เยอรมนีเปิดตัวรถไฟที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงล้วนๆ วิ่งให้บริการเป็นที่แรกของโลก โดยวิ่งให้บริการเป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร เชื่อมต่อเมือง Cuxhaven, Bremerhaven, Bremervoerde และ Buxtehude ซึ่งอยู่ในเขต Lower Saxony ทางตอนเหนือของเยอรมนี
รถไฟพลังไฮโดรเจนนี้มีชื่อรุ่นว่า Coradia iLint เป็นผลงานของ Alstom บริษัทผู้ผลิตสัญชาติฝรั่งเศส สามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตรต่อเชื้อเพลิง 1 ถัง ทำความเร็วได้สูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามในการวิ่งให้บริการจริงจะใช้ความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
รถไฟ Coradia iLint ที่เยอรมนีสั่งมาใหม่เพื่อใช้งานแทนรถดีเซล
เยอรมนีได้นำรถ Coradia iLint มาทดลองวิ่งในเส้นทางนี้ ตั้งแต่ปี 2018 แต่ในช่วงนั้นยังเป็นการทดลองใช้งานร่วมกับรถไฟดีเซล ทว่าตอนนี้จำนวนรถไฟดีเซลทั้งหมด 15 คัน จะถูกแทนที่ด้วยรถไฟเซลล์เชื้อเพลิง 14 คัน ซึ่งมีมูลค่ารวม 93 ล้านยูโร ทั้งนี้การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 1 กิโลกรัม สามารถทำให้รถวิ่งได้เทียบเท่ากับการใช้เชื้อเพลิงดีเซล 4.5 กิโลกรัม และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 ตันต่อปี
สำหรับระบบจัดการเชื้อเพลิงนั้นถูกรับผิดชอบโดยบริษัท Linde ซึ่งได้ทำการติดตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มีถังทนความดันสูงสำหรับบรรจุเชื้อเพลิง 64 ถัง, เครื่องอัดก๊าซไฮโดรเจนอีก 6 ตัว และปั๊มเชื้อเพลิง 2 ตัวไว้คอยเติมเชื้อเพลิงให้กับรถ Coradia iLint
ตอนนี้เยอรมนีได้สั่งจองรถ Coradia iLint เพิ่มเติมอีก 27 คันสำหรับใช้งานที่ Frankfurt ในขณะที่อิตาลีก็สั่งจองรถไฟเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนี้ไปแล้ว 6 คัน ส่วนฝรั่งเศสเองได้สั่งจองไว้เพื่อใช้งานในประเทศ 12 คัน นอกจากนี้ Alstom ยังได้ส่งมอบรถไปทำการวิ่งทดสอบในประเทศออสเตรีย, โปแลนด์, สวีเดน และเนเธอแลนด์แล้ว
รถไฟ Coradia iLint ในระหว่างการวิ่งทดสอบที่ประเทศโปแลนด์
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ในยุโรปยังคงมีรถไฟดีเซลใช้งานอยู่ราวครึ่งหนึ่งของรถไฟทั้งหมด ซึ่งอีกครึ่งเป็นระบบไฟฟ้า ด้วยเหตุที่ว่าประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปลี่ยนระบบขนส่งทางรางทั้งหมดให้เป็นไฟฟ้าได้ สาเหตุแรกเนื่องจากข้อจำกัดด้านการก่อสร้างในบางเส้นทางที่มีอุโมงค์หรือสะพานจนทำให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าไม่อาจทำได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งาน ในบางเส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่หนาแน่นมากนักก็มีผลให้การลงทุนระบบไฟฟ้าไม่คุ้มค่า ซึ่งเชื่อว่าระบบขนส่งทางรางที่ยังไม่เป็นระบบไฟฟ้านี้จะทยอยเปลี่ยนการใช้งานรถไฟดีเซลมาเป็นรถไฟเซลล์เชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
Comments
เสียดายรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่
คอนเซปต์น่าสนใจ ปล่อยของเสียเป็นแค่ไอน้ำ เติมเร็วพอๆกับเข้าปั๊มน้ำมัน ไม่ต้องกังวลมากกับเรื่องแบตเตอรี่เสื่อม
กระบวนการได้ไฮโดรเจนมามันใช้พลังงานสูงกว่าที่มันให้กลับมาได้ไงครับ พลังงานที่ใช้ในการทำไฮโดรเจนก็มาจากช่องทางอื่นอีกทีอยู่ จะเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริงได้ พลังงานที่นำมาใช้ก็ต้องเป็นพลังงานสะอาดด้วยณ ตอนนี้จังยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่
อันนี้ผมว่าถ้าเทียบระหว่างเอา fossil fuel มาขับโดยตรง กับ เอาเข้าโรงไฟฟ้าปั่นไฟ รถพลังงานไฟฟ้าก็มี loss เยอะนะแถมโรงงานไฟฟ้าก็ยังไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดทุกที่
แต่ถ้ามี source ที่สะอาดแบบพวกเขื่อน, กังหัน, solar cell เยอะเพียงพอ เอามาผลิต hydrogen ก็ฟังดูดีนะ ที่ผมเข้าใจคือตอนนี้แบตเตอรี่มันยังไม่ renewable โลหะหายากที่เอามาทำแบตเตอรี่ก็จะมีสถานะเหมือน fossil fuel ในที่สุด
ใช้พลังงานในการผลิตเยอะครับถ้าหากอยากได้แบบที่สะอาด หรือถ้าอยากใช้พลังงานน้อยกว่า ก็ต้องแยกด้วยกระบวนการที่ได้ก๊าซพิษ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ที่ผ่านมาเรายังไม่เจอกับปัญหา ยังคิดว่าปัญหาพลังงานเป็นเริ่มไกลตัวครับ พอเจอวิกฤตพลังงานเข้าไปทุกคนก็เริ่มตระหนักถึงครับ ตอนนี้หลาย ๆ บริษัทเริ่มตระหนักแล้วครับ ว่าเราไม่สามารถรอ BEV ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะภาคการขนส่ง หลาย ๆ บริษัทตอนนี้เริ่มให้ความสนใจกับพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงมากขึ้นแล้ว เช่น Volvo Truck เองก็เริ่มเปิดตัวรถบรรทุกที่ใช้ Fuel Cell แล้ว โตโยต้าเองก็วางแผนเริ่มขายรถบรรทุกที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่ญี่ปุ่นในปีหน้า และแน่นอนว่า โตโยต้าเริ่มต้น อีซูซุ และอีกหลาย ๆ เจ้าก็จะตามมาครับ ส่วนไทย ถ้าญี่ปุ่นเริ่มวางขาย ก็คงมีเสียงเรียกร้องให้นำมาขายในประเทศไทย เพราะประเทศไทยเรายังพึ่งพิงการขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ เอามาขายในไทยยังไงก็มีคนซื้อ ส่วนสถานีเติมเชื้อเพลิงเดี๋ยวก็จะมีบริษัทพลังงานสร้างตามขึ้นมาครับ
ดังนั้นตอนนี้ มันพึ่งเริ่มต้นครับ อนาคตมาแน่นอนครับ
เยอรมนี น่าจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับต้นๆของโลกแล้วใช่มั้ยนะ
..: เรื่อยไป
กังวลเรื่องอุบัติเหตุ ถ้ามันรั่วจะทำอย่างไร
รั่วแล้วมันลอยขึ้นสูงเร็วมากจากความเบาครับ โอกาสติดไฟน่าจะต่ำกว่า NGV ที่หนักกว่าไปอีกเยอะเลย (แต่ NGV ยังเบากว่าอากาศ เทียบกับ LPG ที่หนักกว่าอากาศ)
น่ากลัวถังระเบิดจากแรงดันมากกว่า ถ้ารั่วแล้วทำให้ถังฉีกขาดได้นี่น่าจะรุนแรงตามความจุล่ะครับ
ถังเก็บไฮโดรเจนถ้าได้มาตราฐานการผลิตจากที่ออกแบบไว้ ก็ไม่น่าจะระเบิดจากแรงดันนะครับ นอกจากนำไปใช้เป็นเวลานาน ๆ และไม่มีการตรวจเช็คตามระยะที่ได้กำหนดไว้ หรือการตรวจสอบเช็คทานไม่เป็นไปตามมาตราฐานที่กำหนดไว้ครับ กับอย่างก็คือ เติมก๊าซไม่เป็นไปตามขนาดถังเช่น ถัง 5,000 PSI หรือ H35 แต่ไปเติมแรงดันขนาด 10,000 PSI หรือ H70 อันนี้ก็เกิดจากความประมาท และจะขนาดที่ออกแบบไว้ครับ แต่ปัจจุบันนี้ปัญหานี้ก็โดนแก้ไขไปแล้ว โดยหัวจ่าย H70 จะเพิ่มตัว RFID หรือ NFC ไว้ที่บริเวณส่วนหัวจ่ายและหัวรับที่ตัวยานพาหนะเพิ่มให้ตัวยานพาหนะ และหัวจ่ายได้คุยกันและเช็คทานกันครับ ถ้าเติมผิดหัวจ่ายก็จะไม่จ่ายก๊าซครับ แล้วจะขึ้นเตือนผู้ใช้ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=IfBeJbXf4w4
ครับ อันนี้ผมชี้แจงในส่วนว่าน่าห่วงน้อยกว่าติดไฟเฉยๆถ้าไม่รั่วแล้วกักไว้ในตัวรถแล้วมีคนสูบบุหรี่นะ 😅 อันนั้นก็คงไม่น่าต่างจาก LPG/NGV เท่าไหร่ มั้ง
แอบสงสัยเพิ่มนิดหน่อยครับ พวกนี้เค้าส่งไปสถานีเติมเชื้อเพลิงยังไงนะครับ ถ้าเป็นรถนี่น่าจะหนักน่าดู
ก็คงไม่พ้นทางรถบรรทุก หรือไม่ก็ทางท่อครับ
ขอบคุณครับ