หลังจากที่ไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows RT ก็มีเสียงวิจารณ์ออกมาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะความแตกต่างที่ทำให้รันได้เฉพาะแอปแบบเมโทรเท่านั้น
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มันถูกจัดอยู่ในประเภทแท็บเล็ต แต่อยู่ตรงที่หน้าตามันเหมือนกับ Windows 8 อย่างกับแกะ จนการใช้งานชวนให้อยากเรียกโปรแกรมที่คุ้นเคยขึ้นมาใช้มากกว่าเวลาใช้แท็บเล็ตอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ Windows RT ถูกแกะให้ติดตั้งโปรแกรมเดสก์ท็อปได้อิสระแล้ว แต่ด้วยความแตกต่างของสถาปัตยกรรม ทำให้มีโปรแกรมเพียงหยิบมือที่สามารถทำงานได้ นอกเหนือจากนั้นต้องไปดำเนินการพอร์ตโปรแกรมมาคอมไพล์กันใหม่ ซึ่งทีมพอร์ตเองก็ได้ดำเนินการกับโปรแกรมโอเพ่นซอร์สที่ใช้การมากไปพอสมควร เห็นได้จาก รายชื่อโปรแกรมที่พอร์ตให้ Windows RT
แต่ด้วยโครงการ Win86emu บน XDA Developers ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอีกครั้ง ด้วยการทำเครื่องมือที่ยอมให้ผู้ใช้รัน x86 Windows application หรือโปรแกรมปกติสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไปบน Windows RT ได้โดยไม่ต้องดำเนินการใด ๆ กับตัวโปรแกรมเลย โปรแกรมที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงก็คงเป็นโปรแกรมปิดซอร์สทั้งหลายที่ไม่สามารถนำมาพอร์ตกันเองได้
mamaich ผู้พัฒนาโครงการนี้ได้แจ้งไว้ชัดเจนว่าโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นเบต้าเท่านั้น อย่าคาดหวังมากนัก มันยังห่างไกลจากความสำเร็จ แต่อย่างน้อยตอนนี้มันก็ทำงานได้บ้าง
ภาพตัวอย่างการทดสอบความเร็ว SSD ของ Surface RT ด้วยโปรแกรม ATTO
รายชื่อโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้แน่นอน ที่เด่น ๆ ตอนนี้ได้แก่ WinAmp, WinRAR, 7-Zip, Heroes of Might and Magic III, Age of Empires 1, Might and Magic VI และ Fallout 2 ส่วนโปรแกรมนอกเหนือจากรายการนี้ต้องไปเสี่ยงโชคกันเอง
เห็นรายชื่อเกมแล้วอย่าเพิ่งมีความหวังกับเกมอายุสิบกว่าปีอย่าง Warcraft III นะ ผมหวังแล้วผิดหวังแล้วกับคำเตือน "Microsoft Visual C++ Runtime Error!"
ขั้นตอนการใช้งานถือได้ว่าไม่ยุ่งยาก ผมขอเรียบเรียงไว้ให้เห็นภาพเพราะคาดว่าคงมีคนใช้ Windows RT อยู่ไม่มาก
- ดาวน์โหลด Win86emu
- Jailbreak Windows RT เพื่อติดตั้ง Win86emu (Windows RT ต้อง jailbreak ใหม่ทุกครั้งที่รีสตาร์ทเครื่องขึ้นมาใหม่ ใช้เวลาราวสิบวินาที)
- ติดตั้ง Win86emu โดยการเปิดไฟล์ .msi ที่ดาวน์โหลดมา ขั้นตอนนี้หากเราไม่ได้ jailbreak เครื่องก่อนระบบจะแจ้งเตือนว่าไฟล์ไม่ถูกเซ็นด้วยใบรับรองที่ถูกต้อง
- รีสตาร์ทเครื่อง
- Jailbreak เครื่องอีกครั้งหนึ่ง ทดลองเปิดโปรแกรม (แนะนำโปรแกรมที่อยู่ในรายชื่อ เพื่อความมั่นใจว่ามันจะต้องเปิดได้) ถ้าระบบแจ้งเตือนว่าโปรแกรมไม่สามารถทำงานได้ ให้เข้าไปรันไฟล์ "C:\x86node\Windows\Autostart_x86.cmd" เพื่อเปิดการทำงานของ auto hook จากนั้นลองเปิดโปรแกรมใหม่อีกครั้ง โปรแกรมควรจะรันขึ้นมาเป็นปกติ (ของผมเจอกรณีนี้)
- หากยังไม่ได้ ให้เรียกใช้ผ่าน Run x86 Program ซึ่งเป็น manual launcher ที่ Start Screen แทน
มีข้อดีใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย ทางนักพัฒนาได้แจ้งไว้ว่าโปรแกรมที่เข้าข่ายเงื่อนไขต่อไปนี้จะไม่สามารถทำงานได้
- ใช้พลัง CPU มาก
- ใช้ฟีเจอร์ซับซ้อนที่ถูกตัดออกไปใน Windows RT เช่น D3D9 หรือ OpenGL
- ต้องการไดรเวอร์หรืออุปกรณ์เฉพาะ
- ใช้ COM interfaces อย่างหนักหน่วง
- ใช้ undocumented windows internals
- โปรแกรมที่พัฒนาด้วย .NET framework
- x86 Metro apps
- โปรแกรมที่เป็น ๑๖ และ ๖๔ บิต (คือได้เฉพาะโปรแกรม ๓๒ บิตเท่านั้น)
จากการทดสอบ สามารถเปิดใช้โปรแกรม MangaMeeyaCE ได้ เปิดไฟล์และปรับภาพค่อนข้างนาน แต่เมื่อแคชไฟล์แล้วการเปลี่ยนหน้าราบรื่นเทียบเท่าเปิดบนเครื่อง Windows 8 การพลิกหน้าไม่มีอาการสะดุดหรือกระตุก เท่าที่พบปัญหาคือจะแครชเมื่อใช้ open folder (Ctrl+D) เท่านั้น
อีกโปรแกรมที่เลือกมาทดสอบคือ Poweroff 3.0.1.3 ที่ผมเลือกตัวนี้เพราะมีการยุ่งกับอุปกรณ์ระบบบ้าง นั่นคือสั่งปิดจอ ผลคือทำงานได้ปกติ สามารถสั่งปิดจอได้ อาจจะเหมาะกับคนที่ไม่อยากใช้ปุ่มฮาร์ดแวร์หรือปุ่มมีปัญหา (Windows RT สามารถเปิดจอด้วยการแตะปุ่มวินโดว์แบบสัมผัสได้ โดยถ้าเป็น Microsoft Surface เมื่อสัมผัสปุ่มนี้และเครื่องจะสั่น ซึ่งผมยังไม่สามารถหาการทำงานอื่นใดมาทำให้เครื่องสั่นได้อีกเลย เป็นการใส่ความสามารถในการสั่นเครื่องเพื่อปุ่มสัมผัสนี้เพียงอย่างเดียว ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกเจ้าพยายามลดต้นทุนการเต็มที่ นี่เป็นการเลือกใส่อุปกรณ์และใช้งานได้คุ้มมาก
)
เราสามารถติดตั้งโปรแกรมที่ต้องใช้การติดตั้งได้ แต่จะไม่มีรายชื่อโปรแกรมขึ้น ถ้าต้องการถอนโปรแกรม ต้องเข้าไปเรียกตัวถอนการติดตั้งเองจากโฟลเดอร์ที่ติดตั้งลงไป
ตัวโฟลเดอร์ที่ใช้เก็บโปรแกรมที่ติดตั้งและไฟล์ระบบต่าง ๆ ถูกแยกไว้ในโฟลเดอร์ที่ติดตั้งโปรแกรม Win86emu รวมถึง registry ทั้งหมดของโปรแกรมที่รันผ่านตัว Win86emu จะถูกแยกไปเก็บไว้ต่างหาก จึงค่อนข้างแน่ใจได้ว่าเราจะจัดการกับไฟล์หรือ registry ที่ตกค้างอยู่ได้โดยสะดวกและไม่มีผลกับตัวระบบ Windows RT
อีกการทดสอบหนึ่งที่ผมทำเพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพของตัว Win86emu คือจับเวลาการบีบอัดไฟล์ win86emu 0.04 beta.msi ขนาด 15.6 MB (รุ่น 0.05 ออกก่อนผมเขียนบทความนี้ไม่กี่ชั่วโมง ผมเองก็ยังไม่ได้อัพเดต) เปรียบเทียบกันระหว่าง 7-Zip 9.22 รุ่นปกติ (รุ่น ๓๒ บิตสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไป) ที่รันผ่าน Win86emu กับ 7-Zip 9.22 รุ่นที่คอมไพล์สำหรับ ARM โดยเฉพาะที่รันแบบเนทีฟ ด้วยการตั้งค่าการบีบอัดแบบ Ultra, LZMA2 และใช้งานทั้ง 4 คอร์ของ NVIDIA Tegra3 บน Microsoft Surface RT ได้ผลดังนี้
- ขนาดไฟล์ผลลัพธ์ เท่ากันที่ 13.5 MB
- รุ่นปกติ ใช้เวลาบีบอัดไฟล์ทั้งสิ้น ๓ นาที ๐ วินาที
- รุ่น ARM ใช้เวลาบีบอัดไฟล์ทั้งสิ้น ๑๖ วินาที
แม้ประสิทธิภาพจะต่างกันมากเกือบ ๑๒ เท่า แต่เมื่อคิดถึงข้อดีที่ว่า "มัน รัน ได้" ทำให้ผลลัพธ์อยู่ในระดับยอมรับได้ทันที
ที่มา: XDA Developers
Comments
ไม่คิดจะเคาะย่อหน้าสักหน่อยเหรอ
O_o ที่นี่ผมก็ยังไม่เห็นใครเคาะย่อหน้าเลยนะครับ ปกติผมอาศัยยัดรูปคั่นเอาให้มันดูไม่ต่อเนื่องยาว ๆ ขนาดนี้ แต่ผมไม่รู้จะเอารูปอะไรมาใส่ดีให้มันเห็นความต่างจาก Windows 8 ปกติ
เดี๋ยวจะลองหามาคั่นสักภาพนึงครับ
อานิสงค์ << อานิสงส์
7Zip, 7-zip << 7-Zip
Start screen << Start Screen
Open folder << ไม่น่าใช่คำเฉพาะ ไม่ต้องขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่
เป็นชื่อคน ขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
เป็นชื่อผู้ใช้ใน XDA Developers น่ะครับ
อ้าว ไม่ได้ไปดูต้นทาง เลยไม่รู้ว่าเป็นชื่อ account ^^'
ขอโทษทีครับ
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
ผมก็ไม่ได้ทำลิงค์ไว้ ไม่แปลกที่จะไม่เห็นล่ะครับ ผมใส่ลิงค์เลยดีกว่า
แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ
แต่ตัว Open Folder (Ctrl+D) มันเป็นคำสั่งในโปรแกรม ผมเลยไม่แน่ใจว่าจะพิมพ์ตามโปรแกรมหรือยังไงดีน่ะครับ (แต่ก็แก้แล้ว)
มี Opensource ที่ใช้อยู่ด้วยแฮะ
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
โชคดีมากครับ (- -)d
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
ยินดีครับ แต่จริง ๆ นี่เป็นหนึ่งในบทความทื่อ ๆ ของผมเลย (มีออกมาเป็นระยะ ๆ) ไม่มีมุก ไม่ค่อยมีภาพ เขียนเรื่อยเปื่อยเป็นบทความหนังสือพิมพ์เลย (T^T)
สิทธิบัตรยังไม่ผ่าน เลยกั้กใว้ก่อนเหรอครับ XD
ว่ากันตรง ๆ คือจดไม่เป็นน่ะครับ 555
ชอบเหมือนกัน ครับ ได้ความรู้ดี :)
เขียนอะไรที่ดูเข้าใจยาก ให้เข้าใจง่ายดีครับ อ่านไม่สะดุดเลย
we can build a more peaceful.
ขอบคุณครับ (>_<)
ตรงคำว่า Jailbreak น่าจะมีลิงค์ไปถึงบทความนั้นๆนะครับ จะได้หาอ่านได้ต่อเนื่อง
เพิ่มแล้วครับ
ว่าแต่บน Windows 8 ก็เรียกว่า เจลเบรก เหรอครับ
we can build a more peaceful.
ใช่ครับ แม้ว่าจริง ๆ แล้วอุปกรณ์ที่ทำ...แล้วจะมีการเรียกสองชื่อ คือ jailbreak device และ hacked device แต่ผมเรียกตามชื่อของ RT Jailbreak Tool ครับ เพราะ hack นี่มันสื่อความหมายกว้างเกินไปหน่อยจนไม่รู้ว่าทำอะไรกับอุปกรณ์
รุ่น ARM ใช้เวลา 16 วินาทีหรือ 16 นาทีครับ อ่านแล้วงง สรุปว่ามันไวกว่าเหรอ
รุ่น ARM คือใช้งานผ่าน native ARM โดยตรงครับส่วนรุ่นปกติคือการใช้งานผ่าน x86 โดยการ emulate ผ่าน Win86emu
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
16 วินาที เร็วกว่าถูกต้องแล้วครับ
จากที่ผมอธิบายไว้ด้านบนคือการทดสอบทั้งรุ่นปกติและรุ่น ARM ต่างก็รันบน CPU Nvidia Tegra3 ซึ่งเป็น ARM เหมือนกัน ต่างกันตรงที่รุ่น ARM จะรันแบบ Native ขณะที่รุ่นปกติ จะรันผ่านตัว Win86emu ทำให้มี overhead ของชุดคำสั่งซ้อนเข้ามาและช้ากว่าครับ
ผมยังไม่ได้ศึกษาการทำงานโดยละเอียดนัก จึงยังไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วเครื่องมือนี้ใช้การ emulate ตรงส่วนใดบ้าง ทำไมบางส่วนถึงช้าแต่บางส่วนก็ทำงานได้เร็วเป็นปกติ แต่ทราบมาว่าหลังจากพัฒนามาได้ระยะหนึ่งได้มีการนำส่วนของโครงการ ReactOS ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับ Windows XP และสามารถ run binary ของ Windows x86 ได้ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่านำมาใช้เฉพาะไลบรารีหรือว่ามีส่วนอื่นเข้ามาอีก
ตัดหน้าไป หนูขอโทด > <"
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ช่วยกันตอบแหละครับดีแล้ว (T^T) ผมมัวแต่หาชื่อ ReactOS อยู่เลยช้า จำชื่อไม่ได้สักที
อ่อครับ ตอนแรกเข้าใจว่ารุ่นปกติเป็น Cpu x86 เพราะเห็นอีกอันเป็นรุ่น ARM เลยงงๆนิดหน่อยน่ะครับ ><