Tags:
Node Thumbnail

กูเกิลยื่นข้อเสนอแผนเยียวยาตามขั้นตอนทางกฎหมาย หลังจากศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ตัดสินคดี ว่ากูเกิลมีพฤติกรรมผูกขาดธุรกิจค้นหาข้อมูล (Search) จริง ตามที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเป็นฝ่ายฟ้องร้อง และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เสนอ แผนเยียวยา เมื่อเดือนที่แล้ว ให้ศาลสั่งกูเกิลแยก Chrome ออกมาเป็นอีกบริษัท รวมทั้งให้กูเกิลเปิดไลเซนส์ข้อมูล อัลกอริทึม การแสดงผลการค้นหา ให้คู่แข่งสามารถนำไปปรับปรุงบริการได้

กูเกิลบอกว่าบริษัทจะยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินนี้อยู่แล้ว แต่ตามขั้นตอนบริษัทก็ต้องเสนอแผนเยียวยาตลาด ตามคำตัดสินว่าบริษัทมีพฤติกรรมผูกขาดด้วยเช่นกัน กูเกิลมองว่าข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐที่ให้แยก Chrome ออกมานั้นเกินขอบเขตคำตัดสินไปมาก โดยกูเกิลมองว่าคำตัดสินนั้นสนใจเรื่องที่กูเกิลไปทำข้อตกลงพิเศษกับหลายบริษัท

ข้อเสนอกูเกิลมีสองส่วน สำหรับเบราว์เซอร์ ซึ่งกูเกิลทำข้อตกลงกับแอปเปิลและ Mozilla อยู่ ได้เสนอให้ผู้ผลิตเบราว์เซอร์มีอิสระมากขึ้นในการทำข้อตกลงกำหนดตัวค้นหาเริ่มต้น (Default) เช่น เบราว์เซอร์เดียวกัน แต่รันคนละแพลตฟอร์มก็ทำสัญญาแยกกันเป็นรายแพลตฟอร์มไป หรือการกำหนดสัญญาให้สั้นลง เช่น ต้องตกลงกันใหม่ทุก 12 เดือน ซึ่งน่าจะสมเหตุสมผลมากขึ้น

ส่วนฝั่ง Android กูเกิลเสนอให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ มีอิสระมากขึ้น เช่น สามารถพรีโหลดระบบค้นหาได้หลายรายในเครื่องเดียว, เลือกพรีโหลดแอปกูเกิลเป็นรายแอป ไม่ต้องเหมายกชุด รวมทั้งเปิดให้ผู้ให้บริการคู่แข่ง เช่น ไมโครซอฟท์ เข้ามาทำข้อตกลงประมูลแย่งพื้นที่พรีโหลดได้

ประเด็นน่าสนใจคือกูเกิลบอกว่าศาลกำลังพิจารณาคดีในหัวข้อที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูง โดยดูได้จากการไต่สวนที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว แต่วันนี้ผ่านมาปีเดียว AI ได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมสูงมาก ตลาดบริการค้นหาข้อมูลมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นแล้ว

ที่มา: กูเกิล

Get latest news from Blognone