Tags:
Node Thumbnail

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณประนิติ ฐิตะวรรโณ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กลุ่มธุรกิจออราเคิล ฟิวชั่น มิดเดิลแวร์ โดยมีประเด็นอยู่ที่ผลิตภัณฑ์สายฮาร์ดแวร์ของออราเคิลเป็นหลัก

ทิศทางของโลกไอทีองค์กรนั้นชัดเจนมากว่า บริษัทไอทีใหญ่ๆ ให้บริการโซลูชันครบวงจร ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ไปจนถึงแอพ (vertical integration) ซึ่งผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์กลุ่ม Exa ของออราเคิลถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในประเด็นนี้

alt=

คุณประนิติ ฐิตะวรรโณ

ย้อนรอย ออราเคิลกับฮาร์ดแวร์

เดิมทีออราเคิลเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทที่สร้างซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล จากนั้นก็ขยายตัวมายังแอพพลิเคชันองค์กรอีกหลายตัว แต่เมื่อระบบไอทีขององค์กรเริ่มซับซ้อน องค์ประกอบของโซลูชันแต่ละอันมาจากผู้ผลิตหลายราย มีปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ ประสิทธิภาพ และบริการหลังขาย ทำให้ออราเคิลเริ่มมองไปถึงการทำฮาร์ดแวร์เองเพื่อรันซอฟต์แวร์ของตัวเอง แทนการขายซอฟต์แวร์อย่างเดียวบนฮาร์ดแวร์ของบริษัทอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง

ความพยายามครั้งแรกของออราเคิลเริ่มตั้งแต่ปี 2008 โดยเปิดตัว Oracle Database Machine ที่ใช้เซิร์ฟเวอร์ของ HP แล้วปรับแต่งให้ใช้ Oracle Database 11g โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดมาตั้งแต่โรงงาน

แต่เมื่อออราเคิลซื้อซันในปี 2009 ความร่วมมือกับ HP ก็ถูกยกเลิกไปเพราะออราเคิลมีฮาร์ดแวร์ของซันอยู่ในมือแล้ว ยุทธศาสตร์นี้ได้รับการขับเคลื่อนต่อในชื่อใหม่คือ Oracle Exadata Database Machine

จากนั้นออราเคิลก็เดินหน้าต่อด้วยไอเดียเดิมแต่ขยายให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ภายใต้เซิร์ฟเวอร์ตระกูล "Exa"

  • Exalogic (เปิดตัวปี 2010) ขยายจากเซิร์ฟเวอร์สำหรับฐานข้อมูล มาเป็นแอพพลิเคชันของออราเคิลเอง (แต่ก็ขยายให้พันธมิตรซอฟต์แวร์รายอื่นๆ เช่น SAP มาใช้ได้ด้วย) โดยเน้นที่ประสิทธิภาพของ Java เป็นหลัก
  • Exalytics (เปิดตัวต้นปี 2012) สำหรับงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลและ business intelligence (BI) เป็นหลัก
  • Big Data Machine (เปิดตัวปี 2011) สำหรับงานด้าน Big Data, Hadoop และ NoSQL

ยุทธศาสตร์ฮาร์ดแวร์ของออราเคิล

คุณประนิติ อธิบายเหตุผลที่องค์กรควรใช้งานเซิร์ฟเวอร์ของออราเคิล (ออราเคิลใช้คำว่า "Engineered System" แต่ผมเรียกว่าเซิร์ฟเวอร์ละกันนะครับ) ว่าปัจจุบันองค์กรบางแห่งเริ่มไม่มีที่วางเซิร์ฟเวอร์แล้ว ยกออกก็ไม่ได้ เพราะทุกตัวรันงานอยู่ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าเซิร์ฟเวอร์ทุกตัวทำงานเต็มความสามารถ การซื้อเครื่องก็ต่างคนต่างซื้อ ต่างกรรมต่างวาระ

แนวคิดการแก้ไขคือเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวกัน แชร์ทรัพยากรกัน ยุบเหลือไม่กี่ตัว บริหารจัดการง่ายขึ้น ค่าไฟน้อยลง (ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่อง server consolidation ที่มีมานานแล้ว)

ออราเคิลจึงออก Engineered System มาจับตลาดลูกค้าเหล่านี้ที่ต้องการกล่องเดียวจบ โดยถือเป็นรายแรกในวงการที่ออกผลิตภัณฑ์แบบนี้มา

No Description

ผลิตภัณฑ์ตระกูล Exa ทั้งสามตัวมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน

  • Exalogic ออกแบบมาเป็นเซิร์ฟเวอร์สำหรับรันแอพพลิเคชันที่เขียนด้วย Java ที่ต้องการการประมวลผลแบบ multi-thread
  • Exadata ออกแบบมาสำหรับงานฐานข้อมูล ต้องมีสตอเรจที่เร็วกว่าปกติทั่วไป
  • Exalytics ออกแบบมาสำหรับงานวิเคราะห์ ต้องมีหน่วยความจำเยอะๆ เพื่อทำ in-memory analysis

จุดขายหลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้คือ "ประสิทธิภาพ" ที่ปรับแต่งมาแล้วโดยวิศวกรของออราเคิล จับเอาทีมฮาร์ดแวร์กับทีมซอฟต์แวร์มานั่งด้วยกัน (ซึ่ง ออราเคิลเคยโฆษณาว่า Exadata เร็วกว่า IBM AIX Power
ถึง 20 เท่าจนศาลสั่งหยุดโฆษณามาแล้ว
)

ออราเคิลเตรียมเปิดตัว Exalogic 2.0 ในงาน OpenWorld 2012 ปลายเดือนนี้ ไว้มีรายละเอียดออกมาแล้วจะมาเขียนถึงอีกครั้งนะครับ

เสียงตอบรับจากลูกค้า

เซิร์ฟเวอร์ที่ขายดีที่สุดของออราเคิลคือ Exadata ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะลูกค้าหลักของออราเคิลคือฐานข้อมูล คุณประนิติให้ความเห็นว่าลูกค้าไทยซื้อ Exadata ไปใช้เพราะเห็นคอขวดที่ฐานข้อมูล จึงซื้อเครื่อง Exadata มาแก้ปัญหาก่อน ส่วนในอนาคตพอไปเจอคอขวดที่แอพพลิเคชั่นแล้ว Exalogic จะตามมาในลำดับถัดไป

ลูกค้าในไทยที่ใช้งานเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเงิน-ประกันภัย และหน่วยงานภาครัฐ โดยออราเคิลเน้นเจาะตลาดลูกค้าที่เดิมใช้ระบบเมนเฟรม (ของบริษัทใดคงไม่ต้องเอ่ยชื่อ) ตัวอย่างลูกค้าที่ออราเคิลเคยโพสต์ลง Press Release ของ Blognone ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น (ทั้งสองแห่งใช้ Exadata)

ตัวเลขของออราเคิลระบุว่า Exalogic โต 3 เท่าตัวต่อปี (ยอดขายรวมทั้งโลก) ซึ่งในประเทศไทยปีนี้ก็มีโอกาสสร้างยอดขายได้ใกล้เคียงกัน

Oracle Tuxedo

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของออราเคิลเน้นที่แอพพลิเคชัน Java เสียมาก แต่ในโลกขององค์กรยังมีแอพพลิเคชันเก่าๆ ที่เขียนด้วย C/C++/Cobol อยู่อีกเยอะ แอพพลิเคชันเหล่านี้ต้องรันบนเซิร์ฟเวอร์แบบเก่าอย่างเมนเฟรม (ของบริษัท ....) ที่ดูแลรักษายากกว่าเซิร์ฟเวอร์สมัยใหม่ แต่ถึงแม้ว่าองค์กรอยากเปลี่ยนมาใช้เซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่ๆ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ของแอพพลิเคชันกับฮาร์ดแวร์ ในขณะที่การเขียนแอพพลิเคชันเดิมขึ้นมาใหม่ก็เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ และต้องลงทุน-เวลาเยอะมาก

ตรงนี้ออราเคิลมีซอฟต์แวร์ชื่อ Tuxedo ซึ่งซื้อมาจาก AT&T ในปี 2008 หน้าที่ของมันคือทำตัวเป็นมิดเดิลแวร์อยู่บนเซิร์ฟเวอร์สมัยใหม่ เพื่อให้แอพพลิเคชันเดิมที่เขียนด้วย C/C++/Cobol รันบนเซิร์ฟเวอร์ยุคใหม่ได้ (และแน่นอนว่าปรับแต่งให้รันบน Exalogic ได้)

Get latest news from Blognone

Comments

By: easytoread
Blackberry
on 22 September 2012 - 11:17 #477898
easytoread's picture

ทำไม เค้าดูแลกลุ่ม "กลุ่มธุรกิจออราเคิล ฟิวชั่น มิดเดิลแวร์" แต่ไปเน้น Hardware ละครับ?

By: mk
Founder Android
on 22 September 2012 - 22:50 #478114 Reply to:477898
mk's picture

เท่าที่ผมเข้าใจ (เอาเอง) นะครับ ออราเคิลขายมิดเดิลแวร์ดันที่บรรจุมาในกล่องฮาร์ดแวร์ครับ

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 23 September 2012 - 04:49 #478252 Reply to:478114
mr_tawan's picture

ออกแนวขายเหล้าพ่วงเบียร์นะครับ


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: mk
Founder Android
on 23 September 2012 - 11:15 #478342 Reply to:478252
mk's picture

เหมือนบริษัทที่ขาย "ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้" ในกล่องฮาร์ดแวร์รึเปล่า ฮา

By: easytoread
Blackberry
on 23 September 2012 - 12:15 #478380 Reply to:478114
easytoread's picture

ขอบคุณครับ
ข้อนี้ ก็พอเข้าใจนะครับแต่ หลักๆเลย มิดเดิลแวร์น่าจะขายแยก มากกว่านะครับ
การขายร่วมกับHW น่าจะแค่ส่วนเสริม

By: viroth
Contributor Blackberry In Love
on 22 September 2012 - 21:58 #478101
viroth's picture

ได้ SUN นี่เหมือนได้ แรร์ไอเทมเลย