตอบความต้องการเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างครบวงจร
Tencent Cloud เริ่มจากการให้บริการเฉพาะในจีนในช่วงปี 2016 และขยายตัวออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้มี data center อยู่ใน 27 ภูมิภาค รวมจำนวน 68 โซน น่าสนใจว่าเฉพาะในแถบอาเซียนนั้น Tencent Cloud มี data center อยู่ถึง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยตอนนี้ Tencent Cloud มี data center ในไทยถึง 2 แห่งแล้ว
Blognone พูดคุยกับคุณชาง ฟู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด หลังจากปีที่แล้ว เคยพูดคุยกันไปครั้งหนึ่งเพื่อแนะนำบริการ Tencent Cloud ในไทย หลังจากผ่านมาปีกว่า ตอนนี้ Tencent Cloud ยังคงขยายบริการในไทยอย่างต่อเนื่อง
Data Center ของ Tencent Cloud ทั่วโลก
Tencent Cloud มองตลาดคลาวด์ในเอเชียเป็นอย่างไร ทำไมจึงเน้นลงทุนในภูมิภาคนี้
เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูง และ Tencent Cloud มองว่าเราต้องลงทุนเพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะในอาเซียนเอง ไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการใช้คลาวด์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการ์ทเนอร์คาดว่าจะเติบโตถึง 31.7% ในปีนี้ เร็วกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 23.1% อย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาเรามีบริการสำหรับผู้บริโภคทั่วไปอย่างเช่น JOOX หรือ WeTV อยู่แล้ว แต่เพื่อให้โครงสร้างรองรับลูกค้าในระดับองค์กรที่จะเข้ามาใช้งานได้ด้วยก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมต่อไป
นอกจาก data center ที่อยู่ในไทยแล้ว บริการหลายตัวก็รองรับภาษาไทยอย่างการแปลงภาพหรือเสียงเป็นข้อความ
เรามองว่าการรองรับภาษาท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ และที่ผ่านมาเราก็ทำตลาดต่อเนื่องในประเทศไทยทำให้การรองรับภาษาไทยเป็นภาษาที่อยู่ในกลุ่มแรกๆ
นอกจากนี้ เรามีบริการสำหรับผู้ใช้ทั่วไปหลายตัวที่รองรับภาษาไทยอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลเพื่อฝึกปัญญาประดิษฐ์ให้รองรับภาษาไทยได้ต่อเนื่อง
ที่ผ่านมามีลูกค้ากลุ่มไหนให้ความสนใจ Tencent Cloud เป็นพิเศษ
เราพยายามทำงานร่วมกับลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมโดยลูกค้ากลุ่มที่ให้ความสนใจบริการจาก Tencent Cloud เป็นพิเศษคือธุรกิจกลุ่มสื่อ หรือผู้ต้องการทำสื่อประชาสัมพันธ์หรือสื่อทางการตลาดรูปแบบใหม่ นอกจากโซลูชั่นที่ครบเครื่อง เทนเซ็นต์ เองก็มีความเชี่ยวชาญจากการที่มีบริการสื่อของตัวเองอยู่ ทำให้สามารถช่วยตอบสนองความต้องการของธุรกิจกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เช่น การไลฟ์สตรีมวิดีโอ (Live Video Broadcasting - LVB) ที่รองรับการทำไลฟ์สตรีมคุณภาพสูงรองรับผู้ชมจำนวนมาก
อีกสองกลุ่มที่มีการทำงานร่วมกับเราคือ กลุ่มค้าปลีก ที่อาจจะใช้บริการไลฟ์สตรีมวิดีโอเช่นเดียวกับกลุ่มสื่อเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มภาคการผลิตที่เราทำงานร่วมกับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างโซลูชันด้านการเงินการธนาคารจาก Tencent Cloud
แต่อีกกลุ่มที่เราเข้าไปทำงานด้วยคือกลุ่มธนาคารที่กำลังทรานสฟอร์มตัวเอง เรามีโซลูชันด้าน e-KYC (ระบบทำความรู้จักลูกค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์) และปัญญาประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์ของลูกค้ากลุ่มนี้ นอกจากนี้บริการด้านฐานข้อมูลก็เป็นบริการที่ได้รับความสนใจเพราะธนาคารต้องประมวลข้อมูลการโอน-จ่าย จำนวนมาก และบางแห่งอาจจะไม่พอใจกับระบบฐานข้อมูลแบบเดิมๆ ที่ใช้งานอยู่ ประสบการณ์ของเราจากการให้บริการ WeBank ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลเต็มตัว ทำให้ธนาคารต่างๆ มั่นใจได้ว่าระบบฐานข้อมูลของ Tencent Cloud สามารถรองรับการใช้งานได้
ปีที่ผ่านมา Tencent Cloud มีความเปลี่ยนแปลงในไทยอย่างไรบ้าง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคงเป็นการเปิด data center แห่งที่สอง ทำให้เรามีระบบสำรอง (redundancy) ในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังอัพเกรด data center แรกให้ใช้เทคโนโลยีล่าสุด เป็นความตั้งใจของเราว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่เสมอ
ความเปลี่ยนแปลงถัดมาคือเราเพิ่มสินค้าและบริการในไทยจำนวนมาก จากเดิมที่เราเริ่มจากการให้บริการคลาวด์แบบ IaaS เป็นหลัก ตอนนี้เรามองเป็นโซลูชันสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น โซลูชัน Smart Retail สำหรับองค์กรกลุ่มค้าปลีก หรือ Smart Banking สำหรับลูกค้ากลุ่มการเงิน
จากนี้เรายังสร้าง ecosystem ทั้งระบบจากการทำงานร่วมพันธมิตรอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศเพื่อช่วยซัพพอร์ตลูกค้า หรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระที่จะเข้ามาใช้ Tencent Cloud เป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอบริการให้กับผู้ใช้ต่อไป
สรุป
ปี 2020-2021 นับเป็นช่วงเวลาที่องค์กรต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานและการทำธุรกิจมาสู่รูปแบบดิจิทัลกันในเวลาอันสั้น Tencent Cloud เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ขยายธุรกิจในประเทศไทยเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้องค์กรต่างๆพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างทันท่วงที
Tencent Cloud มี data center ในไทยถึงสองแห่ง ทำให้องค์กรสามารถวางระบบสำรองในประเทศ ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดจนระบบล่ม ลดความเสี่ยงกับปัญหาการเชื่อมต่อนอกประเทศ
Tencent Cloud ร่วมมือกับพันธมิตรในท้องถิ่น ตัวแทนจำหน่าย และนักพัฒนา เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงช่องทางบริการ Tencent Cloud ได้ง่าย ดังนั้นแนวทางการลงทุนเพื่อรองรับตลาดในประเทศของ Tencent Cloud ทำให้เป็นบริการคลาวด์ที่เหมาะกับธุรกิจในไทยอย่างยิ่ง
Comments
คลาวด์จีนยุคนี้ไม่น่าจะมีใครกล้าใช้