กูเกิลประกาศนำโค้ดบางส่วนของระบบปฏิบัติการ Android มาใช้กับระบบปฏิบัติการ ChromeOS ด้วย เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการพัฒนา และช่วยให้ออกฟีเจอร์ของ ChromeOS ได้เร็วขึ้น
ชิ้นส่วนแรกที่ ChromeOS นำมาใช้งานคือ Fluoride เฟรมเวิร์คสำหรับจัดการอุปกรณ์ Bluetooth ของ Android ที่นำมาใช้แทน BlueZ เฟรมเวิร์ค Bluetooth ของลินุกซ์ที่ ChromeOS ใช้งานอยู่ก่อน
ปัญหาของ BlueZ คือใช้ API คนละตัวระหว่างการใช้บนพีซีกับอุปกรณ์พกพา ทำให้ดูแลโค้ดได้ยากกว่า เมื่อ Android มี Fluoride ที่สถาปัตยกรรมเรียบง่ายกว่า และทดสอบความเข้ากันได้กับอุปกรณ์จำนวนมากกว่าอยู่แล้ว จึงสมเหตุสมผลที่จะนำ Fluoride มาใช้กับ ChromeOS ด้วย
กระบวนการย้ายเฟรมเวิร์คของกูเกิลใช้เวลาทั้งหมด 2 ปีครึ่ง (เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2021) ภายใต้โค้ดเนมว่า Project Floss ซึ่งตอนนี้ทำเสร็จแล้ว และเริ่มใช้งานใน ChromeOS เวอร์ชัน 122 หลังจากเปลี่ยนมาใช้ Fluoride แล้วพบว่าการแพร์อุปกรณ์ Bluetooth บน ChromeOS ทำได้เร็วกว่าเดิม แถมยังรอบรับฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง LE Audio และ audio codec ใหม่ๆ ที่ Fluoride ใช้งานอยู่แล้ว
กูเกิลยังบอกว่าจะพัฒนา Floss ต่อเพื่อให้ลินุกซ์ดิสโทรอื่นๆ สามารถนำ Fluoride ไปใช้งานได้ด้วย
ที่มา - Chromium Blog , ChromeOS Dev
Comments
ดีมาก ฟังเพลงบน Chromebook จะได้เลิกติด ๆ หลุด ๆ สักที 😍
“การแพร์อุปกรณ์”ควรใช้เป็นคำว่า “การจับคู่” หรือไม่ก็ใช้คำว่า “Pair” ไปเลยน่าจะเหมาะสมกว่านะครับ
ชื่อโค้ดเนมสนุกดี
Bluetooth = ฟันสีฟ้า
Fluoride = ป้องกันฟันผุ
😂😂😂
Project Floss ด้วยครับ
รอ Project Listerine เลย 😂
ชอบชื่อจัง
..: เรื่อยไป