สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อฮาร์ดแวร์หลายรายออกรีวิว Intel Core 13th Gen "Raptor Lake" ซึ่งรอบนี้ออกมาชนกับ AMD Ryzen 7000 พอดี ทำให้เราได้เห็นการเปรียบเทียบกันตรงๆ ของซีพียูเดสก์ท็อปจากทั้งสองค่าย
รีวิวที่ออกมา ส่วนใหญ่เป็นของ Core i9-13900K รุ่นบนสุด และ Intel Core i5-13600K ซีพียูระดับกลาง แล้วนำไปรันเบนช์มาร์คเทียบกับ Ryzen 9 7950X และ Ryzen 5 7600K ที่ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน
Raptor Lake ยังใช้โครงสร้างของ 12th Gen "Alder Lake" ที่ใช้ระบบ P-core + E-core สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ อินเทลเพิ่มจำนวน E-core เป็นสองเท่าจากเดิม (ยังเป็นคอร์ Gracemont ตัวเดิมเป๊ะ) และอัพเกรด P-core เป็นตัวใหม่ขึ้น (Raptor Cove แทน Golden Cove) รวมถึงเพิ่มคล็อคของ P-core มากขึ้นด้วย
- i9-13900Kเป็น 8P+16E (32 เธร็ด) เทียบกับ i9-12900Kเป็น 8P+8E (24 เธร็ด)
- i5-13600Kเป็น 6P+8E (20 เธร็ด) เทียบกับ i5-12600Kเป็น 6P+4E (16 เธร็ด)
การเพิ่มจำนวน E-core มาอีกเท่าตัว ทำให้ i9-13900K มีจำนวนเธร็ดเท่ากับ Ryzen 9 7950X (32 เธร็ด) แล้ว หลังจากที่ตอน i9-12900K มีจำนวนเธร็ดเป็นรอง
นอกจากนี้ Raptor Lake ยังเพิ่มจำนวนแคช L2 ต่อคอร์ (2MB ต่อ P-core และ 4MB ต่อ E-core) และเพิ่มแคช L3 ขึ้นตามด้วย เนื่องจาก Raptor Lake ใช้โครงสร้างเดิมของ Alder Lake ทำให้ใช้บอร์ดร่วมกันได้ แม้อินเทลออกชิปเซ็ตใหม่ Z790 มาพร้อมกันก็ตาม (ปรับปรุงจาก Z690 เฉพาะฝั่ง I/O)
ระบบคอร์ผสมของ Raptor Lake ทำให้ตัวระบบปฏิบัติการต้องซัพพอร์ตการสลับงานระหว่างคอร์ได้เป็นอย่างดีด้วย ตรงนี้อินเทลแนะนำให้ใช้ Windows 11 22H2 รุ่นใหม่ล่าสุด ที่ทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ให้รองรับ Intel Threat Director ของฝั่งซีพียูได้ดีขึ้น
ผลการทดสอบเบนช์มาร์คต่างๆ พบว่า Core i9-13900K อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Ryzen 9 7950X มาก ผลัดกันแพ้ชนะในชุดทดสอบแต่ละประเภท และมีความแตกต่างกันไม่เยอะนัก (ส่วนใหญ่แพ้ชนะกันแค่ 1-2%) โดย i9-13900K ขึ้นมาครองแชมป์เบนช์มาร์ค CineBench R23 Multi-Thread และเป็นซีพียูตัวแรกที่มีคะแนนสูงกว่า 40,000 คะแนน (7950X ทำสถิติเดิมไว้ที่ราว 38,000 คะแนน)
หากเทียบ i9-13900K กับรุ่นพี่ i9-12900K ที่ออกมาก่อนหน้า ประสิทธิภาพที่ได้ก็เพิ่มขึ้นราว 15% (เธร็ดเดียว) ตัวเลขของอินเทลเองบอกว่าถ้าเป็นงานมัลติเธร็ด ประสิทธิภาพจะดีขึ้นราว 40%
ผลการทดสอบด้านเกมมิ่ง i-13900K ยังฟัดเหวี่ยงกับ Ryzen 9 7950X เช่นเดิม แต่ในบางเกม (เช่น Borderlands 3 หรือ GTA V) อาจมี Ryzen 7 5800X3D ที่ใช้แคช L3 ขนาดใหญ่ เหมาะกับการเล่นเกมมาครองอันดับหนึ่งแทน
ในแง่ประสิทธิภาพอาจพอฟัดเหวี่ยงกัน แต่ถ้านำราคามาพิจารณาร่วมด้วย i9-13900K ตั้งราคาขายปลีกที่ 589 ดอลลาร์ ส่วน 7950X ขายแพงกว่าที่ 699 ดอลลาร์ (แถมยังต้องเปลี่ยนบอร์ดเป็นยุค Zen 4) ตรงนี้ย่อมทำให้ 13900K น่าสนใจมากขึ้นในแง่ประสิทธิภาพต่อราคา
อีกตัวเลือกหนึ่งที่คุ้มค่ามากคือ Core i5-13600K ที่เกาะกลุ่มประสิทธิภาพมาแบบเงียบๆ โดยตัวเลขเบนช์มาร์คตามหลัง 13900K ไม่มากนัก (บางการทดสอบชนะ 12900K ด้วยซ้ำ) ในราคาที่ถูกกว่าเกือบครึ่ง (319 ดอลลาร์)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการใช้พลังงาน Core i9-13900K ยังมีค่า TDP พื้นฐาน 125 วัตต์ (7950X 170 วัตต์) แต่ในการใช้งานจริงแบบ full load จะขึ้นไปที่ 253 วัตต์ (7950X ที่ 230 วัตต์) แถมยังสามารถปลดล็อคให้กินไฟได้สูงถึงราว 335-345 วัตต์ ถือเป็นซีพียูที่กินไฟเพิ่มขึ้นมากทีเดียว (จากทั้งคอร์ที่เพิ่มขึ้น และคล็อคที่เพิ่มขึ้น)
ที่มา - AnandTech , Notebookcheck
Comments
กินไฟหนักเลย ถึงจะพอเห็นภาพจากรุ่นก่อนแล้วก็เถอะ ก็ยังดูน่าตกใจอยู่ดี ส่วนเรื่องประสิทธิภาพนี่คือต้องบอกว่าถ้าไม่ได้ขนาดนี้ก็คงน่าผิดหวังมากกว่า
สิ่งสำคัญคือgen13 ยังใส่ DDR4 ได้ ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนงบไม่สูงมากที่จะลงทุนใหม่หมดทั้ง platform และมีบอร์ดถูกๆเป็นตัวเลือกเพียบ ดังที่มีข่าวว่าแม้แต่ H610 ก็ยังใส่gen13 ได้
ผลจากเจน 12th ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่เปลี่ยน socket กับวางแผนเรื่อง ram ddr4-5 ไว้ พอมาเจนนี้ก็เลยดูเบากระเป๋ากว่า amd ที่เพิ่งเปลี่ยนในเจนนี่
ถ้าเป็นราคาไทยก็ถูกกว่า 137USD เลย
กินไฟน้อยกว่าเพราะTDP น้อยกว่าจากตัวเลขที่ให้มา แต่ full load ขึ้นไป 250W จะเรียกว่าน้อยกว่าได้ไหมนิ แล้วมันจะน้อยกว่าเมื่อใช้กรณีไหนละทีนี้ ยังไงถ้าไม่full load ทั้งคู่ก็ไม่น่าถึง 100wหรอก
ถ้าเทียบค่าไฟที่ขึ้นมาแบบนี้ 100USD นี่ไร้ค่าเลยนะ
ไร้ค่ายังไงครับ ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมา เพิ่มจากการใช้งาน FULL LOAD ผมว่า FULL LOAD 24 ชั่วโมง ค่าไฟตกวันน่าจะแค่ 60 บาทด้วยซ้ำ และงานอะไรใช้ FULL LOAD ทั้งวันบ้าง งานที่ผมทำ ตีต่ำๆถ้าเปิด Full Load ได้ชั่วโมงละ 6,000 บาท ซึงเรนเดอร์แต่ละที ไม่ค่อยจะถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ คิดจาก 2990WX
คือช่วงเล่นเกม ช่วงIDLE ทั้ง AMD และ INTEL ตัวท็อปกินไฟปกติมากๆเลยแทบไม่ได้เยอะเวอร์เลย
ใช้ Apple M1 ต่อไป
เห็นผลทดสอบแบบตั้งค่า power limit แล้วเสียประสิทธิภาพไปแค่ 10-15% แต่กินไฟน้อยลงไปเกือบ100W
เหมือนกับว่าทั้งคู่ไม่มีใครยอมใคร พยายามอัดไฟดัน clock เพื่อให้คะแนนออกมาดีที่สุด
ผมพึ่งรู้ว่าโลกนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว intel ขายถูกกว่า amd ในซีรีย์เดียวกัน ไม่นึกว่ามันจะเป็นจริง
ยิ่งถ้าเป็นในไทย Intel ขายถูกกว่า AMD ครับ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
คือเรื่องการกินไฟนี่.. ถ้าไม่ชอบสามารถปรับ Power limit ได้ใน BIOS นะครับ
ต้องเข้าใจว่า "K" CPUมันสำหรับ Performance, Overclocking, Benchmarking นะครับ โดยเฉพาะตัวท็อปมันสำหรับผู้ใช้ระดับ Extreme ซึ่งก็ควรจะปรับแต่งตั้งค่าอยู่แล้ว มันก็เหมือน Intel EE, AMD FX สมัยก่อนนั่นแหละ ค่าจากโรงงานมันก็จะบ้าพลังหน่อย MB รุ่นสูงบางรุ่นมาแบบ Unlimited Power ตั้งแต่แรกเลย
ที่มันกินไฟเยอะเพราะจำนวน Core มันเยอะมาก และ Silicon มันรับได้นะครับ (สมัยก่อนไม่ไหวแน่นอน) จริงๆ RPL นี่ยังไปต่อได้อีกด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้คือตันที่ความร้อนแล้ว จะเห็นว่าพอโดน LN2 แล้วมันไปต่อได้อีกไกลเลย ผมว่า Intel ทำการบ้านมาดีนะ เพราะขนาด Intel 7 (10nm) ยังรีดได้ขนาดนี้
ปัญหาคือคนไม่ยอมปรับลด Power limit เพราะรู้ว่ามันรันได้ ก็อยากใช้แรงๆ มีความคิดว่าถ้าไปปรับอะไรลดลงจะไม่คุ้มค่า (แถมจะต้อง OC เพิ่มอีกต่างหาก) แต่ก็มาบ่นเรื่องพลังงาน ความร้อน ก็เหมือน AMD ที่มี Eco mode ให้ใช้นั่นแหละ
ส่วนใครที่ไม่อยากปรับปรับไม่เป็น อยากใช้เดิมๆ ก็แสดงว่าคุณไม่ใช่ Power user นะครับ ก็ไม่ควรซื้อรหัส K ก็ควรจะซื้อรหัสปกติ OC ไม่ได้ บอร์ดรุ่นกลางๆ ก็พอ (MB รุ่นแพงๆ มันสำหรับ OC) ประเด็นคือ คนซื้อรหัส K ใช้กันจนคิดว่ามันคือรุ่นปกติสำหรับทุกคน
ผมเข้าใจมาตลอดเลยว่า K-series คือ ไม่ล็อคคล๊อค แค่นั้น
รหัส K จะมี base clock และ boost clock สูงกว่าตัวธรรมดาด้วยครับ
เห็นด้วย cpu ทุกวันนี้ auto overclock กันอยู่แล้ว พวก turbo boost ทั้งหลายแหล่ ส่วนเรื่องการคุม clock แค่จัดการเรื่องไฟกับระบบระบายความร้อน ก็บูตติดลิมิทของมันได้ยาวๆ
ตัว K หรือตัว X คงแอดวานซ์ขึ้นอีกขั้นสำหรับคนขี้เล่น
ใช่ครับ
CPU เห็นว่ายังรันได้ อุณหภูมิยังไหว ก็บูสขึ้นไป
MB รุ่นสูง จ่ายไฟได้เยอะ มันก็จ่ายไฟให้เรื่อยๆ
ถ้าเป็นสมัยก่อนคุณภาพ Silicon กระบวนการผลิตต่างๆ มันยังไม่ดีเท่าตอนนี้ มันก็ตันที่ Silicon ก่อนเลย ไม่นิ่ง ไม่สเถียร รันไม่ไหว มันก็ได้แค่นั้น หยุดที่ตรงนี้ ความถี่ อุณภูมิ การกินไฟ ก็ยังไม่เยอะเท่าไหร่
แต่ตอนนี้Silicon มันคุณภาพดีขึ้นไง ดันความถี่ขึ้นไปสูงๆ อัดไฟมาเยอะๆ เท่าไหร่ก็มาเลย รับได้หมด สุดท้ายมันก็ไปตันที่อุณหภูมิแทน แต่จริงๆ ตัว Chip มันยังไหว ไปได้อีก ดูจาก Raptor Lake นี่พอโดน LN2 ยังขึ้นไปได้อีกไกลเลยครับ
สุดท้ายมันก็เป็นแค่ "สิ่งที่ CPU ทำได้" ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องให้มันทำแบบนั้นตลอดเวลา 300W 24/7 เราในฐานะผู้ใช้งานก็สามารถไปกำหนด Power limit ให้มันได้ 180W 125W 90W เอาตามที่ชอบ ก็เหมือน CPU ของ Laptop นั้นแหละ ที่ผู้ผลิตเขากำหนด Power limit มาต่ำกว่า Desktop
จริงๆ มันไม่ใช่ข้อเสียด้วยซ้ำมันคือ Upper limit ที่ CPU สามารถขึ้นไปได้ เพราะคุณภาพของ Silicon มันดีขึ้นมาก สามารถรับพลังได้มากกว่าเดิมแบบไม่เคยทำได้มาก่อน (ในพื้นที่เล็กแค่นั้น)
ก็เหมือนมีรถสองคัน
คัน A - ขับได้ 0-100 km/h
คัน B - ขับได้ 0-250 km/h
ส่วนอื่นเหมือนกันทุกอย่างทั้งคุณภาพ ตัวถัง อะไหล่ ราคาก็เท่ากัน แค่รถคัน A ถูกล็อคไว้ไม่ให้ขับเกิน 100 km/h ส่วนรถคัน B มันสามารถขับได้ถึง 250 km/h แต่คุณจะขับ 100 เท่าคัน A ก็ได้ ในเมืองคุณก็ขับช้าๆ ทางด่วนก็ขับเร็วขึ้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องขับ 250 km/h ตลอดเวลา (ในเมือง?)
ก็เหมือนกันรถ B ก็ออกแบบมาสำหรับ Advanced driver สำหรับนักแข่งนักซิ่ง ส่วนรถ A ขายสำหรับคนทั่วไป ก็มีล็อคความเร็วไว้เพื่อความปลอดภัย คุณบอกว่ารถ B มันอันตรายเกินไป คุณก็ซื้อ A มาขับ ก็เหมือนเครื่องบินรบที่มี After Burner นั่นแหละ ไม่ได้เปิดใช้ตลอดเวลา (เลือกได้, User choice)
ใครจะซื้อของแรงแบบนี้ ก็ต้องระวังค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่
อนาคตเมนบอร์ดเสียขึ้นมา ก็ใช้บอร์ดถูกไม่ได้ จ่ายไฟไม่พอPSU 1000-2000 บ. ก็ไม่ได้อีก
รวมถึงพวกค่าไฟ อัตราก้าวหน้า
เท่าที่เจอคนซื้อของพวกนี้ส่วนใหญ่หาข้อมูลกันค่อนข้างหนักอยู่แล้ว เพราะกลัวติดขวด