State Grid Xinjiang Electric Power Company หน่วยงานการไฟฟ้าที่รับผิดชอบระบบจ่ายไฟในเขต Xinjiang ได้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการจ่ายไฟคืนให้แก่ระบบเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ช่วยลดเวลาการทำงานจากหลายชั่วโมงลงเหลือเพียงแค่ 3 วินาที
ทางบริษัทการไฟฟ้าของ Xinjiang ได้นำเอาปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานในระบบการจ่ายไฟให้แก่ย่าน Qitailu ซึ่งเป็นย่านที่พักอาศัยของผู้คนราว 200 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในเมือง Urumqi ของมณฑล Xinjiang โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้งานมาแล้ว 1 เดือน
โดยปกติแล้วปัญหาไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในระบบจ่ายไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าการเกิด fault นั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ การดำเนินการของผู้ดูแลระบบจำเป็นจะต้องค้นหาจุดที่เกิด fault และตัดแยกจุดดังกล่าวออกจากเครือข่ายระบบจ่ายไฟ ก่อนทำการกำหนดทิศทางการจ่ายไฟจากแหล่งผลิตไฟเข้าสู่พื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับ แล้วจึงทำการเชื่อมต่อวงจรจ่ายไฟคืนให้แก่ระบบได้ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้อาจกินเวลานานหลายชั่วโมง
สาเหตุที่กระบวนการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับทั้งหมดกินเวลาหลายชั่วโมงนั้น เนื่องจากเมื่อเกิด fault ขึ้นในระบบไฟฟ้าแล้ว คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้สำหรับระบบควบคุมสั่งการเครือข่ายระบบจ่ายไฟจะอาศัยข้อมูลจากอุปกรณ์และเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งกระจายอยู่ในระบบจ่ายไฟมาประมวลผลและสร้างโค้ดจำนวนมากเพื่อแสดงข้อมูลของ error ในระบบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องคิดประมวลข้อมูลโค้ดเหล่านั้นด้วยตนเองเพื่อวิเคราะห์หาจุดที่เกิดปัญหา แล้วจะต้องสั่งการตัดแยก fault ออกจากระบบ รวมทั้งคิดหาเส้นทางการจ่ายไฟคืนให้แก่พื้นที่ประสบปัญหาไฟดับด้วยตนเองทั้งหมด
ทั้งนี้กระบวนการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับของระบบจ่ายไฟนั้น หากแบ่งออกเป็นระบบจ่ายไฟแรงดันสูง, แรงดันปานกลาง และแรงดันต่ำแล้ว ระบบจ่ายไฟแรงดันต่ำถือเป็นระบบที่มีความซับซ้อนในการวิเคราะห์และแก้ปัญหายากที่สุด เนื่องจากสายไฟแรงดันต่ำนั้นมีการติดตั้งกระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง และมีอุปกรณ์ปลีกย่อยที่เชื่อมต่อกับภาคผู้ใช้มากกว่า ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิด fault หลากหลายประเภทและหลายตำแหน่งมากกว่าระบบจ่ายไฟแรงดันสูงและแรงดันปานกลาง
การนำเอาปัญญาประดิษฐ์มาช่วยงานแก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้มันสามารถใช้การวิเคราะห์ด้วยภาษาธรรมชาติจนเข้าใจข้อมูลโค้ดที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ของระบบควบคุมการจ่ายไฟได้แทบจะในทันที จากนั้นมันจะสั่งการตัดแยกจุดทีเ่กิด fault และค้นหาเส้นทางการจ่ายไฟคืนระบบได้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยการวิเคราะห์ที่อิงจากชุดข้อมูลที่มันเคยเรียนรู้เอาไว้ โดยทำทุกขั้นตอนทั้งหมดนี้ในเวลาแค่ 3 วินาที
อันที่จริงแล้วการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการควบคุมระบบการจ่ายไฟนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ในประเทศจีนมีการนำเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้มากขึ้นนับตั้งแต่การก่อสร้างฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน เนื่องจากการจ่ายกระแสไฟของฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวนั้นมีสถานะการจ่ายไฟที่เปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างต่อเนื่อง หากแต่ว่าการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้จะเน้นหนักไปที่ระบบจ่ายไฟแรงดันสูงและแรงดันปานกลางเท่านั้น การนำเอามันมาใช้ควบคุมและแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าในระดับแรงดันต่ำอย่างที่ทำอยู่ในย่าน Qitailu นี้ถือเป็นครั้งแรก
ที่มา - South China Morning Post
Comments
ช่วงนี้รู้สึกจะขยันประกาศเหยียมย้ำซ้ำเติมมีกันซะเหลือเกินนะ 555
เม้นผิดข่าวหรือเปล่าครับ หรือว่ามี Comment ก่อนหน้าแต่โดนลบไป เพราะในข่าวก็ไม่มีอะไรผิดปกตินะ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ข้อมูลโค้ดที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์
Huh. มันยุ่บยั่บจนต้องเอา AI มาอ่านเลยเรอะ? คงจะหลาย param จริง
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ผมว่ามันก็ไม่ควรใช้คนมาอ่านตั้งแต่แรกแล้วนะครับอย่าง error log ยาวๆ เรายัง grep เอาเลย แค่เขียนโปรแกรมอ่าน output แล้วกรองที่สำคัญ หรือทำ pathfinding ก็น่าจะดีกว่ามานั่งอ่านเองนะครับ
Use case การแก้ปัญหาน่าสนใจจริงๆ เอา AI มาใช้ยังไง
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
ฟังดูเหมือนต่อไปเราจะไม่รู้ว่าอะไรทำงานยังไงแล้ว
ผมคิดว่ายังไงก็ต้องรู้ก่อนว่าทำงานยังไงแต่ไม่ได้ลงมือทำเอง ครับ