ก่อนหน้านี้เราได้ยินข่าวมาบ้างว่า บางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา กำลังพิจารณานำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้แล้ว (เช่น คลื่นของทีวีแอนะล็อก) มาเปิดให้ใช้งานในด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่ยังไม่ได้เห็นรูปแบบการใช้งานออกมามากนัก
ตัวอย่างโครงการของไมโครซอฟท์ในเคนยา ก็ช่วยแสดงให้เห็นว่าความถี่ลักษณะนี้สามารถเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างไรได้บ้าง เพราะในโครงการนี้ ได้ใช้โซลาร์เซลล์ ร่วมกับคลื่นความถี่ย่านประมาณ 600 MHz ของโทรทัศน์ที่ไม่มีการใช้งาน มาช่วยให้โรงเรียนหรือสถานพยาบาลในพื้นที่ที่ยังแทบไม่มีไฟฟ้าใช้ สามารถต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลเคนยา โดยได้วางระบบให้กับคลินิกในเมือง Burguret โรงเรียนในเมือง Male (มาเล) และ Gakawa และห้องสมุดในเมือง Laikipia ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีการต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ บางส่วนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตมือถือ แต่ก็ราคาแพงมาก หลังจากนี้โครงการก็จะขยายเครือข่ายไปยังสถานที่ 20 แห่งในช่วงปีนี้
โซลาร์เซลล์สามารถเข้ามาแก้ปัญหาการไม่มีไฟฟ้า โดยโซลาร์เซลล์ขนาด 7 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้วันละ 4.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งในช่วงกลางวันนั้นก็เพียงพอสำหรับการเปิดเครือข่ายและชาร์จอุปกรณ์ และกลางคืนก็มีแบตเตอรีที่จะช่วยให้ใช้เครือข่ายและชาร์จอุปกรณ์ได้เช่นกัน โดย Paul Gartner ผู้อำนวยการนโยบายเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ได้กล่าวว่า "ลองนึกถึงภาพโรงเรียน ที่มีห้องคอมพิวเตอร์ที่เด็กนักเรียนสามารถใช้ในช่วงกลางวัน และสามารถใช้งานแบตเตอรี่แท็บเล็ตได้ช่วงกลางวัน จากนั้นช่วงเย็นคุณก็มีสถานีชาร์จไฟที่จะเสียบแท็บเล็ตชาร์จไฟช่วงกลางคืนได้"
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั่วไปนั้นไม่ได้มีความสามารถที่จะใช้งานคลื่น 600 MHz นี้ได้ ดังนั้น สถานีฐาน จะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ที่ตั้งในคลินิก โรงเรียน หรือห้องสมุดนี้ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งรับสัญญาณย่านความถี่นี้ และเป็น hotspot ที่ใช้ความถี่ 2.4 GHz หรือ 5 GHz ที่ใช้ใน Wi-Fi ทั่วไปได้ สถานีฐานหนึ่งแห่งสามารถครอบคลุมรัศมีได้ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยใช้ช่องสัญญาณทีวีหนึ่งช่อง ส่งข้อมูลได้ 16 Mbps และมี latency ใกล้เคียงกับระบบบรอดแบนด์ทั่วไป
Gartner ยังกล่าวด้วยว่า คลื่นความถี่ย่านนี้ของเคนยานั้นยังโล่งมาก มีความถี่กว้างหลายร้อยเมกะเฮิร์ตที่ไม่มีการใช้งานอยู่ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเชื่อมต่อลักษณะนี้ได้อีกมาก
ที่มา - Ars Technica
ภาพจาก ไมโครซอฟท์
Comments
Google ก็ทำครับ ในแอฟริกา เอา White Space ไปต่อระหว่างโรงเรียนเหมือนกัน
ผมจำได้ 1 ในกสทช (คุณ @supinya) เคยบอกว่า Google เคยมาถาม กสทช เหมือนกันว่าหลังจากมีทีวี ดิจิตอลแล้ว จะเอา WhiteSpace ไปทำอะไรตอนนั้น กสทช ตอบว่ายังไม่ได้คิด เอาให้จบเป็นเรื่องๆก่อน สงสัยตั้งใจเอามาทำแบบนี้เหมือนกันมั้งครับ ในไทย
อยากเห็น เศรษฐี บริษัท ยักษ์ใหญ่ ทำยังงี้เยอะๆ
อยากดูยีราฟที่เคนยา
อยากรู้ว่า Ping จะขึ้นซักเท่าไหร่นะ
เป็นอะไรที่เป็นประโยชน์มากเลยครับ
สุดไฮโซเลย ค่ำๆก็เต้นระบำประจำเผ่าแล้วอัพขึ้น youtube ทันที
+1 ^^
ชอบภาพสุดท้าย ถ่ายสวยมาก ๆ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เยี่ยมมากครับ
ทำให้รู้สึกโลกน่าอยู่ขึ้นอีก